ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
การมีสัตว์เป็นสื่อแสดงความเคารพมีอยู่ในอารยธรรมทั่วโลกมาแต่บรรพกาล แม้ไม่ใช่การนับถือสัตว์เป็นเทพเจ้า แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง พัวพันกับโลกแห่งจิตวิญญาณ โดยเฉพาะในศาสนาที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด สัตว์หลายชนิดแทบมีตัวตนเท่าเทียมกับมนุษย์ เพราะคนเชื่อว่าสัตว์บางตัวอาจเป็นบรรพชนผู้ล่วงลับของตน ซึ่ง “หมา” หรือสุนัข ก็เป็นหนึ่งในนั้น
หลักฐานในไทยที่บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างสุนัขกับคนพบในหลุมศพมนุษย์โบราณที่ศรีเทพและบ้านเชียง มีสุนัขถูกฝังอยู่ข้าง ๆ มนุษย์ในหลุมศพ
รวมถึงที่ปรากฏในวิถีความเชื่ออย่าง “หมานรก” ในวรรณกรรมไตรภูมิและจิตรกรรมฝาผนังต่าง ๆ โดยเป็นสัตว์ที่คอยจัดการสัตว์นรกทั้งหลาย ถือเป็นบทบาททางศาสนาของสุนัข
อีกร่องรอยที่สำคัญไม่แพ้กันคือการเป็น “สัญลักษณ์” ประจำเมือง และได้รับการบูชาประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ถลาง หรือเกาะภูเก็ตในปัจจุบัน
“ลัทธิบูชาหมา” ณ เมืองถลาง
หลักฐานเรื่องนี้ อยู่ในบันทึกของ ร้อยโท เจมส์ โลว์ (James Low) เจ้าหน้าที่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (EIC) ที่ปีนัง เมื่อ ค.ศ. 1824 (พ.ศ. 2367, สมัยรัชกาลที่ 3) เขาเดินทางมาหัวเมืองปักษ์ใต้ของสยาม ผ่านหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ เช่น ไทรบุรี สตูล ตรัง ถลาง พังงา มีจุดหมายคือเพื่อพบเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ที่เมืองนครศรีธรรมราช แต่ท่านเจ้าพระยานครฯ ปฏิเสธการขอพบ เนื่องจากตอนนั้นอังกฤษกำลังทำสงครามกับพม่า เกรงจะเกิดความยุ่งยาก เขาจึงเดินทางกลับ
ในบันทึกเล่าการเดินทาง เจมส์ โลว์ เล่าถึงเรื่องประหลาดที่เขาบันทึกระหว่างทาง จากการพบเห็นรูปเคารพสุนัขที่เกาะถลาง ดังนี้
“ทางฝั่งตะวันออกของเกาะ ตรงที่ ๆ เรียกว่า แหลมพระเจ้า (Lem Phra Chau) มีหินก้อนหนึ่ง ซึ่งชาวสยามยืนยันว่า มีรูปจำหลักของสุนัขตัวหนึ่งกับกาตัวหนึ่งอยู่ ทั้งพวกเขายังอ้างและนึกคิดไปว่า พวกเขาสามารถแลเห็นที่ ๆ หนึ่งตรงข้ามกับจุดนี้ และภายใต้น้ำนั้นมีรอยตีนหรือรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่
การนับถือสุนัขอาจจะเก่าแก่สืบย้อนขึ้นไปได้ถึงโบราณกาลโพ้น ดอกเตอร์ เลย์เดน ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความเรื่องหนึ่งของเขาว่า ดูเหมือนว่า ‘สมัยหนึ่งชาติทั้งหลายของแหลมอินโดจีน มีการนับถือสุนัขเป็นที่แพร่หลายเช่นเดียวกับการนับถือเสือ’ ”
หากเป็นดังที่ เจมส์ โลว์ เล่าไว้ แปลว่าเคยมีการบูชาสุนัขที่เมืองถลางจริง
ความเชื่อเรื่องเรื่องการยกย่องสุนัขยังปรากฏอยู่ในชื่อบ้านนามเมืองอย่างตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งชาวบ้านเรียก บ้านกราม้า หรือ “บ้านตราหมา” ซึ่งสอดคล้องกับ “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” ที่ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในคาบสมุทรภาคใต้มาขึ้นกับนครศรีธรรมราช มีทั้งสิ้น 12 เมือง แล้วจัดแบ่งเป็น 12 นักษัตร มีตราประจำเมืองเป็นรูปสัตว์ทั้ง 12 ปี และเมืองถลาง (ภูเก็ต) ถูกกำหนดให้เป็นปีจอ ตราสุนัข
จึงไม่น่าใช่เรื่องบังเอิญที่ภูเก็ตจะ “เคย” มีลัทธิบูชาหมา และใช้หมาเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง
อ่านเพิ่มเติม :
- นครศรีธรรมราช แปลว่าอะไร? มีนัยอย่างไรแฝงอยู่?
- “หมา” เริ่มเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์เมื่อไหร่? ทำไมถึงเลี้ยง?
- “สงขลาหอน นครหมา นราหมี” ภูมิปัญญาและอารมณ์ขันในการใช้ภาษาของชาวใต้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กำพล จำปาพันธ์. “คนกราบหมา” (มีอยู่จริงๆ นั่นแหละ) & ว่าด้วยปริศนา “ลัทธิบูชาหมา” และคติสิบสองนักษัตรในหัวเมืองปักษ์ใต้. ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2567