สัญลักษณ์กดไลก์ มีที่มาจากไหน? ไขปริศนาท่าชูนิ้วโป้ง

สัญลักษณ์กดไลก์

เปิดที่มาสัญลักษณ์กดไลก์ ชื่นชอบ-ยอดเยี่ยม-ถูกใจ-OK แต่ความหมายเดิมเกี่ยวข้องกับความตาย!?

ทุกวันนี้เมื่อเราท่องไปในโซเชียลมีเดียก็มักพบสัญลักษณ์กดไลก์อยู่เต็มไปหมด โดยเฉพาะในยุคที่ YouTube และ Facebook ได้รับความนิยมอย่างสูง ในขณะที่ชีวิตประจำวันของเรา เมื่อกำมือแล้วหงายนิ้วหัวแม่มือขึ้นก็หมายถึง ยอดเยี่ยม สุดยอด ชื่นชอบ ผ่าน ถูกต้อง OK ฯลฯ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อถ่ายรูปฉลองรับปริญญา สัญลักษณ์กดไลก์ก็ดูจะกลายเป็นท่ายอดนิยมมากที่สุดก็ว่าได้

แต่กว่าที่สัญลักษณ์กดไลก์จะเดินทางมาจนถึงทุกวันนี้ ในอดีตมันมีความหมายในทางตรงกันข้าม (เชิงลบ) และยังเกี่ยวข้องกับความตายอีกด้วย

Advertisement
(ภาพจาก Tumisu, Pixabay)

ต้นเค้าที่เก่าแก่ของสัญลักษณ์นี้ต้องเล่าสืบย้อนไปในช่วงยุคโรมัน ช่วงเวลานั้นมีการประลองกลาดิเอเตอร์ ที่นักรบจะมาต่อสู้กันเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมในสนาม และการแสดงสัญลักษณ์ด้วยมือก็ถูกนำมาใช้สำหรับการประลองนี้ เพื่อตัดสินกลาดิเอเตอร์ที่พ่ายแพ้หลังจากการดวลกันว่าจะให้ “รอด” หรือ “ตาย” 

ในบันทึกภาษาละตินของนักเขียนโรมันยุคร่วมสมัย กล่าวไว้ว่า “police verso” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “with a turned thumb” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการกำมือแล้วหงายนิ้วหัวแม่มือขึ้นหรือการคว่ำนิ้วหัวแม่มือลง แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าหันนิ้วหัวแม่มือไปในทิศทางใด ซึ่งประเด็นนี้ยังมีความหมายคลุมเครือ และเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก

แม้ท่าทางที่อธิบายด้วยวลี “police verso” นั้นไม่ชัดเจน แต่จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจสอบจากเอกสารประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ และวรรณกรรม แอนโธนี ฟิลิป คอร์บีลล์ (Anthony Philip Corbeill) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคนซัส สรุปว่า การหงายนิ้วหัวแม่มือขึ้นหรือชูนิ้วโป้ง หมายถึง “ฆ่าเขา” และหากต้องการไว้ชีวิตนักสู้กลาดิเอเตอร์ จะทำด้วยท่ากำมือ แล้วให้นิ้วหัวแม่มือซ่อนอยู่ด้านในอุ้งมือ หรือในลักษณะที่นิ้วทั้ง 4 พันรอบนิ้วหัวแม่มือนั่นเอง 

หลักฐานชิ้นสำคัญคือ เหรียญโบราณชิ้นหนึ่ง (คาดมีอายุในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2) ที่มีภาพผู้ตัดสินชูกำปั้น โดยนิ้วหัวแม่มือถูกพันด้วยนิ้วที่เหลือ ซึ่งหมายความว่า “ปล่อยเขาไป” หรือเป็นการไว้ชีวิตนั่นเอง

(ภาพจาก https://artsandculture.google.com/asset/m%C3%A9daillon-de-cavillargues/_gHR1mOxtTEkew)

มีการวิเคราะห์กันว่า การหงายนิ้วหัวแม่มือขึ้นหรือสัญลักษณ์ “ตาย” นี้ เทียบได้กับการชักดาบออกมาประหาร ส่วนสัญลักษณ์ “รอด” เทียบได้กับการเก็บดาบเข้าฝักนั่นเอง

แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ให้การหงายนิ้วหัวแม่มือขึ้นคือ “รอด” และ การคว่ำนิ้วหัวแม่มือลงคือ “ตาย” มีที่มาจากภาพวาดชื่อดังของ ฌอง-เลออง เฌโรม (Jean-Leon Gerome) เมื่อ ค.ศ. 1872 เป็นภาพการประลองกลาดิเอเตอร์ ที่ผู้ชมในสนามตัดสินให้นักสู้กลาดิเอเตอร์ต้องตาย ด้วยท่าคว่ำนิ้วหัวแม่มือลง 

นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก และความเข้าใจผิดครั้งนี้ก็ถูกถ่ายทอด ส่งต่อ และผลิตซ้ำออกมาในภาพยนตร์ Gladiator ที่กำกับโดย ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) เข้าฉายเมื่อ ค.ศ. 2000

