ข้อมูลภายในกำแพงกรุงธนฯ จากแผนที่จารชนสงครามของพม่า อายุกว่า 200 ปี

แผนที่ กรุงธนบุรี โดย จารชน ชาวพม่า
ส่วนหนึ่งของแผนที่กรุงธนบุรี ฝีมือพม่า แผนที่ฉบับนี้ คุณนิรมล เมธีสุวกุล ได้รับอนุญาตจากนักวิชาการชาวพม่า Prof. Muang Muang Tin ให้ถ่ายสำเนาไว้ เป็นตัวเมืองธนบุรีที่เขียนลงบนแผ่นกระดาษขนาดราว 3 x 6 ฟุต ลงด้วยสีฝุ่น

“แผนที่โบราณ” ซึ่งเป็นหลักฐานฝ่ายพม่าอยู่ชิ้นหนึ่ง แสดงข้อมูลเกี่ยวกับกรุงธนบุรีและเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) อย่างละเอียด เชื่อว่าเป็นฝีมือของ “จารชน” พม่าที่แฝงตัวเข้ามาเก็บข้อมูลกรุงธนบุรีในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ไทย หลังผ่านห้วงเวลาอันมืดมนจากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา

แผนที่ กรุงธนบุรี แผนที่โบราณ
จุดสำคัญในแผนที่กรุงธนบุรี
๑. เขตพระราชฐานชั้นใน หรือวังหลวง
๒. บ้านพระยาจักรี
๓. วังลูกเจ้าเมืองบางกอก
๔. ท่าขึ้นวัง
๕. ประตูถือน้ำพิพัฒน์สัตยา, น้ำสาบาน
๖. ท่าข้าวเปลือก
๗. ป้อมปืน
๘. โรงช้างสำคัญ
๙. บ้านหัวหน้าชาวจีน (พระยาราชาเศรษฐี)
๑๐. บริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติ (มีป้อมค่ายทหาร)

แผนที่ดังกล่าวกว้าง 3 ฟุต ยาว 13 ฟุต แสดงเมืองขนาดย่อมที่มีแม่น้ำสายใหญ่ตัดผ่านเป็นแนวตรง ปรากฏเวียงวังที่พนักของพระเจ้าแผ่นดินสยามอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำ มีแนวกำแพงล้อมรอบชัดเจน และมีปืนใหญ่ประจำการจุดต่าง ๆ ทั้งหน้าและหลัง รวมถึงเรือนแพ ชุมชนบ้านเรือน และตำแหน่งค่ายทหาร 

รายละเอียดเหล่านี้จึงชวนให้วิเคราะห์ได้ว่า นี่คือแผนที่แสดงภูมิสถานสำคัญของเมืองบางกอกและกรุงธนบุรี เพื่อประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์สงคราม หรือเป็น “แผนที่จารชนสงคราม” นั่นเอง

ในกำแพงวัง “กรุงธนบุรี”

ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าศึกษา ได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลแผนที่ฉบับดังกล่าว ซึ่งสิ่งแรกที่สังเกตเห็นได้ทันทีคือ “วังกรุงธนบุรี” ณ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้นถูกขนาบด้วยทางน้ำ 4 สาย โดยทางน้ำใหญ่ที่ไหลผ่านด้านทิศตะวันออกคือแม่น้ำเจ้าพระยา

ด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นท้ายวังมีทางน้ำพร้อมคำอธิบายว่า “เป็นแนวคลองที่ตัดสู่ทิศเหนือของเมือง ด้านตะวันตกของเมืองเป็นสวนพลู สวนมะพร้าว และสวนหมาก” และมีการระบุพิกัดอู่เก็บเรือหรือโรงเรือหลวง รวมถึงแนวคลองที่ตัดสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งทิศเหนือ-ใต้ ทำให้มีสภาพเป็นเกาะ

วังธนบุรีซึ่งมีแนวกำแพงล้อมรอบนั้นประกอบด้วยประตูทั้งสิ้น 21 ประตู ทิศใต้มีประตูทางเข้า 2 ประตู ที่สำคัญคือ นอกกำแพงวังมีปืนใหญ่ตั้งประจำการอยู่ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ส่วนนี้มีแนวป้องกันหนาแน่น

