ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | ภานุพงศ์ สิทธิสาร |
เผยแพร่ |
คลองดำเนินสะดวกนั้นเป็นพื้นที่ทางการเกษตรมาช้านานนับศตวรรษ มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติต่างมาลงหลักปักฐานกันตั้งแต่ก่อนแรกขุดคลองดำเนินฯ กระทั่งปลายทศวรรษ 2400 ถึงต้นทศวรรษถัดมา เมื่อดำเนินการขุดคลองดำเนินฯ แล้วเสร็จ จำนวนประชากรยิ่งหนาแน่นขึ้นโดยลำดับ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในละแวกดังกล่าว จากป่ารกก็ถูกหักร้างถางพงเป็นสวนเตียน จากคลองใหญ่ก็เกิดคลองซอยสาขาแยกออกมาอีกแยะ
ดังพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จผ่านคลองดำเนินฯ เมื่อปี 2452/1909 ทรงรับสั่งว่า
“…ระยะหลัก 1 หลัก 2 จนกระทั่งถึงหลัก 3 เดิมเป็นจากและปรง เดี๋ยวนี้มีจากและปรงเข้าไปไม่ถึงหลัก 1 เป็นไร่นาไปหมด ได้ความว่าดีมาก ตามลำคลองมีตลาดเกิดขึ้นใหม่ถึงสามระยะ นับว่าไม่มีที่ว่าง ว่าคนราชบุรียกลงมาตั้งแถบคลองดำเนิรสะดวกนี้มาก…”
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้คนที่เข้ามาตั้งรกรากบริเวณคลองดำเนินฯ ล้วนทำมาหากินด้วยการยึดอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก เช่น เมื่อปี 2447/1904 มีคำร้องของจีนลี้กำนัน นายมั่วกำนัน จีนแดงผู้ใหญ่บ้าน จีนเละกำนัน นายชุ่มกำนัน และจีนสำปั้นกำนัน ปรากฏอยู่ในเอกสารกรมคลอง กระทรวงเกษตราธิการ ความตอนหนึ่งว่า
“…พวกข้าพเจ้าทั้งนี้เปนคนทำสวนปลูกพริก หอม กะเทียม ถั่วแระ ถั่วโลสง และผลไม้ต่างๆ ได้เคยใช้ไม้ไผ่ ไม้รวก แลเสาใส่แพล่องไปตามในลำคลองทุกปี เพื่อจะได้ไว้สำหรับใช้ทำร้านตากพริก เพาะปลูกพริกหอม [ต้นฉบับใช้คำว่า หอง คงพิมพ์ผิดไป – ผู้เขียน] กะเทียมขายเอาเงินเลี้ยงชีพ”
ถึงตรงนี้ควรกล่าวสักหน่อยว่า เมื่อมีการขุดซ่อมคลองดำเนินฯ และมีการออกกฎข้อบังคับห้ามมิให้แพล่องเข้าคลองนี้เป็นอันขาด จนทำให้ราษฎรเดือดร้อนนั้น พิจารณาดูตามความที่ปรากฏอยู่ นัยหนึ่งคือการกำจัดแพซึ่งหมายถึงพาหนะทางน้ำที่มีขนาดไม่ได้มาตรฐานออกจากทางสัญจร เพราะเวลาแพจะกลับลำหรือจอดเทียบท่า บางครั้งก็เป็นที่ลำบากกีดขวางทางไปมา เรืออื่นๆ จะดำเนินบนคลองดำเนินฯ ไม่สะดวก อีกนัยหนึ่ง แพเป็นพาหนะคนยาก ด้วยต่อขึ้นจากวัสดุและฝีมือที่หาได้ทั่วไป ดังมีคำร้องของจีนเทียม จีนเต็กเงี้ย จีนชง และจีนเอี้ยง จีนผูกปี้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่แถวหลัก 7 ร้องขอไว้อย่างน่าเห็นใจว่า
