ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ตัวเมืองสุโขทัย” หรือพื้นที่ย่านใจกลางเมืองของสุโขทัย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมทางทิศตะวันออกของเมืองสุโขทัยเก่า (ปัจจุบัน คืออุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย) ราว 10 กิโลเมตร ซึ่งเคยเป็นชุมชนโบราณที่เรียกว่า “เมืองราชธานี” ถึงฤดูน้ำหลากน้ำท่วมประจำ แต่ทำไมตัวเมืองเก่าน้ำไม่ท่วม
ตัวเมืองเก่าจังหวัดสุโขทัย ที่น้ำไม่เคยท่วม
สมัยสุโขทัย น้ำไม่ท่วมเมืองสุโขทัยบริเวณ “ตัวเมืองเก่า” ทั้งที่ตัวเมืองตั้งอยู่ในตำแหน่งทางน้ำที่ไหลจากภูเขาด้านตะวันตกของเมือง หากจะมีน้ำท่วมปีนั้นก็คงจะฝนตกชุกมากจริง นอกจากนี้เมื่อถึงฤดูแล้ง ในเมืองเก่าก็ไม่ขาดแคลนน้ำ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ติดกับแม่น้ำใหญ่อย่างแม่น้ำยมเหมือนเมืองใหม่สุโขทัยในปัจจุบัน
เรื่องนี้คงต้องยกเครดิตให้กับวิธีการบริหารจัดการระบบชลประทานของผู้คนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการขุดตระพังไว้สำหรับกักเก็บน้ำจำนวนมาก, การเลือกที่ตั้งเมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งสูงกว่าตัวอำเภอเมืองปัจจุบันประมาณ 15 เมตร (ประมาณตึก 3 ชั้น) เพราะฉะนั้นน้ำในแม่น้ำยมจะมามากเพียงใด ตัวเมืองเก่าสุโขทัยไม่มีวันน้ำท่วมแน่ แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนโบราณที่ศึกษาและเข้าใจเรื่องสภาพภูมิประเทศกับการตั้งเมืองหรือวางผังเมือง

ตัวเมืองใหม่ ที่ชุมนุมของ “น้ำ”
ที่ตั้งของตัวเมืองสุโขทัยปัจจุบันพบว่า เป็น “จุดศูนย์รวม” ของแหล่งน้ำธรรมชาติหลายสาขา พอสรุปได้ดังนี้
แม่น้ำยม ต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดพะเยา ไหลผ่านจังหวัดแพร่ ผ่านจังหวัดสุโขทัยจากทางทิศเหนือสู่ทิศใต้ ผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง แล้วไหลผ่านตัวอำเภอเมืองสุโขทัย ก่อนไหลไปยังอำเภอกงไกรลาศ ผ่านจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
ลำน้ำแม่รำพัน ต้นน้ำอยู่ในเขตตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ไหลผ่านอำเภอบ้านด่านลานหอย ผ่านตัวเมืองสุโขทัยเก่า และไหลลงแม่น้ำยมที่บริเวณวัดคูหาสุวรรณ ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย ทางตอนเหนือของตัวเมืองใหม่สุโขทัย
แม่น้ำฝากระดาน ต้นน้ำอยู่ในตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ไหลผ่านอำเภอทุ่งเสลี่ยม เมืองโบราณบางขลัง เมืองศรีสำโรงเก่า แล้วไหลลงแม่น้ำยมที่บ้านปากแคว ตำบลปากแคว อำเภอเมืองสุโขทัย ทางตอนเหนือของตัวเมืองใหม่สุโขทัย
คลองสามพวง ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ไหลผ่านพื้นที่อำเภอคีรีมาศ แล้วไหลลงแม่น้ำยมที่ตอนใต้ของตัวเมืองใหม่สุโขทัย

เมื่อถึงฤดูฝน น้ำจากแหล่งข้างต้นก็จะไหลมารวมกัน ทำให้เกิดน้ำท่วม “ตัวเมืองสุโขทัย” และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำ มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งสันนิษฐานว่า บริเวณนี้คือ “ทะเลหลวง”
ดังที่จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตอนหนึ่งระบุว่า “…เบื้องตะวันโอกเมืองสุโขทัยนี้ มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมากป่าพลู มีไร่มีนา…”
นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตัวเมืองสุโขทัย จากอีกหลายเหตุผล
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ธีระวัฒน์ แสนคำ. “น้ำท่วมสุโขทัย : ก่อนการแก้ไขต้องย้อนดูประวัติศาสตร์ของพื้นที่” ใน ศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2555.
เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2567