ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2347-2411) ทรงมีพระราชดำริให้สร้างวัด 2 แห่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลแด่ “พระภรรยาเจ้า” 2 พระองค์ของพระองค์ที่สวรรคต
พระภรรยาเจ้า 2 พระองค์
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวี
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวี (พ.ศ. 2377-2395) พระอัครมเหสีพระองค์แรกในรัชกาล เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับเจ้าจอมมารดางิ้ว และเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชนัดดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 3 ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าหลานเธอ”
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (พ.ศ. 2377-2404) เป็นพระมเหสีพระองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3) กับหม่อมน้อย และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6, เป็นพระอัยยิกา (ย่า) ในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7, เป็นพระปัยยิกา (ย่าทวด) ในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9
วัดเพื่ออุทิศพระราชทาน 2 แห่ง
วัดโสมนัสวิหาร
รัชกาลที่ 4 โปรดให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่วัดเทวราชกุญชรไปยังวัดแก้วฟ้า เพื่อเป็นคูพระนครชั้นนอก แล้วโปรดให้สร้าง “วัดโสมนัสวิหาร” ขึ้นใน พ.ศ. 2394 และพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2396
วัดแห่งนี้เป็นวัดหลวงและเป็นวัดธรรมยุติแห่งแรกที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น วัตถุประสงค์การสร้างวัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวี พระราชทานนามว่า “วัดโสมนัสวิหาร”
นอกจากนี้ รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริว่า สมัยกรุงศรีอยุธยามีการสร้างวัดตามคูพระนคร สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงสร้างวัดกุฎีดาว (บ้างว่าทรงบูรณะ) ริมคูเมืองตรงข้ามวัดสมณโกฏิของพระมเหสี
พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “วัดมกุฏกษัตริยาราม” คู่กับ “วัดโสมนัสวิหาร” ณ ริมคลองผดุงกรุงเกษมทางเหนือ การก่อสร้างเสร็จ พ.ศ. 2411 พระราชทานนามว่า “วัดมกุฏกษัตริยาราม”
วัดปทุมวนาราม
เมื่อ พ.ศ. 2411 รัชกาลที่ 4 โปรดให้ทางฝั่งตะวันตกของสวนนอก สวนสระปทุม ซึ่งเป็นที่นาหลวง เป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ขุดเป็นสระน้ำและปลูกบัวหลายสาย พระราชทานชื่อว่า “วัดปทุมวนาราม” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลพระราชทานแก่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกวัดสระปทุม หรือวัดสระ
ทั้งทรงนิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายจากวัดบวรนิเวศวิหารมาครองวัด และได้อัญเชิญ พระเสริม, พระแสน และพระไส จากเมืองเวียงจันทน์ มาประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถและพระวิหารของวัด
ปัจจุบันวัดทั้ง 2 แห่ง ที่สร้างอุทิศพระราชกุศลแด่ “พระภรรยาเจ้า” ทั้ง 2 พระองค์ มีฐานะเป็นวัดหลวงสำคัญของไทย
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วิเชียร อนันตศิริรัตน์ เรียบเรียง. พระอารามหลวง เล่ม 1 กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564.
จุฑารัตน์ จิตโสภา. “วิเคราะห์แนวคิดรัชกาลที่ 4 ที่สะท้อนผ่านจิตรกรรมเรื่อง ‘อิเหนา’ ในพระวิหารหลวง วัดโสมนัสวิหาร” ใน, วารสารดำรงวิชาการ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2555)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2567