แนวคิดเรื่อง “สิทธิบัตรยา” เกิดขึ้นในไทยเมื่อไหร่? ใครเป็นผู้จุดประกาย?

สิทธิบัตรยา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร

แนวคิดเรื่อง “สิทธิบัตรยา” เกิดขึ้นในเมืองไทยครั้งแรกเมื่อใดคงตอบให้ชัดเจนได้ยาก แต่ก็พอตอบได้ว่า อย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 แนวคิดเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นแล้วแน่นอน เพราะพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พระอิสริยยศขณะนั้น) มีหนังสือกราบบังคมทูลในเรื่องนี้

การคุ้มครองผู้คิดค้น

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (พ.ศ. 2398-2453) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพึ่ง พระองค์ทรงสนพระทัยการประกอบโรคศิลปแผนโบราณ นอกจากนี้ยังทรงเป็นคนไทยคนแรกที่คิดประดิษฐ์ปรุงยาไทยผสมกับยาต่างประเทศ และทรงตั้งชื่อยาต่างประเทศเป็นภาษาไทย เช่น ซิงค์ออกไซด์ ทรงเรียกว่า “ยาขาว”, ผงบอริก ว่า “เกลือสมาน”, น้ำมันวินเตอร์กรีน ว่า “น้ำมันระกำ” ฯลฯ

Advertisement

ภายหลังกรมหลวงพิชิตปรีชากร มีพระดำริจะลงทุนผลิตยาและจำหน่ายให้ทั่วถึง โดยใช้พระนามในการค้าว่า “หมอเวชสิศย” แต่ทรงเกรงว่าเมื่อยาเป็นที่รู้จักอาจมีผู้ทำตามมาขาย จึงมีหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2432 ความตอนหนึ่งว่า

“…การที่จะทำนี้จะต้องทุนมาก ที่จะต้องซื้อยาอันมีราคาและใช้การลงภิมพ์แอกวะไดศประกาษและทำตำรา…ถ้าหากว่าการสำเหร็จพอคุณยาเหล่านี้มีทั่วถึงได้ คนทั้งหลายอื่นที่มิได้ลงแรงลงทุน ก็จะพลอยทำของเข้ามาซื้อขายเอากำไรแย่งชิงตัดการที่ข้าพระพุทธเจ้ากระทำไว้ได้… 

จำเป็นที่ข้าพระพุทธเจ้าต้องขอรับพระราชทานพระมหากรุณาบาระมีเป็นที่พึ่ง พอเป็นเครื่องป้องกันอย่าให้คนทั้งหลายคิดอุบายแกล้งขัดขวางแย่งชิงกีดกันการอันดี ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้คิดอ่านกระทำขึ้นให้เปนการเสียประโยชน์…คือ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้นราชสกุลคัคณางค์

ข้อ 1 ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใด กระทำ ฤๅจ้าง ซื้อ สั่งยา เก็บ ฤๅขายแลกและใช้ยาใดๆ โดยรูปลักษณ ส่วนผสม (มิใช่เนื้อยา) ให้เหมือนฤๅเทียบเคียง เคลือบคลุม เพื่อให้คนทั้งปวงเข้าใจฤๅสงใสว่าเป็นยาอย่างเดียวกัน…

ข้อ 2 ห้ามมิให้ผู้ใดทำขึ้น ฤๅจ้าง ซื้อ สั่ง ฤๅถือเอา ฤๅคัดลอก และทำเทียบ ห่อยา และตำรา คำประกาษ คำอธิบาย เครื่องหมาย ร้อยตรา ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้คิดและกระทำขึ้น…ให้คล้ายกับข้าพระพุทธเจ้า…

ข้อ 3 ห้ามมิให้ผู้ใด ฉ้อ ปลอม สับเปลี่ยน แก้ไข แอบอิง ฤๅประการใด ๆ ชื่อเสียง และตัวยาหาผลประโยชน์…

ข้อ 4 ถ้าผู้ใดมิฟัง ขืนกระทำการล่วงพระราชกำหนดและพระบรมราชานุญาตประการใด ๆ ให้ข้าพระพุทธเจ้ามีอำนาจจะบนจะจับมาว่ากล่าวฤๅจะฟ้อง…

ข้อ 5 ข้าพระพุทธเจ้ามีอำนาถ อันควรที่จะอาไศรยแก่ข้อพระราชกำหนดและพระบรมราชานุญาตนี้ เหมือนหนังสือสำคัญ (คือ รอแยลแลตเตอเปเตน) ตามเปแตนลอ คือ กฎหมายป้องกันผู้คิดการขึ้นใหม่ที่ใช้อยู่ในประเทษทั้งปวง…”  (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ร่างสิทธิบัตรยา

รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ราชเลขานุการ เป็นผู้ดำเนินการเรื่องดังกล่าว พระองค์จึงมีหนังสือสอบถามความเห็นไปยัง พระยาภาสกรวงศ์ (บรรดาศักดิ์ขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ 

สิทธิบัตรยา
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์

พระยาภาสกรวงศ์ มีหนังสือกราบทูลกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2432 ความว่า

“…ตรวจดูข้อความในหนังสือ ซึ่งกราบบังคมทูลขอให้พระราชทาน ราชประกาศิตบัตร…ความประสงค์ ขออำนาจ 5 ข้อ เพื่อจะได้อุดหนุนการขายยา…เมื่อสรุปใจความเข้าหมด…ว่า “โมโนโปลี” จะขอพระบรมเดชานุภาพปกแผ่ขายยาแต่ผู้เดียว โดยไม่มีกำหนด

…ผู้ขอพระบรมราชานุภาพหาผลประโยชน์ในอิศรแต่เพียงผู้เดียว…จะไม่เป็นแบบแผนที่ชอบยุติลงได้ ความเอกประโยคเช่นนี้มักจะเป็นที่เคยติเตียนมาแล้วในมหาประเทศ จึ่งเป็นเหตุที่ต้องตั้งเปเตนต์ลอว์ขึ้นไว้สำหรับการเช่นนี้ทุกประเทศ 

ซึ่งมีทางพระราชไมตรีมีกำหนดเขตรที่จะให้เอกประโยชน์เพียง 14 ปีเป็นอย่างมาก 10 ปีเป็นอย่างกลาง 5 ปีเป็นอย่างน้อย เมื่อสิ้นเขตรแล้ว ผู้อื่นจะได้หาประโยชนได้บ้าง

…การแลเวลาที่เดินอยู่เดี๋ยวนี้ก็ภอที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกฎหมายเปเตนต์ลอว์ขึ้นไว้ ด้วยจะได้เป็นการอุดหนุนเหมือนให้รางวัลแก่ผู้คิดการให้เจริญดีขึ้น แลจะได้ป้องกันการที่ผู้ได้รับเอกประโยคให้ประพฤติต้องตามพระราชกำหนดที่จะได้ตั้งขึ้น…”  (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

เมื่อกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นชอบเรื่อง “กฎหมายเปเตนต์ลอว์” และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาภาสกรวงศ์ เป็นผู้ร่างกฎหมายดังกล่าว เรื่อง “สิทธิบัตรยา” ก็เริ่มขึ้นด้วยเหตุดังนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร” ใน, https://museum.coj.go.th/

รศ. นพ. ถนอม บรรณประเสริฐ, รัชดา โชติพาณิช, วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ บรรณาธิการ. ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย. แพทยสภา จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2567