ขอบเขต “ธนบุรี” เมื่อก่อนกินพื้นที่ถึงไหน?

วัดประยุรวงศาวาส แม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธน ธนบุรี จังหวัดธนบุรี
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายบริเวณ วัดประยุรวงศาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี นิวาสสถานของสกุลบุนนาคในสมัยรัชกาลที่ 5

ปัจจุบัน “ฝั่งธน” หรือ “ธนบุรี” หมายถึงกรุงเทพมหานครด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบไปด้วย 15 เขต คือ ธนบุรี บางกอกใหญ่ คลองสาน ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางขุนเทียน ภาษีเจริญ หนองแขม ราษฎร์บูรณะ บางพลัด จอมทอง บางแค ทวีวัฒนา ทุ่งครุ และบางบอน แต่เมื่อก่อนธนบุรีคือ “จังหวัดธนบุรี”

แล้วเมื่อก่อน ขอบเขตของ “จังหวัดธนบุรี” กินพื้นที่ถึงไหน?

Advertisement

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “โบราณคดีกรุงธนบุรี” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5-7) มีการบริหารการปกครองด้วยระบบมณฑลเทศาภิบาล

ขณะนั้น มณฑลกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางภาคกลางตอนล่าง มีมณฑลสำคัญล้อมรอบ 3 ด้าน ได้แก่ มณฑลอยุธยาทางทิศเหนือ มณฑลปราจีนบุรีทางทิศตะวันออก และมณฑลนครชัยศรีทางทิศตะวันตก ส่วนทางทิศใต้ติดทะเล โดยมีจังหวัดสมุทรปราการเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกรุงเทพฯ

การปกครองในระบบมณฑลกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วย 6 จังหวัด คือ จังหวัดพระนคร จังหวัดธนบุรี จังหวัดพระประแดง จังหวัดมีนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนนทบุรี

เฉพาะ จังหวัดธนบุรี แบ่งออกเป็น 2 แขวง โดยนับจากคลองบางหลวง คือนับจากตอนใต้ของคลองบางหลวงเป็นแขวงจังหวัดธนบุรีใต้ ส่วนทางตอนเหนือของคลองบางหลวงเป็นแขวงจังหวัดธนบุรีเหนือ รวมแล้วใน พ.ศ. 2474 มีประชากร 177,989 คน

กรรณิการ์ บอกอีกว่า ขอบเขตของจังหวัดธนบุรีประกอบไปด้วย อำเภอบางพลัด (อยู่ตอนเหนือสุดมีที่ว่าการอำเภอที่วัดอาวุธวิกสิตาราม ใกล้โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน) อำเภอบางกอกน้อย อำเภอบางกอกใหญ่ อำเภอคลองสาน อำเภอบุคคโล อำเภอบางยี่เรือ อำเภอตลิ่งชัน อำเภอภาษีเจริญและกิ่งหนองแขม อำเภอบางขุนเทียน

ขอบเขตธนบุรีทางตอนเหนือ สุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามบางเขน ส่วนธนบุรีทางตอนใต้ สุดที่ฝั่งเหนือของคลองบางปะแก้วหรือที่ดาวคะนอง ติดกับจังหวัดพระประแดง

“สังเกตได้ว่าในอดีตใช้แม่น้ำลำคลองเป็นตัวกำหนดขอบเขตการปกครอง ชื่อบ้าน ตำบล อำเภอล้วนมีความหมายเกี่ยวกับแม่น้ำลำคลองหรือภูมิศาสตร์แห่งสายน้ำ ส่วนจังหวัดพระประแดงแยกจากกรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรปราการ ไม่เหมือนกับในปัจจุบัน” กรรณิการ์ ระบุในหนังสือ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. โบราณคดีกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2567