ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ห่างออกไปราว 33 กิโลเมตร จากชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล เป็นที่ตั้ง เกาะเกมาดา กรานเด (Queimada Grande) ที่นี่ไม่ได้เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ตรงกันข้ามอาจเป็นฝันร้ายของผู้ไปเยือน เพราะเกาะนี้คือ “เกาะอสรพิษ” แหล่งที่อยู่อาศัยของงูสายพันธุ์เฉพาะถิ่นหลายพันตัว จึงขึ้นแท่นหนึ่งในเกาะอันตรายที่สุดของโลกไปอย่างไร้ข้อสงสัย
“เกาะอสรพิษ” ที่ไม่มีใครอยากไปเยือน (?)
เกาะเกมาดา กรานเด มีพื้นที่ 43 เฮกตาร์ หรือราว 430,000 ตารางเมตร สภาพเกาะเต็มไปด้วยโขดหิน แต่ก็มีพื้นที่ป่าสีเขียวกระจายตัวอยู่ทั่วไป
เกมาดา กรานเด เป็นแหล่งของ “งูโกลเดนแลนซ์เฮด” (Golden Lancehead) งูพิษสายพันธุ์เฉพาะถิ่น จัดอยู่ในวงศ์ย่อยงูหางกระดิ่ง พบที่นี่ที่เดียวในโลก
ประมาณกันว่า พวกมันมีราว 2,000-4,000 ตัว (ที่จำนวนดูห่างกันถึง 2 เท่าแบบนี้ เพราะไม่มีใครเสี่ยงไปนับแบบเป๊ะๆ แน่นอน) เมื่อโตเต็มวัยแล้วจะมีความยาวราว 70-120 เซนติเมตร
หลายคนอาจเกิดคำถามว่า แล้วงูชนิดนี้มาติดเกาะได้อย่างไร? คำตอบคือ งูโกลเดนแลนซ์เฮดไม่ได้มาจากไหน แต่อยู่ที่นี่มาแล้วกว่า 11,000 ปี เมื่อโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จึงตัดขาดพื้นที่ส่วนนี้ออกจากแผ่นดินใหญ่ไปโดยปริยาย
อาหารของงูโกลเดนแลนซ์เฮดคือนก ที่ระหว่างอพยพย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาล ก็จะแวะพักที่เกาะนี้ เมื่องูเห็นนกก็เหมือนเห็นเหยื่ออันโอชะ ซึ่งพิษของพวกมันสามารถทำให้นกตายได้ในเวลาอันรวดเร็ว
สำหรับมนุษย์แล้ว พิษของงูโกลเดนแลนซ์เฮดมีผลทำให้ไตล้มเหลวฉับพลัน เกิดภาวะเลือดตกใน เนื้อเยื่อตาย กระทั่งเสียชีวิตภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยก็พบว่า พิษของมันมีประโยชน์ จึงนำมาศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นยารักษาโรคหัวใจและลิ่มเลือด
เกาะไร้มนุษย์
เกาะเกมาดา กรานเด ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่ราวทศวรรษ 1920
มีตำนานเล่าว่า ช่วงนั้นมีครอบครัวหนึ่งอาศัยบนเกาะนี้ ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวทำหน้าที่ดูแลประภาคาร แต่แล้ววันหนึ่งงูจำนวนมากก็บุกเข้ามาทางหน้าต่าง และรุมกัดชายรายนั้นจนเสียชีวิต ภรรยาและลูกๆ 3 คน ต่างตกใจวิ่งหนีเอาตัวรอดไปยังเรือที่จอดเทียบท่า แต่ท้ายสุดก็เสียชีวิตทั้งหมด เพราะถูกงูที่อยู่บนกิ่งไม้ฉกกัด
เกาะงูพิษแห่งนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือบราซิล และเป็นพื้นที่หวงห้าม ไม่ให้ใครเข้าไปอย่างเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำการศึกษาวิจัย
เหตุผลหลักๆ เพื่อป้องกันผู้ไปเยือนจากความตาย ที่บรรดางูโกลเดนแลนซ์เฮดสามารถมอบให้ได้ในเสี้ยววินาที และอีกเหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เพื่อปกป้องงูจากอันตรายภายนอก ที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของพวกมัน เพราะงูโกลเดนแลนซ์เฮดพบได้ที่นี่ที่เดียวบนโลก
แม้กองทัพเรือบราซิลจะประกาศไม่ให้ใครบุกรุกขึ้นไปบนเกาะ แต่ก็ยังมีพวกลักลอบล่าสัตว์แอบไปยังเกาะเกมาดา กรานเด เพื่อขโมยงูโกลเดนแลนซ์เฮดออกมาขายในตลาดมืด ซึ่งขายได้ราคาดีเสียด้วย
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ปัจจุบันจำนวนงูโกลเดนแลนซ์เฮดบนเกาะน่าจะมีจำนวนลดลง เป็นผลจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โรคภัยต่างๆ การผสมพันธุ์ในพวกเดียวกัน รวมถึงการลักลอบล่าสัตว์
ใครที่อยากเห็นงูโกลเดนแลนซ์เฮดตัวเป็นๆ ไม่ต้องล่าท้าตายไปถึงที่หมายบนเกาะอสรพิษ ถ้าได้ไปเมืองเซาเปาโล (São Paulo) ของบราซิล ก็ไปดูได้ที่สวนงู สถาบันบูตันตัน (Butantan Institute) หรือไปที่สวนสัตว์เซาเปาโล ก็จะได้เห็นงูนี้อย่างใกล้ชิด
อ่านเพิ่มเติม :
- โจวต้ากวาน เผยกษัตริย์เจนละในดินแดนเขมรโบราณ “สมพาส” (ร่วมประเวณี) กับ “งู”
- “ข่ายดักงู” ของสามัญที่ไม่ธรรมดา งูเห่าที่ว่าร้ายหรือชนิดอื่น เจอแค่ตัวเดียวยังโดนดัก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Dr. Clare Asher. BBC. “Snake Island: The bizarre true story of Earth’s most venomous isle”. Accessed 28 August 2024.
Atlas Obscura. “Snake Island (Ilha da Queimada Grande)”. Accessed 28 August 2024.
Sascha Pare. Live Science. “Snake Island: The isle writhing with vipers where only Brazilian military and scientists are allowed”. Accessed 28 August 2024.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2567