“ข้าพเจ้าทั้ง 4 คน ได้เปนพ่อค้าขายไม้ต่างๆ ได้เลี้ยงชีพบุตรแลภรรยามาช้านานหลายปีมาแล้ว บัดนี้กระทรวงเกษตรได้มาซ่อมคลองน้ำก็ฤกดีขึ้นกว่าก่อน เรือแพไปมาได้โดยสดวก กับได้ปิดป้ายปากคลองบางนกแขวก ใจความห้ามว่าไม่ให้แพไม้ต่างๆ เข้ามาในคลองเปนอันขาด เพราะฉนั้นพวกข้าพเจ้าคงได้รับความเดือดร้อนอย่างที่สุด เพราะเปนคนขัดสนยากจน พอว่าจะได้ล่องแพไม้ไผ่เข้ามาขายพวกมหาชนในคลองนี้ตามเคยเหมือนเช่นแต่ก่อนมา เจ้าพนักงานรักษาคลองไม่ยอมให้ข้าพเจ้าถอยไม้เข้ามาในคลองค้าขายตามเคย…”
เท่ากับว่าต่อแต่นี้ไป คลองดำเนินฯ จะเป็นพื้นที่ที่รัฐพยายามควบคุมการเข้าออกและจัดเก็บรายได้จากการผ่านด่าน การกีดกันราษฎรผู้ยากไร้ออกจากพื้นที่ที่มีความสำคัญทางการค้า (หมายถึงต้องการเฉพาะเรือที่สามารถเสียค่าธรรมเนียมผ่านด่านได้นั่นแหละ) มีนัยสำคัญยิ่งต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในแถบถิ่นคลองดำเนินฯ เพราะถึงแม้จะมีคลองซอยสาขาให้ลักลอบกระทำตามพฤติกรรมอันคุ้นชินได้ แต่ก็ไม่สามารถกระทำต่อไปโดยสะดวกดังเก่า ราษฎรจำต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดรับกับนโยบายที่รัฐวางไว้
เจ้าของแพจึงเสนอจะยอมเสียค่าธรรมเนียมดีกว่าต้องหาวิธีอื่น อย่างไรก็ดี ใช่ข้อเรียกร้องถึงความเดือดร้อนที่ราษฎรต้องประสบจะไร้ผลเสมอ ท่าทีผ่อนปรนก็เป็นอีกมาตรการที่รัฐเลือกใช้ อาทิ ในคราวปี 2448/1905 หลวงวิจารณ์สาลี เจ้ากรมสารบรรณ กระทรวงเกษตราธิการได้ลงความเห็นต่อข้อเสนอของนายด่านเก็บค่าธรรมเนียมว่า เรือศพและเรือขอทาน ซึ่งไม่อาจก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจใดๆ ควรยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ปรากฏความตามข้อเสนอดังกล่าวตอนหนึ่งว่า
“…ส่วนเรือลำที่บรรทุกศพนั้น หาได้เรียกจอดเฃ้ามาสอบวัดไม่ โดยมีความกลัวแลเกรงจะเป็นที่ติเตียนแก่มหาชนทั้งหลายได้ กับอนึ่งบรรดาเรือพวกที่เที่ยวไปฃอทานเฃ้าออกทางทำนบตอนนอก… เมื่อแจวมาถึงทำนบได้เรียกให้จอดเฃ้ามาสอบวัดแล้ว แลเรียกเงินค่าธรรมเนียม พวกฃอทานได้พากันพูดจาอ้อนวอนต่างๆ ผมฃอทานก็ได้มาพอเลี้ยงชีวิตร์ไป เงินแลอัฐก็หามีไม่… พิเคราะห์ดูแล้วเห็นว่าเป็นคนร่างกายก็พิการ ทั้งโทนแลฉิ่งเครื่องสำหรับฃอทานก็มีจริง บางลำที่มีอัฐก็เสียค่าธรรมเนียมให้ บางลำก็หามีเสียไม่ เป็นที่เดือดร้อนโดยมาก…”
การที่รัฐยกเว้นค่าธรรมเนียมเรือแพบางชนิดก็ด้วยต้องการรักษาภาพลักษณ์ และเห็นว่าไม่มีประโยชน์จะไปรีดเอาเลือดกับปู กระนั้น เรื่องราวของสามัญชนคนธรรมดาที่ยกมาข้างต้นเป็นหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรเพียงบางส่วน ซึ่งพอหาอ่านได้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ครั้นผู้เขียนทบทวนดู เห็นว่าหากไม่ยุติเสียจะมีเนื้อหาหนักไปทางต้องครุ่นคิดตีความหลักฐาน (interpretation) เลยเถิดไปกันใหญ่
