
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ปฏิกิริยาสุลต่านมลายู “กลันตัน-ตรังกานู” ไม่พอใจสยาม หลังยกดินแดนของตนให้อังกฤษเมื่อปี 1909
หลังจากสยามและอังกฤษทำสนธิสัญญาปี 1909 ซึ่งสยามยกดินแดนมลายู ได้แก่ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเกาะใกล้เคียงให้กับอังกฤษ แลกกับการยกเลิกอนุสัญญาลับปี 1897 ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และเงินกู้สำหรับรถไฟสายใต้ของสยาม (อ่านบทความได้ที่นี่) ทำให้เกิดความไม่พอใจของหลายฝ่ายโดยเฉพาะสุลต่านของรัฐมลายูเหล่านั้น
ปฏิกิริยาสุลต่านมลายู-ตรังกานู
จอห์น แอนเดอร์สัน (John Anderson) ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษประจำสิงคโปร์ระบุว่า เมื่อสุลต่านแห่งตรังกานูทราบข่าวการทำสนธิสัญญาดังกล่าวก็พยายามชี้แจงถึงสถานะของตรังกานูว่า ตรังกานูไม่ใช่เมืองขึ้นของสยาม โดยระบุว่า ต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่ส่งไปถวายให้กรุงเทพฯ นั้น ไม่ใช่สัญลักษณ์ของการยอมรับอำนาจของสยาม แต่เป็นสัญลักษณ์ของสัมพันธไมตรีหรือมิตรภาพเท่านั้น
สุลต่านแห่งตรังกานูไม่เข้าใจว่า เหตุใดสยามจึงยกดินแดนของตนให้กับอังกฤษ เพราะสยามไม่เคยเป็นเจ้าเหนือหัวแห่งตรังกานูมาก่อน อย่างไรก็ตาม อังกฤษกลับมองว่า การที่ตรังกานูส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองไปถวายให้กรุงเทพฯ เป็นประจำนั้น ถือว่าเป็นการยอมรับอำนาจของสยามแล้ว
ดังที่แอนเดอร์สัน บันทึกไว้ว่า “…ทัศนะของสุลต่านตลอดการสัมภาษณ์ คือ เขาไม่ได้รับการแจ้งให้ทราบถึงสนธิสัญญา และเขาก็ไม่เข้าใจว่าสยามสามารถโอนดินแดนที่ไม่ได้ครอบครองไปให้อังกฤษได้อย่างไร…อำนาจของสยามเหนือตรังกานูเป็นอะไรที่ไม่ชัดเจน แต่การส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองอย่างสม่ำเสมอนั้น เป็นที่รับรู้อย่างแน่ชัดถึงอำนาจที่เหนือกว่า…นำมาสู่การยืนยันอำนาจของสยามที่ชัดเจน…”
ขณะที่เบกเก็ตต์ (W.R.D. Beckett) อุปทูตอังกฤษ บันทึกไว้ว่า สุลต่านแห่งตรังกานูประณามสยามว่าเป็นหัวขโมยที่ยกของที่ไม่ใช่ของตนไปให้คนอื่น และแสดงความเห็นอย่างขมขื่นว่า อังกฤษทำสนธิสัญญาโดยไม่ปรึกษาตนเองก่อน

ปฏิกิริยาสุลต่านมลายู-กลันตัน
ทางด้านสุลต่านแห่งกลันตันก็ไม่พอใจกับเหตุการณ์นี้เช่นกัน อาเธอร์ แอดัม (Arthur Adam) ที่ปรึกษาการคลังของอังกฤษประจำไทรบุรี (เกดะห์) บันทึกไว้ว่า สุลต่านแห่งกลันตันโกรธเคืองสยามอย่างมากที่ประเทศและประชาชนถูกขายไป โดยสุลต่านแห่งกลันตันกล่าวว่า สามารถให้อภัยคนซื้อได้ แต่ให้อภัยคนขายไม่ได้
สุลต่านแห่งกลันตันยังส่งใบบอกมายังกรุงเทพฯ ว่า ตนไม่ต้องการไปอยู่กับอังกฤษ เหตุที่โกรธเคืองมากเช่นนี้เนื่องจากเข้าใจว่า การที่สยามยกกลันตันให้อังกฤษ เพราะสยามต้องการให้อังกฤษใช้หนี้สินของกลันตันที่มีต่อสยาม

ไม่เพียงสุลต่านมลายูที่ไม่พอใจสนธิสัญญาปี 1909 นี้เท่านั้น เยอรมนีก็แสดงความไม่พอใจต่อเรื่องนี้เช่นกัน
แต่เดิมนั้นเยอรมนีพยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือพื้นที่ภาคใต้ของสยามจากการขอสัมปทานการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ แต่เยอรมนีก็ถูกปฏิเสธมาตลอด การทำสนธิสัญญาฉบับนี้จึงเป็นการกีดกันอิทธิพลของเยอรมนีที่มีบนคาบสมุทรมลายูออกไปอย่างสิ้นเชิง
เจ้ากรมรถไฟของสยาม ซึ่งเป็นชาวเยอรมันอย่าง ลูอิส ไวเลอร์ (Luis Weiler) บันทึกว่า “…สำหรับรัฐบาลเยอรมันแล้ว นี่คือการกระทำที่ดูหมิ่นของชาวอังกฤษ…”
ปฏิกิริยาเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงทรรศนะของ “ฝ่ายเสียประโยชน์” ที่เกิดความไม่พอใจต่อ “ฝ่ายได้ประโยชน์” นั่นคือสยามกับอังกฤษนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- สนธิสัญญาปี 1909 สยามยกดินแดนมลายูให้อังกฤษเพื่อผลประโยชน์ของสองฝ่าย
- ตัวตนของ “มลายู” หรือประเทศมาเลเซีย ในแบบเรียนไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ฐนพงศ์ ลือขจรชัย. (2562). เสียดินแดนมลายู : ประวัติศาสตร์ชาติฉบับ Plot Twist. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2567