“ราชบุรี” เมืองที่ตั้งถิ่นฐานเดิมนานที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เคยย้ายพื้นที่เพียง 2 ครั้ง ตรงไหนบ้าง?

ราชบุรี
ราชบุรี (ภาพ : www.deutsche-digitale-bibliothek.de/)

ราชบุรี ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของไทยอย่างยาวนาน ในอดีตเคยเป็นทั้งเมืองหน้าด่านที่สำคัญ เป็นสมรภูมิรบหลายสมัย อย่าง สงครามเก้าทัพ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมืองนี้เป็นเมืองที่อยู่ในถิ่นฐานเดิมนานที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และเคยย้ายเมืองแค่เพียง 2 ครั้งเท่านั้น 

คลองดำเนินสะดวก บริเวณตำบลศรีสุราษฎร์ จังหวัดราชบุรี ในปัจจุบัน (ภาพจาก http://www.panoramio.com/photo/81102274 โดยคุณ wengkub)

“ราชบุรี” หมายถึง เมืองแห่งพระราชา หรือเมืองมีพระราชาปกครอง สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้พูดถึงที่มาของเมืองนี้ไว้ในบทความ “สุจิตต์ วงษ์เทศ : ราชบุรี 800 ปีที่แล้ว สังกัดกลุ่มสยาม พูดภาษาไทย สำเนียงลาว” ว่า

Advertisement

“ชื่อราชบุรี กลายจากภาษาบาลี-สันสกฤต ว่า ราชปุร (ะ) เลียนแบบความศักดิ์สิทธิ์บ้านเมืองในชมพูทวีป (อินเดีย) เสมือนบ้านเมืองในอุดมคติ หรือนคราธิษฐาน

การเมืองการปกครองของรัฐจารีตลุ่มน้ำเจ้าพระยา อยู่ในวัฒนธรรมเครือญาติ (ผ่านประเพณีแต่งงาน) แบบบ้านพี่เมืองน้อง หมายถึง บรรดาผู้นำเมืองน้อยยอมอ่อนน้อมต่อผู้นำเมืองใหญ่ หรือเจ้านายของเมืองมีกำลังไม่มาก ยอมอ่อนข้อต่อเจ้านายหรือเจ้าพ่อของเมืองมีกำลังแข็งแรงมากกว่า”

คนเชื่อว่ามีผู้ตั้งถิ่นฐานที่นี่ตั้งแต่ยุคหินกลางและมีความสำคัญเรื่อยมา จนในสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังปรากฏเมืองราชบุรี

กระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2437 พระองค์ทรงเปลี่ยนการปกครองส่วนภูมิภาค โดยนำเอาเมืองที่อยู่ชิดติดกันตั้งเป็นมณฑล ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี “มณฑลราชบุรี” ประกอบด้วย เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ ตั้งบัญชาการมณฑล ที่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง เมืองราชบุรี 

ต่อมาการปกครองแบบมณฑลได้ล้มเลิกไป มณฑลราชบุรีจึงกลายมาเป็น “จังหวัดราชบุรี” อย่างที่เรารับรู้กัน

เมืองราชบุรีย้ายไปอยู่ที่ใดบ้าง?

แม่น้ำแม่กลองในย่านตัวเมืองราชบุรี เส้นทางยกทัพทางชลมารคของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ ปัจจุบันเป็นย่านตลาดและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองราชบุรี (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

อย่างที่ทราบกันว่าเมืองราชบุรีเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และเป็นเมืองสำคัญในพื้นที่สงครามบ้านเมือง แต่หากพูดถึงการย้ายถิ่นฐานนั้น เมืองราชบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ ณ ที่เดิมได้นานที่สุดเมืองหนึ่งในไทย โดยย้ายเมืองใหม่แค่ 2 รอบเท่านั้น และการย้ายก็ไม่ได้ห่างกันเท่าใดนัก

ครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์โปรดให้ย้ายตัวเมืองไปตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองแทนเมืองเดิม ที่ตำบลคูบัว เนื่องจากเขตเมืองเก่านั้นกระทำสงครามได้ลำบาก หากมีพม่าหรือศัตรูบุกเข้ามาก็อาจจะทำให้ไทยเพลี่ยงพล้ำได้ง่าย โดยเริ่มย้ายตั้งแต่วันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือนหก ปีฉลู พ.ศ. 2360 

เมืองใหม่นี้มีขนาดเล็กกว่าเมืองเก่ามาก กำแพงเมืองใหม่นี้ก่ออิฐถือปูน มีใบเสมาเหมือนกับกำแพงกรุงเทพฯ แต่มีขนาดเล็กกว่า

การย้ายเมืองอีกครั้งของราชบุรี ปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนี้ย้ายเพราะการจัดระเบียบการปกครองใหม่เป็นแบบมณฑล โดย พ.ศ. 2438 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ (เทศ บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นยังคงเป็นพระยาสุรินทรฦาไชย มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรก 

เมื่อท่านได้มาอยู่ที่ราชบุรี ก็ได้ตั้งบัญชาการอยู่ที่ตึกของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง จน พ.ศ. 2440 ได้ย้ายศาลากลางจังหวัด ที่อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำ มาอยู่รวมกับศาลาว่าการมณฑลทางขวา 

ทำให้เมืองราชบุรีได้ย้ายมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง และมีการสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 จนปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้ก็ยังใช้เป็นศาลากลางจังหวัดราชบุรีอยู่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เมืองราชบุรี. [ม.ป.ท.]:โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2509. สืบค้นเมื่อวันที่ 1966. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:983.

https://www.finearts.go.th/fad1/view/13096-ประวัติความเป็นมาของจังหวัดราชบุรี

https://www.matichon.co.th/prachachuen/daily-column/news_1106730


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2567