
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ไม่ได้แค่ประดิษฐานที่วัดแจ้ง และวัดพระแก้ว เท่านั้น แต่ยังเคยประดิษฐานที่วัดโพธิ์มาก่อน
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญที่ได้อัญเชิญจากเวียงจันท์มาประดิษฐานยังกรุงธนบุรีในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยพระองค์โปรดให้สร้างโรงประดิษฐานพระแก้วไว้ ณ วัดอรุณราชวราราม หรือวัดแจ้ง
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้ย้ายราชธานี และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ

แต่ก่อนที่พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต จะมาประดิษฐานที่วัดพระแก้ว พระพุทธรูปหยกองค์นี้เคยประดิษฐานที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์มาก่อน
หลักฐานที่บันทึกถึงการประดิษฐานพระแก้วมรกตที่วัดโพธิ์ (เดิมเรียกวัดโพธาราม) อยู่ในเอกสารเพียงชิ้นเดียว นั่นคือ “สังคีติยวงศ์” ซึ่งเป็นตำนานการสังคายนาพระไตรปิฎกภาษาบาลี ที่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ แต่งขึ้นเมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม เมื่อ พ.ศ. 2332 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1
สังคีติยวงศ์ บันทึกว่า “รตนพุทฺธพิมฺพํ อาราเธตฺวา นาวาสงฺฆาเฏน อติสกฺ การปริปุณฺเณน โพธาราเมตํ ปติฏฺจฐาเปตฺวา ชยภูมึ วิจาเรตฺวา” แปลว่า “จึงให้อาราธนาพระพุทธพิมพ์แก้วปฏิมา ลงเรือขนานมา พร้อมด้วยสักการบูชายิ่งครบถ้วนทุกประการมาประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธาราม”
(หมายเหตุ “ฐ” จาก “ปติฏฺจฐาเปตฺวา” ต้นฉบับไม่มีเชิง)
สังคีติยวงศ์ ยังบันทึกต่อไปว่า เมื่อการก่อสร้างวัดพระแก้วแล้วเสร็จ จึงได้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตจากวัดโพธิ์มายังพระอุโบสถวัดพระแก้ว
แม้เอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นอื่น ๆ จะไม่บันทึกถึงการประดิษฐานพระแก้วมรกตที่วัดโพธิ์เลยแม้แต่ชิ้นเดียว แต่เอกสารที่บันทึกถึงการประดิษฐานพระแก้วมรกตล้วนบันทึกหรือชำระหลังจากปีที่แต่งสังคีติยวงศ์
นอกจากนี้ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ เมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม ในช่วงเวลานั้นท่านครองอยู่ที่วัดโพธิ์ ท่านจึงได้รับทราบเรื่องการประดิษฐานพระแก้วมรกตที่วัดโพธิ์อย่างแน่นอน และช่วงเวลาที่แต่งสังคีติยวงศ์ กับเหตุการณ์ดังกล่าวจึงไม่น่าจะห่างกันมาก
ดังนั้น สังคีติยวงศ์ จึงมีความน่าเชื่อถือสูงมากกว่าเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นอื่นเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้

สันนิษฐานว่า เมื่อการก่อสร้างวัดพระแก้วยังไม่แล้วเสร็จ รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ใช้วัดโพธิ์จัดพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และในครั้งนี้เองก็อาจได้ประดิษฐานพระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปประธานในพระราชพิธีนี้ด้วย
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต จึงเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดสำคัญทั้ง 3 แห่ง คือวัดแจ้ง วัดโพธิ์ และวัดพระแก้ว ตามลำดับ
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศานติ ภักดีคำ. (พฤศจิกายน, 2553). พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)? ข้อมูลที่ถูกหลงลืมใน “สังคีติยวงศ์” ใน, “ศิลปวัฒนธรรม”. ปีที่ 32 : ฉบับที่ 1.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2567