ส่วนทิศเหนือของพระนครมีประตูทางเข้า 3 ประตู นอกกำแพงวางปืนใหญ่ไว้เช่นกัน แต่ไม่หนาแน่นเท่าด้านทิศใต้ ด้านตะวันออกซึ่งติดแม่น้ำเจ้าพระยามีประตูทั้งสิ้น 8 ประตู และด้านตะวันตก 8 ประตูเช่นกัน

ความน่าสนใจคือ ประตูด้านทิศตะวันออกมีชื่อประตูกำกับไว้ด้วยทุกประตู เว้นอยู่ประตูเดียวที่ไม่สามารถอ่านได้แล้ว ส่วนใหญ่จะมี “ท่า” กำกับชื่อ หากเรียงลำดับจากประตูด้านใต้สุดขึ้นไปทางเหนือ ได้แก่ ประตูท่าเทียบเรือเจ้าเมืองบางกอก, ประตูถือน้ำสาบาน, ประตูท่าต้นโพธิ์, ท่าข้าวเปลือก, ท่าข้าวสาร, ท่าวัด และท่าปืนใหญ่

แผนที่ กรุงธนบุรี ฝีมือ ชาวพม่า
แผนที่กรุงธนบุรีฝีมือชาวพม่า

แผนที่จารชนสงครามพม่ายังเผยด้วยว่า วังธนบุรีของพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือสมเด็จพระเจ้าตากสิน มิได้คับแคบอย่างที่เข้าใจ แต่มีความกว้างขวางในระดับหนึ่ง มีป้อมยามรัดกุม ภายในกำแพงเมืองประกอบด้วยอาคารสถานที่สำคัญมากมาย เช่น โรงกษาปณ์  คลังแสงปืนใหญ่ โรงทำปืนใหญ่ บ้านช่างทอง โรงทำทอง พระคลังหลวง บ้านเจ้าพระยาพระคลัง ที่ตั้งกองกำลังระวังรักษา โรงเก็บช้างสำคัญ พระอารามหลวง และยุ้งฉางเก็บข้าวสาร-ข้าวเปลือกอีกถึง 9 หลัง

ทั้งยังมีสถานที่สำคัญอีก 2 แห่ง ที่ถูกระบุถึงเป็นพิเศษ นั่นคือ “เจดีย์เก็บพระพุทธรูป” สำหรับพิธีถือน้ำสาบาน ซึ่งตั้งอยู่หลังประตูถือน้ำสาบาน และ “บ้านพระยาจักรี” ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางวังธนบุรี

สถานที่ซึ่งระบุว่าเป็นเจดีย์หรืออาคารเก็บพระพุทธรูปในการทำพิธีถือน้ำสาบานนั้น เป็นการถอดจากอรรถาธิบายภาษาพม่าว่า เต๊ะสาตายพะยา ซึ่ง อ.สุเนตร ชี้ว่า พระพุทธรูปองค์ดังกล่าว ไม่น่าเป็นอื่นไปได้นอกจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ “พระแก้วมรกต”

ส่วนบ้านพระยาจักรี ซึ่งภายหลังคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1 นั้น นับว่ามีความสำคัญทั้งในเชิงความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์วังธนบุรี และช่วยกำหนดอายุของหลักฐานชิ้นนี้ด้วย คือตรงกับช่วงระหว่างยุคสมเด็จพระเจ้าตากสินถึงยุคราชวงศ์จักรี ก่อนที่รัชกาลที่ 1 จะย้ายพระบรมมหาราชวังมายังฝั่งกรุงเทพฯ หรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะที่ประทับเดิมของพระองค์ครั้งรั้งตำแหน่งเจ้าพระยาจักรียังตั้งอยู่ฝั่งธนบุรีนั่นเอง

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๘๗๕ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๘

แผนที่โบราณชิ้นนี้ยังสะท้อนลักษณะสำคัญอีกประการของกรุงธนบุรีและเมืองบางกอก นั่นคือความหลากหลายของกลุ่มประชากรที่ตั้งชุมชนอยู่ทั้งสองฝั่งน้ำ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ความรู้ใหม่ แต่ก็ถือเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่ช่วยยืนยันประเด็นนี้ให้หนักแน่นยิ่งขึ้นได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สุเนตร ชุติธรานนท์, ศ. ดร. (2561). พม่ารบไทย ว่าด้วยสงครามระหว่างไทยกับพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ตุลาคม 2567