“มหาวชิราวุธสแควร์” โปรเจกต์เมืองสุดอลังการ สมัยรัชกาลที่ 6 อยู่ที่ไหน?

โครงการจัตุรัสมหาวชิราวุธ มหาวชิราวุธสแควร์ สะพานเจริญรัช 31
สะพานเจริญรัช ๓๑ แถวปากคลองตลาด จุดบรรจบของถนนมหาราช ถนนสนามไชย และถนนราชินี (ภาพ : BerryJ via Wikimedia Commons)

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคที่สยามพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่โดดเด่นสมัยรัชกาลที่ 6 คือ พัฒนาการของเมือง ทั้งการคมนาคม การสาธารณูปโภค รวมทั้งการจัดการเมืองให้น่าอยู่ กลมกลืนทั้งความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย อย่าง โครงการจัตุรัสมหาวชิราวุธ หรือ “มหาวชิราวุธสแควร์”

ถนน สมัย รัชกาลที่ 5 มหาวชิราวุธสแควร์
ถนนหนทางในสมัยรัชกาลที่ 5 ในภาพเป็นการโชว์รถยนต์บนถนนสาธารณะในพระนคร ช่วง พ.ศ. 2450-2451 (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

“มาโฮติแยร์” นายช่างฝรั่งนักพัฒนาเมือง

ช่วงต้นรัชกาลที่ 6 เกิดโครงการปรับปรุงเมืองที่สำคัญขึ้น คือ โครงการจัตุรัสมหาวชิราวุธ หรือ “มหาวชิราวุธสแควร์” (Maha Vajiravudh Square) ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง มี หลุยส์ โรแบรต์ เดอ ลา มาโฮติแยร์ (Louis Robert de la Mahotière) เป็นผู้ออกแบบ

Advertisement

มาโฮติแยร์เป็นชาวฝรั่งเศส เข้ามารับราชการในสยามตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2445 คือสมัยรัชกาลที่ 5 มีที่มาจากสยามต้องการชาวตะวันตกที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยงาน

ตอนนั้นมีการตกลงกันระหว่างพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กับเมอซิเออร์ เดลกาเซ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศส ส่งมาโฮติแยร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมารับราชการเป็นนายช่างสุขาภิบาล อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ

มาโฮติแยร์เริ่มชีวิตข้าราชการในแผ่นดินสยาม เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 มีกำหนดสัญญาจ้าง 1 ปี ได้เงินปีละ 20,000 บาท เขาปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ทำให้เมื่อครบกำหนดแล้วได้ทำสัญญาจ้างครั้งที่ 2 ระยะเวลา 3 ปี เมื่อครบกำหนดอีกก็มีการสลักหลังสัญญา ให้ใช้สัญญาฉบับนั้นต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา หากฝ่ายใดยกเลิกสัญญา ต้องแจ้งล่วงหน้าให้ทราบก่อน 6 เดือน

นายช่างชาวฝรั่งเศสมีเนื้องานที่ต้องรับผิดชอบ คือ งานด้านสุขาภิบาล เช่น การจัดการระบบประปา จัดการท่อน้ำ ดูแลลอกคลองในเขตพระนครชั้นนอก ตั้งแต่คลองผดุงกรุงเกษม รวมทั้งดูแลงานโยธาต่างๆ อย่างการวางผังเมือง และการตัดถนนให้สวยงาม

นอกจากนี้ ยังรับหน้าที่ทำแผนที่ที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองอีกด้วย อาทิ แผนที่แสดงที่ตั้งบ้านเรือน ถนน ตรอก ซอย ทุกแห่งในพระนคร แผนที่แสดงระดับที่ดินที่น้ำจะไหลไปตามคลองต่างๆ เป็นต้น

หลังจากทำงานในสยามมานานหลายปี เขาได้เขียนบทความ “The Highways and Sanitation of Bangkok” ว่าด้วยเรื่องถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ การประปา การระบายน้ำ การก่อสร้างท่อระบายน้ำ การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การสร้างสะพาน ฯลฯ ในตีพิมพ์ในหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam จัดพิมพ์ใน พ.ศ. 2451 เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ได้ศึกษาพัฒนาการงานสุขาภิบาลในสยาม

ตลอดระยะเวลากว่า 13 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมารัชกาลที่ 6 มาโฮติแยร์มีส่วนทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ด้วยปัญหาสุขภาพรุมเร้า ทั้งโรคปอดพิการและโรคหืด ท้ายสุดมาโฮติแยร์จึงยื่นหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 6 ลาพักไปรักษาตัวในยุโรป และหลังจากได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็ได้ออกจากสยามเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2458

สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง จัตุรัสมหาวชิราวุธ มหาวชิราวุธสแควร์
สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง หนึ่งในสถานที่โครงการจัตุรัสมหาวชิราวุธ (ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง)

“มหาวชิราวุธสแควร์” โปรเจกต์พัฒนาเมือง

จัตุรัสมหาวชิราวุธ เป็นโครงการที่มาโฮติแยร์ออกแบบเสนอเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) อธิบดีกรมสุขาภิบาล และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล ใน พ.ศ. 2454 ซึ่งอยู่ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6

จุดประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อปรับปรุงพื้นที่เชิงสะพาน เจริญรัช 31 (หนึ่งใน “สะพานชุดเจริญ” ที่รัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้างตามพระราชนิยมในสมเด็จพระบรมชนกนาถ) ซึ่งเป็นจุดบรรจบของถนน 3 สาย ได้แก่ ถนนมหาราช ถนนสนามไชย และถนนราชินี ให้มีความสวยงามมากขึ้น

มาโฮติแยร์ออกแบบผังโดยให้พื้นที่ระหว่างถนนมหาราชกับถนนสนามไชย เป็นที่ตั้งสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ มีอาคารสถานีวางยาวรับมุมมองจากสะพานเจริญรัช 31 พร้อมกับเสนอให้สร้างอาคารใหม่สำหรับโรงเรียนราชินีด้านซ้ายของสถานี และอาคารสโมสรทหารม้ารักษาพระองค์ด้านขวาของสถานีให้สมดุลกัน

หากดำเนินงานตามนี้แล้ว ก็จะเกิดเป็นจัตุรัสขนาดใหญ่สุดอลังการ ซึ่งมีอาคารสาธารณะทั้ง 3 เป็นฉากหลัง มีน้ำพุเป็นที่วนรถยนต์ด้านหน้าอาคารแต่ละหลัง

อย่างไรก็ตาม โครงการจัตุรัสมหาวชิราวุธหรือมหาวชิราวุธสแควร์ไม่ได้เกิดขึ้นเต็มร้อยอย่างที่มาโฮติแยร์ออกแบบไว้ มีแต่เพียงสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง ที่ออกแบบโดยมาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี เท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชรัตน์ สิงหเดชากุล. “เมอซิเออร์หลุยส์ โรแบรต์ เดอ ลา มาโฮติแยร์ นายช่างสุขาภิบาล กรมสุขาภิบาล ในสมัยรัชกาลที่ 5”. ประวัติและผลงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย เล่ม 3. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2558.

“โปรเจค ‘มหาวชิราวุธสแควร์’”. เว็บไซต์ 100 ปีตึกเรา.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2567