ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาแพ ผู้เป็น “รักแรก” ในรัชกาลที่ 5 กรมขุนสุพรรณภาควดีทรงเป็นที่รักยิ่งของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ถึงขั้นที่ทรงเป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว ทั้งยังเป็นลำดับชั้นพระองค์เจ้า ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “เขาไกรลาส” ขึ้นในพระราชพิธีโสกันต์ ทั้งยังทรงเคยมีพระราชดำริว่าจะยกให้สืบราชสมบัติต่อไปอีกด้วย
“พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์” พระราชธิดาที่ประสูติแต่ “รักแรก”
คุณแพ เป็นธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วอน บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอิ่ม และเป็นหลานปู่ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) ขุนนางมากบารมี
คุณแพถวายตัวเป็นฝ่ายในเมื่ออายุราว 13 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระราชธิดาคือ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี เป็นองค์อุปการะคุณแพ
เวลานั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงมีพระชนมายุราว 15 พรรษา ทรงพบคุณแพครั้งแรก เมื่อครั้งคุณแพตามเสด็จพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีไปชมละครที่วังหน้า
เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงต้องพระทัยคุณแพอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน คุณแพเองก็ตอบรับน้ำพระทัยของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ แม้จะมีข้อติดขัดอยู่บ้าง ทว่าท้ายสุดทุกอย่างก็คลี่คลาย เมื่อรัชกาลที่ 4 ตรัสขอคุณแพจากเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
พระธิดาพระองค์แรกในเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์กับหม่อมแพ คือ หม่อมเจ้าศรีวิไลยลักษณ์ ประสูติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 ก่อนที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน
หม่อมเจ้าศรีวิไลยลักษณ์ จึงทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ และหม่อมแพเป็นเจ้าจอมมารดาแพ จากนั้น พ.ศ. 2447 รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าคุณจอมมารดาแพ และเป็นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 ทรงรักและทรงมีพระเมตตาต่อพระราชธิดาพระองค์แรกในเจ้าจอมมารดาแพอย่างยิ่ง ก่อนหน้าที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ จะประสูติ พระองค์เคยตรัสว่าจะยกราชสมบัติให้พระราชธิดาพระองค์นี้
“เขาไกรลาส” ในพระราชพิธีโสกันต์
ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นพระราชโอรสพระราชธิดาในพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนลูกหลานขุนนางและชาวบ้าน มักจะไว้ผมจุก และจะทำพิธีโกนจุกเมื่ออายุราว 11-13 ปี เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ ถือกันว่าเป็นพิธีมงคลที่ยิ่งใหญ่สุดในชีวิตของเด็ก พ่อแม่จึงมักจัดงานให้ดีที่สุดเท่าที่ฐานะจะเอื้ออำนวย
พิธีโกนจุกของพระราชโอรสพระราชธิดาในพระเจ้าแผ่นดิน ที่ประสูติแต่พระมเหสี และดำรงพระยศชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า เรียกว่า “พระราชพิธีโสกันต์”
ขณะที่พิธีโกนจุกของพระโอรสและพระธิดาในพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา และดำรงพระยศต่ำกว่าพระองค์เจ้าลงมา เรียกว่า “พระราชพิธีเกศากันต์”
พระราชพิธีโสกันต์เริ่มต้นจากโหรหลวงดูฤกษ์ยาม เพื่อกำหนดวันเวลาประกอบพระราชพิธี เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบแล้ว ก็จะมีหมายกำหนดการพระราชพิธี ซึ่งจัดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง
สิ่งประกอบพระราชพิธีโสกันต์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ “เขาไกรลาส” ซึ่งจะสร้างเฉพาะพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอที่ดำรงพระยศชั้น “เจ้าฟ้า” เท่านั้น
ส่วนพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ ที่ไม่ได้ดำรงพระยศเจ้าฟ้า ซึ่งรวมถึงพระเจ้าหลานเธอ และบุตรธิดาของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้โสกันต์ด้วย จะสร้างแท่นสรงบนลาน ณ มุมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
