เผยแพร่ |
---|
คำว่า “ตี่จู้” เป็นเสียงจีนแต้จิ๋ว (“ตี้จู่” เสียงจีนกลาง) หมายถึง “เจ้าที่” บ้างเติมคำว่า “เอี๊ย” (เหย่) ซึ่งหมายถึง “เทพ” ต่อท้ายเป็น “ตี่จูเอี๊ย” (“ตี้จู๋เหย่” เสียงจีนกลาง) หมายถึง “เทพเจ้าที่” เจาะจงว่าเป็นเทพเจ้าที่บ้านโดยเฉพาะ
ปัจจุบันในบ้านชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนมากมักมีศาลตี่จู้เล็ก ๆ วางอยู่บนพื้น แต่บ้านชาวจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ค่อยมี มีมากในไต้หวันและถิ่นชาวจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ตี่จู้ (ตี้จู่) หรือ ตี่จูเอี๊ย (ตี้จู๋เหย่) คือเทพผู้คุ้มครองบ้านของชาวจีนโพ้นทะเล
ตี่จู้มาจากไหน? ในบทความ “ตี่จู้ เทพผู้คุ้มครองบ้านคนจีนโพ้นทะเล” เขียนโดย อ. ถาวร สิกขโกศล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2562 อ. ถาวร ได้อธิบายไว้ว่า ตี่จู้มีที่มาจากการบูชาเทพเจ้าแห่งที่ดินมาตั้งแต่สมัยโบราณ
เทพเจ้าแห่งดินของจีนโบราณมี 3 ระดับ คือ แผ่นดินทั้งหมดเรียก “โฮ่วถู่”, ระดับชุมชนเดิมเรียก “เส้อ” ต่อมาเรียกถู่ตี้หรือถู่ตี้กง และระดับบ้านเรือนเรียก “ตี่จู้”
ความเป็นมาของตี่จู้นั้น อ. ถาวร สิกขโกศล ให้รายละเอียดไว้ว่า “ตามความเชื่อเก่าในบ้านคนจีนมีเทพประจำอยู่ 5 องค์ที่ประตูบ้าน ประตูห้อง เตาไฟ บ่อน้ำ และห้องโถงกลาง ต่อมาเทพแห่งประตูห้องเลือนหายไป จึงเอาเทพแห่งส้วมเข้ามาแทน เป็นเทพผู้ใกล้ชิดคนจีนในอดีต เทพทั้ง 5 องค์นี้ 4 องค์มีหน้าที่ประจำตามตำแหน่งที่ตนอยู่คือ ประตูบ้าน ประตูห้อง (ภายหลังเป็นส้วม) เตาไฟ บ่อน้ำ ส่วนที่ห้องโถงกลางเป็นเจ้าที่บ้านทั้งหมด เป็นประธานของเทพในบ้านทุกองค์
คนจีนมีประเพณีไหว้เทพแห่งที่ดินอันเป็นถิ่นฐานของตนมาแต่โบราณ เจ้าที่บ้านเรียกว่าตี้จู่ สถิตอยู่ที่ห้องโถงกลาง (จงลิ่ว) จึงเซ่นไหว้ท่านที่ตรงนั้น เจ้าที่ของชุมชนเรียกว่า เส้อ มีศาลท่านเป็นศูนย์กลางชุมชน… จัดพิธีเซ่นไหว้ร่วมกันที่นั่น ดังมีกล่าวไว้คัมภีร์หลี่จี้ ว่า ‘โอรสสวรรค์ (กษัตริย์) สอนให้ราษฎรตอบแทนพระคุณเทพแห่งแผ่นดินด้วยสิ่งที่ดีงาม ในบ้านไหว้ท่านที่ห้องโถงกลาง (จงลิ่ว) ในชุมชนไหว้ท่านที่ศาลเส้อ (พระเสื้อบ้านเสื้อเมือง)’
ตามนัยที่กล่าวไว้ในคัมภีร์หลี่จี้… ตี่จู้ (เจ้าที่บ้าน) และเส้อ (เจ้าที่ชุมชน) ล้วนเป็นภาคส่วนของเทพแห่งแผ่นดินองค์เดียวกัน แต่ต่อมาในยุคราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ. 337-763) แยกเป็นคนละองค์ มีสถานะต่างกัน เทพแห่งแผ่นดินทั้งหมดเรียกว่าโฮ่วถู่ เทพแห่งแผ่นดินประจำชุมชนเดิมทีเรียกว่าเส้อ ภายหลังเรียกถู่ตี่กง มีหลายองค์แยกย่อยไปตามถิ่น คล้ายกำนันผู้ใหญ่บ้าน เทพแห่งที่ดินอันเป็นที่ตั้งบ้านเรือนแต่ละหลังเรียกตี่จู้… ตี่จู้ทุกองค์อยู่ใต้บังคับบัญชาของถู่ตี้กงหรือเส้อประจำชุมชนนั้น เส้อหรือถู่ตี้ทุกองค์ขึ้นกับโฮ่วถู่เทพแห่งแผ่นดินทั้งหมด”
