“มัคคุเทศก์” อาชีพนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ และใครเป็นมัคคุเทศก์คนแรกของไทย

กรมดำรง เสนาบดี มหาดไทย มัคคุเทศก์คนแรกของไทย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

“มัคคุเทศก์” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายความหมายของมัคคุเทศก์ไว้ 2 ความหมาย หนึ่งคือผู้นำทาง, ผู้ชี้ทาง, ผู้บอกทาง หนึ่งคือ ผู้นำเที่ยว บางคนเรียกว่า “ไกด์นำเที่ยว” หรือ “ไกด์” ที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Tourist Guide แล้วใครเป็น “มัคคุเทศก์คนแรกของไทย ?”

ถ้ายึดความหมายว่ามัคคุเทศก์คือ “ผู้นำทาง” โลกนี้ก็คงมีอาชีพมานานแล้ว เมื่อมีการเดินทางติดต่อกันเพื่อการเมือง, การค้า, การศึกษา, สงคราม, ศาสนา ฯลฯ ในเส้นทางที่ไม่ชำนาญ มัคคุเทศก์ก็กลายเป็นความจำเป็นขึ้นมา

แต่ถ้ายึดในความหมายของ “ผู้นำเที่ยว” มัคคุเทศก์ก็ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1841 (พ.ศ. 2384) เมื่อ โธมัส คุก จัดการท่องเที่ยวโดยรถไฟให้กับผู้ที่จะเดินทางจากเมืองเลสเตอร์ (Leicester) ไปประชุมที่เมืองลัฟบะระ (Loughborough) 

กิจการของคุกขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นธุรกิจนำเที่ยวด้วยการท่องเที่ยวแบบเบ็ดเสร็จ ที่รวมสินค้าและบริการไว้ด้วยกัน, จัดทำคู่มือการเดินทางให้กับลูกทัวร์ของตน ขยายเส้นทางท่องเที่ยวไปยังเมืองต่างๆ

ต่อมา ลูกชายของคุกเข้ามาช่วยกิจการ และจดทะเบียนกิจการเป็น “โธมัส คุก แอนด์ ซัน” มีการนำเที่ยวไปสหรัฐอเมริกา, กลุ่มประเทศในตะวันออกไกล, เที่ยวรอบโลก ที่ใช้เวลาเดินทางถึง 222 วัน ฯลฯ

มัคคุเทศก์คนแรกของไทย

สำหรับประเทศไทย “มัคคุเทศก์คนแรกของไทย” อนุมานว่าเป็น “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ปรากฏหลักฐานใน “สาส์นสมเด็จ” ตอนหนึ่งว่า

“…พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ โปรดให้ฉันไปตามเสด็จเป็นมัคคุเทศก์ มีหน้าที่เป็นต้นรับสั่งกะการประพาสที่ต่างๆ ตลอดทางที่เสด็จไป ฉันสนองพระเดชพระคุณชอบพระหฤทัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่นั้นมาจึงทรงพระกรุณาโปรดฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาส แต่ชอบเรียกกันเป็นคำแผลงภาษาอังกฤษว่า Lord Program Maker…”  (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ภาพประกอบเนื้อหา – รัชกาลที่ 5 เสด็จประภาสแหลมมลายูพร้อมคณะผู้ติดตามที่แต่งกายด้วยชุดราชปะแตน

ทั้งยังยกเอาวันที่ 21 มิถุนายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นวันมัคคุเทศก์ไทย และยกย่องพระองค์เป็น “พระบิดาของมัคคุเทศก์ไทย”

สมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการรถไฟ มีพระดำริเรื่องการท่องเที่ยวทางรถไฟ และทรงส่งเรื่องเมืองไทยไปเผยแพร่ในอเมริกา

ปี 2467 มีการจัดตั้งแผนกโฆษณาของการรถไฟขึ้น ทำหน้าที่รับรองและให้ความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทย รวมทั้งการโฆษณาเผยแพร่ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างประเทศ

ปี 2479 การส่งเสริมการท่องเที่ยวยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เสนอโครงการบำรุงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 3 เรื่องด้วยกัน คือ งานโฆษณาชักชวนนักท่องเที่ยว, งานรับรองนักท่องเที่ยว และงานบำรุงสถานที่ท่องเที่ยวและที่พัก

ปี 2492 กรมโฆษณาการ สำนักนายกรัฐมนตรี ทำความตกลงกับกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ขอโอนกิจการการส่งเสริมการท่องเที่ยวของกระทรวงมารวมกับกรมโฆษณาการ  และให้ชื่อส่วนงานว่า “สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว” (ปัจจุบันคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)

เมื่อกิจการการท่องเที่ยวเฟื่องฟูขึ้น มัคคุเทศก์ก็มีบทบาทมากขึ้น มาตรฐานของมัคคุเทศก์ก็เป็นสิ่งจำเป็นตามมา จึงเริ่มมีการอบรมวิชามัคคุเทศก์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2504 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ในระยะแรกผู้ผ่านการอบรมส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ และผู้เป็นมัคคุเทศก์ส่วนมากก็ไม่ได้สนใจที่จะเข้ารับการอบรม 

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มัคคุเทศก์คนแรกของไทย
1 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะประทับอยู่ที่เมืองปีนัง, 2 ทรงมีความสุขกับการอ่านหนังสือ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดร. จิราธร ชาติศิริ. “ความรู้เบื้องต้นสำหรับมัคคุเทศก์ทางประวัติศาสตร์” ใน, หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. “พระประวัติและพระกรณียกิจ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” ใน, ดำรงวิชาการ ฉบับพิเศษ ธันวาคม 2555.

https://www.tat.or.th


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเม่ื่อ 19 สิงหาคม 2567