ทีนี้จึงจะเก็บความจากคำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ เป็นต้นว่า อาม้าของผู้เขียนมาเล่าสู่กันฟังบ้าง
คนไทยแต่ก่อนใช้ชีวิตอยู่ในกระแสการนับเวลาแบบจันทรคติ คือนับข้างขึ้นข้างแรมตามดิถีโคจรของดวงจันทร์จนครบเดือนคำรบปี หรือทุกวันนี้เราเรียกว่าปฏิทินพระ จะดูวันโกนวันพระทีก็พลิกปฏิทินดูทีหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจคนในอดีตผ่านสำนึกทางเวลาของพวกเขาจึงจำเป็นยิ่ง อาทิ คนดำเนินฯ แต่ก่อนทำไมนัดกันติดตลาดน้ำวันขึ้น/แรม 2, 7 และ 12 ค่ำ ทั้งนี้ก็ด้วยคำนึงถึงช่วงน้ำเกิด-น้ำตาย ตามอิทธิพลของแรงดึงดูดที่โลกกระทำคู่กับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ หากถอยเรือไปตลาดทั้งๆ ที่น้ำแห้งขอดคลองอาจจะกลับบ้านลำบาก
ข้อสำคัญคือ ตลาดประเภทเว้นช่วงทุกๆ 5 วัน ก็เพราะสินค้าที่จะไปแลกเปลี่ยนซื้อขายกันนั้นเป็นสิ่งของที่สามารถเก็บออมถนอมไว้ใช้ในครัวเรือนได้นาน หลายวันทีจึงจะออกไปซื้อหาในตลาด เช่น มะพร้าว ข้าวสาร ถ่าน ฟืน ผิดกับตลาดประเภทนัดกันทุกวัน ซึ่งมักเป็นของสดอย่างเนื้อสัตว์ต่างๆ เป็นต้น
ไพบูลย์ บุตรขันเคยแต่งเพลงไว้ไพเราะมากเพลงหนึ่ง ชื่อว่าเพลงน้ำลงเดือนยี่ ขึ้นต้นว่า “ย่างเดือนสิบเอ็ดน้ำเริ่มไหลนอง พอเดือนสิบสองน้ำในคลองก็เริ่มจะทรง ครั้นถึงเดือนยี่น้ำก็รี่ไหลลง ไหลลง ตกเดือนสามแล้วน้ำก็คงแห้งขอดตลอดลำคลอง”
ช่างจุความบอกเล่าธรรมชาติของน้ำเอาไว้ได้ดีเหลือเกิน น้ำเป็นสิ่งที่คนในอดีตต้องคอยเฝ้าดูว่าเดือนไหนน้ำจะมา เดือนไหนน้ำจะไป เพื่อกำหนดช่วงเวลาทำการเกษตรกรรม คนสวนดำเนินฯ ก็เช่นกัน
เมื่อสมัยอาม้าของผู้เขียนยังเป็นเด็ก หรือราว 80 กว่าปีก่อน พอเดือนสิบสองน้ำทรงก็ตระเตรียมหว่านพืชพรรณที่จะเพาะปลูกในแต่ละปีเอาไว้บนโคกหรือที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง เพาะไว้เดือนหนึ่งก็เข้าเดือนอ้าย กล้าพริก หอม กระเทียมกำลังโตได้ที่ (พริกที่นิยมปลูกคือ พริกมันกับพริกสิงคโปร์ ส่วนหอมชาวจีนเรียกว่าพันธุ์ตั้วอั๊งหรือแดงใหญ่) ถึงเวลาน้ำลดจะลงสวนเหยียบน้ำด้วยการนำระหัดมาวิดน้ำออก แล้วถอนพืชพรรณใส่เข่งวางเทียบในตะกร้าผูกกะเอวลงปักดำบนขนัดสวนเป็นแถวไป