ภาพ Pollice Verso (Thumbs Down) ของ ฌอง-เลออง เฌโรม (Jean-Leon Gerome) เมื่อ ค.ศ. 1872

จนทำให้คนในยุคปัจจุบันเชื่อว่า สัญลักษณ์ “รอด” และ “ตาย” ของการประลองกลาดิเอเตอร์ในยุคโรมันเป็นอย่างที่ภาพยนตร์ถ่ายทอดออกมา แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม

อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับการประลองกลาดิเอเตอร์นี้ดูจะเกี่ยวข้องกับ “ความตาย” เสียมากกว่าจะสื่อความหมายถึง ยอดเยี่ยม สุดยอด ชื่นชอบ ผ่าน ถูกต้อง OK ฯลฯ อย่างที่คนปัจจุบันคุ้นเคย 

แล้วการหงายนิ้วหัวแม่มือขึ้นในยุคต่อมาเป็นอย่างไร?

ช่วงยุคกลางในอังกฤษ การทำท่าทางลักษณะนี้ปรากฏให้เห็นในหมู่นักธนู พวกเขาจะใช้วัดระยะห่างระหว่างสายธนูกับที่จับคันธนูด้วยการกำมือ แล้วหงายนิ้วหัวแม่มือในลักษณะเป็นแนวนอน หากได้ระยะพอดีก็หมายความว่าพร้อมที่จะยิงแล้ว

ในยุคกลางอีกเช่นกัน เมื่อการติดต่อค้าขายระหว่างพ่อค้าสองฝ่ายเป็นไปโดยเรียบร้อย พวกเขาจะนำนิ้วหัวแม่มือมาป้ายน้ำลายของตัวเอง จากนั้นทั้งสองฝ่ายจะนำนิ้วหัวแม่มือมาสัมผัสกัน ซึ่งหมายความว่าการค้าขายเป็นอันตกลง

ในยุคถัดๆ มา สัญลักษณ์ดังกล่าวก็เริ่มจะเกี่ยวข้องกับการสื่อสารในทางบวกมากขึ้น โดยสัญลักษณ์หงายนิ้วหัวแม่มือขึ้นในภาษาอังกฤษใช้ว่า “thumbs-up” ซึ่งพจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซ์ฟอร์ดบันทึกความหมายเชิงบวกของคำนี้เป็นครั้งแรกในหนังสือยอดนิยมอย่าง Over the Top ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1917 โดย อาร์เธอร์ กาย เอ็มพีย์ (Arthur Guy Empey) ชาวอเมริกันที่เคยประจำการในกองทัพอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาในสงคราม ซึ่งมีการอธิบายว่าเป็นวลีแสลงที่คู่หูชาวอังกฤษใช้กัน โดย “thumbs-up” แปลว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี

เชื่อกันว่าสัญลักษณ์นี้น่าจะเริ่มแพร่หลายอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเห็นชัดเจนในสื่อบันเทิง นักแสดงเริ่มใช้ท่าทางนี้แสดงออกในความหมายชื่นชม ยอดเยี่ยม ถูกใจ ฯลฯ รวมถึงเริ่มมีการใช้สัญลักษณ์ “กดไลก์-ดิสไลก์” สำหรับจัดเรตติ้งรายการทีวีอีกด้วย

ช่วงเวลานี้เอง ชาวอเมริกันใช้การหงายนิ้วหัวแม่มือขึ้นขึ้นแทนคำว่า OK อีกด้วย และเพราะความเป็นยักษ์ใหญ่ทางอินเทอร์เน็ตอย่าง YouTube และ Facebook ที่ใช้การหงายนิ้วหัวแม่มือขึ้นแทนคำว่า “ชอบ” และการคว่ำนิ้วหัวแม่มือลงแทนคำว่า “ไม่ชอบ” จึงทำให้สัญลักษณ์ “กดไลก์-ดิสไลก์” กลายเป็นภาษาสากลไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ความหมายเชิงลบของสัญลักษณ์หงายนิ้วหัวแม่มือขึ้นยังคงมีอยู่ ในบางวัฒนธรรม เช่น กรีก อิรัก เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยในยุคปัจจุบัน สัญลักษณ์กดไลก์ดูจะวิวัฒนาการไปอีกขั้นหนึ่ง ในการสื่อสารผ่านแชทออนไลน์ บ้างใช้แสดงความชื่นชม บ้างใช้เป็นการตอบรับ บ้างใช้เพื่อจบบทสนทนา สำหรับอันหลังนี้ดูจะเป็นความหมายเชิงลบสำหรับผู้ที่ได้รับสัญลักษณ์กดไลก์ไม่น้อย (ฮา)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://time.com/4984728/thumbs-up-thumbs-down-history/ 

https://www.bbc.co.uk/ideas/videos/thumbs-up-why-do-we-do-it/p06j3ztl 

https://www.tastesofhistory.co.uk/post/dispelling-some-myths-thumbs-up 

https://youtu.be/vxQzxC7aLTg?si=91a3BiobRUjP18uI 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2567