การสร้างเขาไกรลาส (หรืออีกชื่อคือเขาพระสุเมรุ) อิงตามคติในศาสนาฮินดู เนื่องจากเขาไกรลาสเป็นที่สถิตของพระอิศวรหรือพระศิวะ ส่วนคติพุทธเชื่อกันว่า เขาพระสุเมรุตั้งอยู่กึ่งกลางจักรวาล เปรียบเสมือนเสาหลักของโลก มียอดเป็นที่ตั้งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระอินทร์
เขาไกรลาสในพระราชพิธีโสกันต์ ทำจากไม้และไม้ไผ่ นำมาสานขึ้นโครง บุด้วยกระดาษหลายๆ ชั้น แล้วทาสี มียอดเป็นทรงมณฑป มีสระอโนดาต มีท่อไขน้ำจากปากสัตว์ทั้ง 4 ได้แก่ ช้าง สิงห์ โค และม้า
การสร้างเขาไกรลาสต้องใช้เงินทองมาก สะท้อนจากพระราชดำรัสในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระราชโอรสในพระองค์ ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งพระราชพิธีโสกันต์ว่า
“อย่าเอาเลยนะ เขาไกรลาสมันแพงนัก แต่พ่อจะทำขวัญเงิน ๑,๐๐๐ ชั่ง”
พระราชธิดาหนึ่งเดียว ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้าง “เขาไกรลาส” ให้
ในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงครองราชย์ 42 ปี ปรากฏว่ามีการสร้างเขาไกรลาสในพระราชพิธีโสกันต์เพียง 5 ครั้งเท่านั้น ได้แก่
1. พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จฯ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์
2. พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
3. พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ หลังจากนั้น 7 วัน ก็ได้ใช้เขาไกรลาสนี้ในพระราชพิธีโสกันต์ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
4. พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ และ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย
5. พระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ และ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลทิฑัมพร
ทั้งนี้ ครั้งที่ 4-5 ใช้เขาไกรลาสเดียวกัน เพราะระยะเวลาของพระราชพิธีโสกันต์ห่างกันเล็กน้อยเท่านั้น
ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ “การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน ในรัชกาลที่ 5” ระบุว่า กรมขุนสุพรรณภาควดีทรงเป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว ที่มีการสร้างเขาไกรลาส แม้แต่พระราชธิดาชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าก็ไม่มีเขาไกรลาส หรือแม้แต่พระราชโอรสชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า ที่เป็นพระราชโอรสรุ่นเล็กก็ไม่มีเช่นกัน
เหตุที่รัชกาลที่ 5 ทรงให้สร้างเขาไกรลาสแก่กรมขุนสุพรรณภาควดี ปรากฏหลักฐานเป็นคำชี้แจง ที่ทรงมีต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ว่า
“ด้วยปีนี้ (พ.ศ. 2421-ผู้เขียนบทความ) ศรีวิไลยจะโกนจุก หม่อมฉันเห็นว่าเปนลูกเพื่อนทุกข์เพื่อนยากและเปนที่รัก เปนหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้ช่วยทำนุบำรุงแผ่นดินมาเปนอันมาก อยากจะขอให้มีเขาไกรลาศสักคราวหนึ่ง ด้วยเห็นแต่ลูกวังหน้า ยศก็เพียงพระองค์เจ้ายังทำเขาไกรลาศแห่มยุรฉัตรได้ แลพระองค์โสมนัสเปนแต่เจ้าหลานเธอ ก็ยังแห่ใหญ่สมโภสสามวันได้”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ยังความโทมนัสยิ่งแก่สมเด็จพระบรมชนกนาถ และในการพระราชพิธีพระเมรุกรมขุนสุพรรณภาควดี รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระภูษานวล เพื่อแสดงถึงความอาลัยยิ่งในพระราชธิดาพระองค์นี้
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้าคุณจอมมารดาแพ พระภรรยาที่รัชกาลที่ 5 ทรง “จีบ” แต่ถูกผู้ใหญ่ขัดขวาง
- “เจ้าคุณจอมมารดาแพ” รักแรกของรัชกาลที่ 5 กับเหตุการณ์ “หึง” ต่อพระบรมราชสวามี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นัยนา แย้มสาขา. “การแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์” ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 50 ฉบับที่ 2.
ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์. “การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน ในสมัยรัชกาลที่ 5”. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2558.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2567