ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การสถาปนาหรือส่งเสริมพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่กษัตริย์ของไทยต้องปฏิบัติเป็นธรรมเนียม ในแต่ละยุคสมัยจะปรากฏวัดที่พระองค์ร่วมสถาปนาหรือแม้แต่วัดประจำพระองค์ อย่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ก็ทรงมีส่วนร่วมในการสถาปนาถึง 3 วัด วัดที่รัชกาลที่ 3 ทรงมีส่วนร่วมในการสถาปนา มีแห่งใดบ้าง?
วัดที่รัชกาลที่ 3 ทรงมีส่วนร่วมในการสถาปนา มีแห่งใดบ้าง?
1. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ก่อนจะได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เดิมทีได้ชื่อว่าวัดสะแก แต่พระองค์ได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “วัดสระเกศ” แปลว่า ชำระทำความสะอาดพระเกศา เนื่องจากวัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับในพิธีกระยาสนาน เมื่อพระองค์เสด็จกรีธาทัพจากกัมพูชาเพื่อเข้ามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325
จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ทั้งอาราม รวมถึงสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ, ศาลาการเปรียญ, พระวิหาร ประดิษฐานพระอัฏฐารศศรีสุคตทศพลญาณบพิตร พระพุทธรูปสำริดประทับยืน ปางประทานอภัย ซึ่งอัญเชิญมาจากวิหารทอง พิษณุโลก
จนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารดังกล่าวเป็น 2 ห้อง และประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย เรียกว่า “หลวงพ่อดุสิต”
ด้าน พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ก็สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ทว่าฐานที่อัดดินไว้เกิดการทรุดตัว แก้เท่าใดก็ไม่เกิดผล จึงทำให้หยุดสร้างในรัชกาลนี้ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแบบเดิมและสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุด้านใน
2. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาได้เนื่องจาก เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต กัลยาณมิตร) ยกบ้านเดิมของท่านให้ ก่อนจะสร้างขึ้นมาเป็นวัดขนาดใหญ่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามวัดให้ว่า “วัดกัลยาณมิตร”
ต่อมาพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารหลวง ซึ่งมีการหล่อพระโตเป็นพระประธานประจำวัดหลวง ภายหลังรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”
นอกจากนี้ หลังจากรัชกาลที่ 3 ยังสร้างสิ่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เพื่อเก็บพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์ เจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งบนฐานแปดเหลี่ยมประดับหินอ่อน ในรัชกาลที่ 4 หอระฆัง ในรัชกาลที่ 6
3. วัดยานนาวา
วัดแห่งนี้ บันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา คนทั่วไปเรียกว่า “วัดคอกควาย” จนถึงสมัยธนบุรี ได้ชื่อทางการว่าวัดคอกกระบือ ก่อนที่รัชกาลที่ 1 จะโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถขึ้นในวัดนี้
ต่อมา รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ รวมถึงสร้างสำเภาด้วยเครื่องก่อไว้หลังพระอุโบสถ อย่างสำเภาอุดร เนื่องจากพระองค์ต้องการให้คนรุ่นหลังได้รู้จักเรือสำเภา และหล่อรูปพระเวสสันดร กัณหา และชาลี ประดิษฐานไว้ในนั้นอีกด้วย (ปัจจุบันได้หายไปหมดแล้ว)
รวมถึงยังได้พระราชทานนามใหม่ให้วัดแห่งนี้ว่า “วัดยานนาวา”
นอกจากนี้วัดแห่งนี้ยังมีการก่อสร้างสิ่งสำคัญต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น เก๋งจีน ศาลาการเปรียญ ศาลาคู่ ศาลาที่ประทับของรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งทรงคุมงานก่อสร้าง และกุฏิสงฆ์ และยังคงได้รับการปฏิสังขรณ์อยู่เรื่อยมา
จากข้อมูลที่กล่าวมาคงทำให้ทราบได้ว่าวัดที่รัชกาลที่ 3 ทรงมีส่วนร่วมในการสถาปนามีแห่งใดบ้าง
อ่านเพิ่มเติม :
- กำเนิดเทวาลัย “พระแม่อุมาเทวี” แห่ง “วัดแขก” (สีลม) มหาเทวีแห่งอำนาจวาสนา
- “วัดทิพยวารีวิหาร” (กัมโล่วยี่) สถานที่มูเตลูสุดปัง หมุนกังหันเปลี่ยนดวงได้ ไม่ต้องไปไกลถึงฮ่องกง
- ทำไม “สะพานมัฆวานรังสรรค์” สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงเป็นสะพานที่งดงามที่สุดในพระนคร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. งานช่างสมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2551.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กันยายน 2567