
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“เมืองตักศิลา” (Taxila) ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่และเจริญรุ่งเรืองอย่างมากของโลกในอดีตกาล เพราะเป็นศูนย์กลางการศึกษาศิลปะและวิทยาการแขนงต่างๆ เป็นแหล่งรวมเหล่าผู้รู้และนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ แม้เวลาจะผ่านไปนับพันๆ ปี แต่ทุกวันนี้ เมืองตักศิลาก็ยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะยังคงปรากฏโบราณสถานและศิลปกรรมทรงคุณค่ามากมาย หนึ่งในนั้นคือ “พระพุทธเจ้าแห่งการรักษา” หรือ “Healing Buddha” ที่ไม่เพียงงดงามด้วยรูปแบบทางศิลปะเก่าแก่ แต่ยังมีตำนานเล่าขานถึงการช่วยเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วยให้ดีขึ้น

“Healing Buddha” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ณ อารามโจวเลียน
เมืองโบราณตักศิลา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 45 กิโลเมตร ถือเป็นเมืองมหาวิทยาลัยอันยิ่งใหญ่ของโลกที่มีมาก่อนพุทธกาล ปัจจุบันยังมีร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของเมืองให้เห็นจากซากสถูปเจดีย์ วัดวาอารามในศิลปะคันธาระ ที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกรีกและโรมัน
เมืองนี้เป็นที่ตั้งของ “โจวเลียน” (Jaulian) อารามสำคัญที่มีอายุกว่า 2,000 ปี ชื่อของอารามแปลได้ว่า “ที่ประทับของนักบุญ” สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 อารามตั้งอยู่บนเนินเขาสูงจากพื้นดินโดยรอบราว 100 เมตร ประกอบด้วยเจดีย์และวิหาร ได้รับการขุดแต่งใน ค.ศ. 1916-1917 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO เมื่อ ค.ศ. 1980
ภายในอารามโจวเลียน มีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่ง คือ “Healing Buddha” ที่ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็มักจะมากราบไหว้ขอพรพระพุทธรูปองค์นี้เสมอ ด้วยเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยทั้งหลายจะบรรเทาเบาบางลงไปได้ หลังจากใช้นิ้วสอดเข้าไปในรูพระนาภี (สะดือ)
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งอารามโจวเลียน ประดิษฐานบนผนังด้านเหนือของฐานเจดีย์ประธานทางด้านซ้ายของบันได ลานรอบเจดีย์ประธานรายล้อมด้วยเจดีย์ราย ที่ส่วนฐานมีพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ปูนปั้นอันสวยงามประทับอยู่ในซุ้มบนฐานป็นชั้นๆ รูปแบบศิลปะคันธาระ

ป้ายข้อมูลที่ติดไว้เหนือองค์พระพุทธรูประบุว่า
“พระพุทธรูปประทับนั่ง มีรูกลมตรงพระนาภี ปรากฎจารึกอักษรขโรษฐี ที่ด้านล่างส่วนฐานว่า ‘เป็นของอุทิศโดยหนึ่งใน ‘พุทธมิตร’ ผู้มีความยินดีในธรรมะ’ [พุทธมิตร สันนิษฐานว่าเป็นพระธุดงค์ผู้มั่งมี ผู้มีความยินดีในธรรมะ] รูที่พระนาภีมีไว้สำหรับให้ผู้มาขอพรวางนิ้วไว้เมื่ออธิษฐาน เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
พระพุทธเจ้าแห่งการรักษาได้รับการบูชาอย่างกว้างขวางในพม่า ทิเบต จีน และญี่ปุ่น ตามความเชื่อที่แพร่หลายในประเทศเหล่านี้ โรคบางชนิดสามารถรักษาให้หายได้เพียงสัมผัสพระพุทธรูป หรือเรียกพระนามของพระองค์
การค้นพบรูปพระพุทธเจ้าแห่งการรักษาที่โจเลียน บ่งชี้ว่า ลัทธินี้มีต้นกำเนิดจากคันธาระเมื่อราวศตวรรษที่ 3-4 หรืออาจก่อนหน้านั้น และแพร่กระจายไปทั่วโลกโดยพุทธศาสนิกชนในเวลาต่อมา”
ความศักดิ์สิทธิ์ของ “Healing Buddha” ขจรขจายไปทั่วประเทศ เลื่องลือโด่งดัง ถึงขั้นที่หนังสือพิมพ์ Dawn ของปากีสถาน เคยลงบทสัมภาษณ์หญิงชาวจีนที่อาศัยอยู่ในกรุงอิสลามาบัด ผู้ศรัทธาพระพุทธรูปองค์นี้ว่า
“ฉันมาที่นี่ทุกเดือนเพื่อสวดมนต์ โดยเอานิ้วชี้สอดเข้าไปในรูพระนาภีของพระพุทธรูป และอาการเจ็บป่วยทางจิตใจและร่างกายของฉันก็หายเป็นปกติ โดยไม่ต้องทานยาใดๆ”
จะเห็นได้ว่า มรดกวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา ศาสนสถานอายุนับพันปีในปากีสถาน ที่ได้รับการดูแลอย่างดี โดยเฉพาะ “พระพุทธเจ้าแห่งการรักษา” หรือ “Healing Buddha” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่อารามโจวเลียนแห่งเมืองโบราณตักศิลา ถือได้ว่าเป็น “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา” พระนามพระพุทธเจ้าบรมครูแห่งโอสถ ผู้คุ้มครองรักษามนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ที่เกิดจากโรคทางกาย และทางใจ ที่สักครั้งหนึ่งในชีวิตต้องได้มาสัมผัสตั้งจิตอธิษฐานขอพร นับเป็นความศรัทธาที่เชื่อมโยงพุทธศาสนิกชนทั่วโลกเข้าด้วยกัน
เยือน “ปากีสถาน” ดินแดนแห่งอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ พร้อมเก็บเกี่ยวความประทับใจจากการเดินทางอย่างเต็มอิ่มในทริป “ฮัชช่า ปากี! THE CHARMING PAKISTAN” (7 วัน 5 คืน) โดย “ทัวร์เอื้องหลวง” การบินไทย วันที่ 8-14 พฤศจิกายน 2567 และวันที่ 13-19 ธันวาคม 2567
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.royalorchidholidays.com สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ อีเมล: [email protected] โทรศัพท์: 02-545-3252 หรือ 095-987-1929 LINE: @roh.tg
อ่านเพิ่มเติม :
- พระพุทธรูปชุดแรกในโลก ศิลปะคันธาระ ทำไมหน้าตาเป็น “ฝรั่ง”
- “พระพุทธรูปสุลตานคัญช์” พระพุทธรูปโลหะศิลปะคุปตะ ใหญ่ที่สุดและมีองค์เดียวในโลก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
จิรัสสา คชาชีวะ. “ปากีสถาน แหล่งอารยธรรมทางพุทธศาสนาที่ถูกลืม” ดำรงวิชาการ
Buddhist practice attracts patients seeking drug-free cure เผยแพร่ใน Dawn วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2023
Buddhust Travel. Jaulian Buddhist Stupa and Monastery.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ตุลาคม 2567