อย่างไรก็ตาม พืชสวนเตียนจะงอกงามดีจำต้องให้คนงานรับจ้างแขกมาผงโถ้ว (โกยดิน) เอาดินขึ้นตลิ่ง พอดินแห้งหน้าดินจะร้าวก็ต้องยาดินให้เรียบไม่มีรอยแตก ส่วนพวกคนงานรับจ้างแขกนั้น เจ้าของสวนต้องเลี้ยงอาหารถึง 5 มื้อ คือ เช้าเลี้ยงข้าวสวย สิบโมงเลี้ยงม้วย (ข้าวต้ม) ตะวันตรงหัวเลี้ยงข้าวสวย บ่ายสามโมงเลี้ยงม้วย และตกหกโมงเย็นเลี้ยงข้าวสวยอีกรอบ ที่เลี้ยงกันหลายมื้อก็ด้วยการโกยดิน ยาดิน เป็นงานเหนื่อยหนัก แม้เลี้ยงบ่อยทว่าได้งานได้การคุ้มค่าแรง
นอกจากพืชสวนค้างพลูอย่างพริก หอม กระเทียม ไปจนถึงพืชตระกูลถั่ว อย่างถั่วคุด ถั่วแระ ยังมีแตงโมปลูกแซมอยู่บนขนัดสวน อาม้าของผู้เขียนเล่าว่าแตงโมมีราคาดี เพราะอาม้ากับอาเจ๊ (พี่สาว) เคยเข้าหุ้นกันทำล้งรับซื้อแตงโมจากคนสวนมาขายให้กับพวกเรือสุพรรณฯ (เรือเร่มาจากเมืองสุพรรณบุรี) อาเจ๊คนนี้อายุห่างกับอาม้าหนึ่งรอบนักษัตร มีชื่อจีนว่าซิ้วฮวย เป็นคนแคล่วคล่องขยันขันแข็ง เปิดทั้งล้งแตงโม แจวเรือไปบรรทุกข้าวสารจากนครไชยศรีมาขาย พายเรือขายกล้วยแขกยามค่ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ตลอดจนเป็นนายหน้าหาคนมารับจ้างแขกเก็บผลผลิตตามสวนคลองดำเนินฯ เรียกได้ว่าหากเห็นช่องทางสร้างรายได้ตรงไหนไม่ลำบากเกินตัวเป็นอันทำหมด
ในระหว่างเดือนอ้ายถึงเดือนสาม คนสวนต้องหมั่นดูแลดายหญ้า ตัดแต่งพืชพรรณ พรวนดินใส่ปุ๋ย และฉีดยากำจัดศัตรูพืชบนขนัดไม่ให้เสียหาย ปุ๋ยที่ใช้มีตั้งแต่คูถค้างคาว ปุ๋ยขาวหรือปุ๋ยยูเรียคล้ายน้ำตาลทรายช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้แก่พืช อย่างต้นพริกต้องใส่เต้โคหรือเมล็ดละหุ่งตำละเอียดผสมกับแร่ธาตุสารอาหารหลายชนิดที่ซื้อหาได้จากคลองใหญ่ คลุกเคล้ารวมกันนำมาปั้นจนมีลักษณะเป็นแผ่นสำหรับสับใส่ดินระหว่างต้นพริกแล้วใช้ไม้ตำลงไปในดิน ครั้นรดน้ำก็จะละลายกลายเป็นอาหารของต้นพริก นอกจากนี้ ชาวจีนยังใช้โล่ติ๊นหรือหางไหล ไม้เถาชนิดหนึ่งมาทำยากำจัดศัตรูพืช โดยนำเถาและรากโล่ติ๊นมาตำคั้นเอาน้ำ ซึ่งมีสีขาวข้นราวกับน้ำกะทิ
วิธีฉีดน้ำยาก็ใช้กระบอกสูบทำจากทองเหลือง ดีบุก หรืออะลูมิเนียม (คนสวนดำเนินฯ มักออกเสียงว่าปิเนียม) สูบน้ำยาจากถังฉีดพ่นให้ทั่วขนัดสวนพริก น้ำยาโล่ติ๊นนอกจากใช้กำจัดศัตรูพืชจำพวกหนอนหรือแมลงแล้ว ละอองน้ำยาที่ปลิวไปลงบนผิวน้ำยังกลายเป็นยาเบื่อปลาให้มาลอยหัวเมาฤทธิ์ยาอยู่เหนือน้ำ อาม้าของผู้เขียนเล่าว่าพวกเด็กๆ จะสนุกกับการใช้สวิงช้อนปลามาขังน้ำให้หายเมาเสียก่อนค่อยเอาลงท้อง ทั้งนี้ น้ำยาโล่ติ๊นมีสาร rotenone ที่สามารถสลายไปหากถูกความร้อนหรือแสงแดด แม้จะมีอันตรายต่อคนและสัตว์ แต่คนสวนดำเนินฯ เมื่อก่อนจะได้รับพิษบ้างก็คงไม่มาก เพราะผู้เขียนเห็นว่าล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศาต่างอยู่กันมาจนคุ้มแก่กันแทบทุกคน