เมื่อเส้อหรือถู่ตี้กง และตี่จู้แยกองค์ย่อยออกไปจึงมีตำนานที่มาของท่านต่างกันไป เส้อหรือถู่ตี้กงของแต่ละถิ่นแต่ละเมืองมาจากบุคคลในอดีตผู้มีคุณูปการต่อถิ่นนั้น พอล่วงลับไปแล้วได้รับการเซ่นไหว้เป็นเทพารักษ์ของท้องถิ่น ที่มาของตี่จู้นั้น อ. ถาวร สิกขโกศล สรุปแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ ตี่จู้มาจากเทพเจ้าแห่งที่ดินหรือถู่ตี้กง หรือบริวารของท่าน กับมาจากเทพเจ้าองค์อื่นที่เป็นเจ้าของบ้านหรือท้องถิ่นนั้นมาก่อน
ฉะนั้น หนังสือบางเล่มจึงกล่าวว่า ตี่จู้ก็คือโถวตี่กงเทพเจ้าแห่งที่ดินในบ้าน บางเล่มก็กล่าวว่า ตี่จู้คือผีผู้เป็นเจ้าของดั้งเดิมของบ้านหรือท้องถิ่นนั้น
แต่หากย้อนประวัติความเป็นมาแต่โบราณจะเห็นได้ว่าตี่จู้มีที่มาดั้งเดิมจากเทพเจ้าแห่งที่ดินประจำบ้าน ซึ่งสถิตอยู่ที่ห้องโถงกลาง (จงลิ่ว) ในยุคโบราณ ภายหลังจึงเกิดคติถือเอาผีเจ้าของบ้านคนแรกและเทพเจ้าของท้องถิ่นเป็นเทพเจ้าผู้คุ้มครองบ้าน แต่เรียกชื่อเหมือนกันว่า ตี่จู้ หมายถึง เจ้าที่บ้าน ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้างครอบคลุมที่มาของตี่จู้ทุกประเภท ไม่ว่าจะมาจากเทพองค์ใดก็เรียกว่าตี่จู้ผู้คุ้มครองบ้านเหมือนกัน
ในสมัยโบราณทุกบ้านไหว้ตี่จู้ที่ห้องโถงกลาง (จงลิ่ว) เหมือนกัน แต่ต่อมาคติการบูชาตี่จู้เสื่อมโทรมไป เพราะ 1. เทพเจ้าโบราณลดความสำคัญลง และ 2. เกิดคตินิยมบูชาวิญญาณบรรพชนเป็นผู้คุ้มครองบ้านและลูกหลานแทนเทพเจ้าที่บ้าน
ความเชื่อเรื่องตี่จู้แพร่ไปในท้องถิ่นของชาวจีนโพ้นทะเลและชาติที่รับวัฒนธรรมจีนด้วย ในประเทศไทย บ้านชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนมากจะมีหิ้งเจ้าอยู่สองหิ้ง คือหิ้งเจ้ารวม ซึ่งมักเรียกว่าหิ้งปุนเถ่ากง อยู่สูงจากพื้น และหิ้งตี่จู้ วางกับพื้น
อ. ถาวร สิกขโกศล กล่าวว่า “เหตุที่ในเมืองไทยนิยมมีตี่จู้ในบ้าน เพราะจีนโพ้นทะเลส่วนมากเดิมไม่คิดตั้งถิ่นฐานในต่างแดน บรรพชนล่วงลับก็มักทำป้ายสถิตวิญญาณกลับไปไว้ที่บ้านเมืองจีน อีกทั้งบ้านที่อยู่ในช่วงแรกก็ไม่ใช่บ้านตัวเอง ต้องอาศัยหรือเช่าเขาอยู่ จึงต้องมีตี่จู้อยู่ในบ้าน ภายหลังแม้มีบ้านของตัวเอง แต่เมืองไทยก็ไม่ใช่แผ่นดินของตน จึงนิยมมีตี่จู้ในบ้าน เป็นการแสดงความเคารพแผ่นดินที่ตนมาพึ่งพาอาศัย ถึงชั้นลูกหลานไม่ทราบความนัยก็ยังคงเซ่นไหว้สืบต่อกันมา”
“ตี่จู้” หรือ “เจ้าที่” เทียบได้กับพระภูมิประจำบ้านของชาวไทย ฉะนั้น บางคนจึงเรียกเทพเจ้าองค์นี้ว่า “พระภูมิเจ้าที่”
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564