“เจว็ด” หรือ พระภูมิ รูปเคารพแทนเทพแบบไทย ๆ

เจว็ด เทวดาถือพระขรรค์ พระภูมิ
เจว็ด เทวดาถือพระขรรค์ (ภาพโดย Anandajoti Bhikkhu จาก Flickr ใน Wikimedia Commons สิทธิ์การใช้งาน CC BY 2.0) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

คําว่า เจว็ด แปลความตามพจนานุกรมว่า รูปเทวดาถือพระขรรค์ หรือผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นใหญ่แต่ไร้อำนาจ หากเนื้อแท้ตามที่ชาวบ้านเข้าใจย่อมหมายถึงสิ่งอันพึงมีความศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานไว้ใน ศาลพระภูมิ

เจว็ดหรือแผ่นรูปของ “พระภูมิ” นับเป็นส่วนประกอบสำคัญของศาลพระภูมิ ปกติทั่วไปตัวเจว็ดจะทำจากไม้หรือปั้นด้วยดินคล้ายแผ่นเสมา โดยรูปจําหลักคล้ายเทวดา มือขวาถือพระขรรค์ ส่วนมือซ้ายถือสมุด เช่นนี้เป็นคติแบบเก่าที่ว่าสมุดคือตัวแทนแห่งปัญญา ขยายความถึงช่องทางการหาเลี้ยงชีพให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต

แต่มาในปัจจุบันความรู้เป็นเรื่องรอง ส่วนเรื่องของเงินทองกลายเป็นเรื่องหลัก ดังนั้นเจว็ดในยุคนี้มือซ้ายจึงถือถุงเงิน อันเป็นสิ่งชี้สะท้อนถึงความมั่งคั่งในชีวิตของเจ้าของบ้าน

เรื่องเจว็ดในหลายตำราส่วนใหญ่ จะบอกว่าเจว็ดที่ยังไม่ผ่านพิธีกรรมจะยังคงเป็นแค่เจว็ดหรือแผ่นไม้แผ่นดินรูปเสมาธรรมดา ๆ ไม่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แต่อย่างใด ต่อเมื่อผ่านกระบวนการประกอบพิธีกรรมบรรจุธาตุ 6 บรรจุพุทธคุณ เทวคุณเข้าไปแล้วนั่นแหละ เจว็ดจะกลายเป็นพระภูมิที่เปี่ยมด้วยฤทธานุภาพ

เจว็ด เทวดาถือพระขรรค์ พระภูมิ
พระภูมิ (Guardian Spirit) หรือเจว็ด ศิลปะรัตนโกสินทร์ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพโดย Anandajoti Bhikkhu จาก Flickr ใน Wikimedia Commons สิทธิ์การใช้งาน CC BY 2.0)

นอกจากนี้ในหลายตำราที่เขียนถึงศาลพระภูมิมักระบุไว้ค่อนข้างจะตรงกันว่า การตั้งเจว็ดไว้ในศาลห้ามไม่ให้หันหน้าไปในทิศเดียวกับทางเข้าบ้าน โดยเชื่อว่าจะเป็นการเหยียบย่ำศีรษะพระภูมิ ถ้าฝืนข้อห้ามเช่นนี้จะมีโทษมากกว่ามีคุณ

เจว็ดที่เปรียบเสมือนรูปเคารพแทนเทพแบบไทย ๆ นี้ ในอดีตจะประดิดประดอยอย่างวิจิตรงดงามยิ่ง แต่เจว็ดในยุคนี้แทบไม่มีศิลปะคล้ายเดิม ทำให้คลายความขลังลงไปเยอะ อีกประการของเดิมจะพบเห็นเจว็ดได้แต่จำเพาะในศาลพระภูมิ ไม่มีในศาลผี… แต่เดี๋ยวนี้มีบ้างแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจาก “เจว็ด รูปเคาระแทนเทพแบบไทย ๆ” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2539 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2566