“ชื่อแบบฝรั่ง” อะไรบ้าง ที่ใช้เป็น “พระนาม” เจ้านายไทยสมัยรัตนโกสินทร์

ชื่อแบบฝรั่ง
(จากซ้ายไปขวา) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ และหม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์

เมื่อสยามสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เปิดรับโลกตะวันตกมากขึ้น พระนามของเชื้อพระวงศ์ก็เริ่มได้รับอิทธิพลจากชื่อแบบตะวันตก หรือ “ชื่อแบบฝรั่ง” จึงเริ่มปรากฏตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เรื่อยมาจนราวรัชกาลที่ 5 

เจ้านายไทยชื่อแบบฝรั่ง

เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ พระนามแรกที่หลายคนนึกถึงก็คือ “หม่อมเจ้ายอชวอชิงตัน”

หม่อมเจ้ายอชวอชิงตัน (พ.ศ. 2381-2428) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาเอม ประสูติในสมัยรัชกาลที่ 3

พระนามนี้พระราชบิดาเป็นผู้พระราชทาน คนทั้งหลายเรียกพระนามว่า “ยอด” เมื่อรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชสมบัติ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ บวรราโชรสรัตนราชกุมาร

เหตุที่พระบาทสมเด็จปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามพระโอรสองค์โตว่า “ยอชวอชิงตัน” ตามชื่อของ จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรกสหรัฐอเมริกา ด้วยพระองค์ทรงสนพระทัยในวิทยาการสมัยใหม่ของชาวตะวันตก ตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์

พระองค์ต่อมาที่มีพระนามตามแบบตะวันตก คือ พระองค์เจ้าหญิงบีเอตริศภัทรายุวดี (พ.ศ. 2419-2457) พระนามเดิม พระองค์เจ้าภัทรายุวดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาแสง ซึ่งภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบีเอตริศภัทรายุวดี

เชื้อพระวงศ์อีกพระองค์ที่มีพระนามอย่างฝรั่ง คือ หม่อมเจ้าอ๊อศคาร์นุทิศ หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ (พ.ศ. 2426-2478) พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ (พระโสทรานุชาในรัชกาลที่ 5) ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์สว่าง

รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระนามว่า “อ๊อศคาร์นุทิศ” ตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าออสการ์ที่ 2 แห่งสวีเดน เพื่อเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์ที่เจ้าชายออสการ์ เบอร์นาดอตต์ เคานต์แห่งวิสบอร์ก พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าออสการ์ที่ 2 เสด็จฯ เยือนสยาม

นอกจากนี้ พระโอรสและพระธิดาในกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ และหม่อมหวน (บุนนาค) จักรพันธ์ุ ณ อยุธยา 2 องค์ ก็ใช้ชื่ออย่างฝรั่ง คือ หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ (พ.ศ. 2449-2526) โดยพระนาม “คัสตาวัส” มาจากภาษาสวีเดนว่า “Gustavus”  และ หม่อมเจ้าลุอิสาณ์ ดิศกุล (จักรพันธุ์) (พ.ศ. 2452-2538) พระนามลำลองว่า “หลุยส์” ตามพระนาม “Louise of the Netherlands” ของสมเด็จพระราชินีในสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 15 แห่งสวีเดนและนอร์เวย์

พระนามของเจ้านายข้างต้นเป็นชื่อแบบฝรั่ง ซึ่งล้วนมีที่มาอันน่าสนใจ เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์โลก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทัศน์ ทองทราย. “ภาพสีน้ำมันรูป ‘ยอร์ช วอชิงตัน’ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ของดีที่กรมศิลป์ควรอวด” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2551

https://www.finearts.go.th/pranakornkeereemuseum

คณะกรรมการฝ่ายเอกสารและจดหมายเหตุฯ. ราชสกุลวงศ์, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. พิมพ์ครั้งที่ 14, 2554.

รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 จัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าลุอิสาณ์ ดิศกุล (จักรพันธุ์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23  สิงหาคม 2567