กรุงธนบุรี หรือจะเป็น “ราชธานี” สำรอง? ทำไมพระเจ้าตากสินฯ ตั้งเป็นเมืองหลวง?

พระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ฉากหลัง เป็น ป้อม กรุงธนบุรี

ในบรรดาราชธานีไทยทั้งหลาย กรุงธนบุรี รับหน้าที่เป็น ราชธานี ที่อายุสั้นที่สุด เพียง 15 ปี ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ธนบุรีในปัจจุบันยังเหลือพื้นที่ที่เป็นสวนอยู่เป็นจำนวนมาก

ในอดีต ธนบุรี นับเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งนี้ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฝรั่งเศสจึงเล็งเป้าที่จะยึดธนบุรีให้ได้

ทำไมพระเจ้าตากจึงตั้งธนบุรีเป็นเมืองหลวง?

อาจารย์ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย ให้ความเห็นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี อาจจะได้ทรงตั้งพระทัยที่จะเอาธนบุรีเป็นเมืองหลวง ด้วยเหตุผลที่ว่า เมื่อครั้งที่เสด็จขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้น พระองค์เสด็จประพาสทอดพระเนตรทั่วพระนครเพื่อเป็นราชธานีสืบไป เพราะสภาพของปราสาทราชวังถูกเพลิงไหม้ แต่ไม่ทั้งหมด ที่สำคัญคือ คืนนั้นพระองค์ก็เสด็จเข้าประทับแรม ณ พระที่นั่งทรงปืน

การที่ทรงยึดเอาธนบุรีเป็นที่มั่นนั้น เบื้องแรกอาจจะทรงยึดเป็นการชั่วคราวเพื่อตั้งตัว แล้วรอให้ประเทศใหม่แข็งแรงก่อนจึงค่อยคิดหาชัยภูมิอื่นก็เป็นได้

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เคยตั้งข้อสังเกตในหนังสือ ‘การเมืองไทยสมัยธนบุรี’ ว่า

…นับว่าประหลาดอยู่หากพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนราชธานีมาอยู่ที่เมืองธนบุรีเป็นการถาวร แล้วตลอดรัชกาลไม่ได้สร้างราชมณเฑียรอันเป็นศูนย์กลางทางพิธีกรรมของการปกครองให้สง่างามอย่างใด

…อาจกล่าวได้ว่าตลอดรัชกาลไม่ปรากฏหลักฐานที่ชี้ชัดว่า ทรงมีพระราชดำริในการยกเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีถาวรเลย สภาพของธนบุรีที่เป็นเมืองอกแตกตลอดมาไม่ได้รับการแก้ไขดัดแปลงอย่างใด การดัดแปลงเมืองธนบุรีเท่าที่ปรากฏในหลักฐานดูเหมือนจะเกิดจากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่บีบบังคับทั้งสิ้น…

ทำไมพระองค์จึงเปลี่ยนพระทัยเรื่องฟื้นกรุงชั่วข้ามคืนไม่มีใครทราบ แต่แนวทางหนึ่งที่พอสันนิษฐานได้คือ พระองค์น่าจะคำนึงถึงด้านยุทธศาสตร์มากกว่า เพราะการรบยังต้องติดพันอีกมากทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร กรุงศรีอยุธยานั้นใหญ่โตเกินกว่าจะใช้เป็นที่มั่นเพื่อการศึก กำแพง ป้อม ค่ายก็เพิ่งถูกทำลายไปเกือบหมด ขณะเดียวกันฝ่ายศัตรูก็รู้จักทางหนีทีไล่ดีแล้ว จึงไม่เหมาะจะใช้เป็นราชธานี

ข้างฝ่ายประชาชนนั้นเล่า การได้เห็นสภาพบ้านของตนถูกทำลายเสียหายย่อมไม่มีกำลังใจจะทุ่มเทไปกับการสู้รบเพื่อปกป้องบ้านเมือง มากไปกว่าการพยายามบำรุงครอบครัวของตน

ป้อม เมือง ธนบุรี สมัย สมเด็จพระเพทราชา ราชธานี
แผนที่ป้อมเมืองธนบุรีสมัยสมเด็จพระเพทราชา นายทหารฝรั่งเศสที่รักษาป้อมได้ทำไว้เมื่อ พ.ศ. 2231

ณ ช่วงเวลาดังกล่าว กรุงธนบุรี จึงเหมาะแก่การเป็นราชธานี เพราะเป็นเกาะเหมือนกรุงศรีอยุธยา ทั้งพร้อมด้วยป้อมปราการที่แข็งแรงกว่าที่อื่น และการมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ระหว่างป้อมทั้งสองก็หาใช่สภาพเมืองอกแตกไม่ แต่ป้อมที่อยู่ตรงคุ้งน้ำทั้งสองฟากย่อมสามารถตัดการบุกของข้าศึกที่มาทางน้ำได้ดีกว่ามีป้อมเพียงด้านเดียว

นอกจากนี้ ธนบุรี มีลำคลองมากมายที่สามารถใช้เป็นทางหนีทีไล่ และส่งกำลังสนับสนุนทั้งอาวุธและเสบียง ขณะเดียวกันก็สะดวกในการติดต่อค้าขายทั้งในและนอกประเทศ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2560