เมื่อเข้าเดือนสี่อันเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ใช่ว่าคนสวนดำเนินฯ จะช่วยกันเอาแรงเก็บพริก หอม กระเทียมได้จากจำนวนคนในครอบครัว เพราะลำพังกำลังการผลิตที่มีอยู่น้อยนิดหากเทียบกับจำนวนที่ดินเฉลี่ยบ้านละประมาณ 10-30 ไร่ จะพอก็แค่ตอนลงสวนเพาะปลูกดูแล (บางทีไม่พอยังต้องไปจ้างเขาลงปักกล้าพริก หอม กระเทียม ขุดดิน โกยดินสารพัด) ด้วยเหตุว่าไม่ได้ทำงานดังกล่าวแข่งกับเวลาเท่าตอนเก็บเกี่ยว หากปล่อยให้ล่าช้าไปพืชพรรณจะเน่าเสียหมดราคา
ดังนั้น จึงมีอาชีพม่อเท้าหรือนายหน้าหาคนงานรับจ้างแขก (agents) อย่างเช่น อาเจ๊ของอาม้าผู้เขียน พอถึงหน้าต้องเก็บเกี่ยว บรรดาแรงงานจากทางตำบลบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีอาชีพทำนาจะเทครัวจับเรือเมล์มาคลองดำเนินฯ เพื่อรับจ้างแขกเก็บพืชสวนเตียน โดยจะไปหาม่อเท้าที่เคยร่วมงานด้วย ให้เป็นฝ่ายจัดสรรทรัพยากรบุคคลส่งไปตามสวน วันนี้เก็บสวนนี้ มะรืนเก็บสวนนั้น
ส่วนเรื่องการกินอยู่ของพวกคนงานรับจ้างแขกเขาจะขนเอามาทำกินกันเองอยู่กับบ้านเจ้าของสวน มีเตาลูกเล็กๆ หม้อใบกำลังดี ข้าวสารหุงกินได้สัก 3 เดือน มุ้งหลังพอกางนอนใต้ถุนเรือน เท่านี้ก็อยู่เก็บพริก หอม กระเทียมไปจนบางทีจวนย่างเข้าเดือนหก ฝนจะตกพรำๆ คนสวนไม่มีเวลามาร้องงึมงำ เพราะต้องเก็บเกี่ยวให้ทันแก่กาล อย่ากระนั้นเลย
ครั้นเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ บ้านไหนปลูกพริกต้องตระเตรียมลานไว้สำหรับตากพริก (หากไม่ใช้วิธีการตาก คนสวนดำเนินฯ จะย่างพริกโดยการตั้งร่างร้านก่อฟากมุงหลังคาเอาไฟสุมข้างใต้ให้พริกสุกแห้ง วิธีนี้เป็นวิธีโบราณเต็มที เพราะทำกันตั้งแต่อาม้าของผู้เขียนยังไม่เกิด) อย่างบ้านของอาม้าผู้เขียน พอถึงคราวก็หาเช่าเรือมาดตามโรงเลื่อยในคลองใหญ่ เช่น โรงเลื่อยตาเจ๊กเต่า ตาเจ๊กเค้งอึน ตกเย็นก็ออกแจวเรือมาดมุ่งไปทางวัดจันทคาม ตำบลคุ้งน้ำวน เพื่อโกยทรายตรงสันดอนหน้าวัดลงเรือมาทำลานตากพริก ราวครึ่งคืนหรือใกล้รุ่งจึงกลับถึงบ้าน
เมื่อถึงแล้วก็ช่วยกันเอาบุ้งกี๋โกยทรายถ่ายเทมาไว้บริเวณลานโล่งหน้าบ้าน ทำเป็นลานทรายสำหรับหว่านพริกที่เพิ่งเก็บ กรรมวิธีต่อจากนี้คือตากพริกให้แห้ง หากอากาศเป็นใจแดดจัดๆ ตากไว้สักวันครึ่งก็รวมพริกเข้าเป็นกองเอากระสอบคลุมเหยียบพริกบ่มให้มันสุก ตากต่อไปอีกราวสี่ซ้าห้าวันจะใช้เคาเป๊หรือไม้เกาพริกครูดพริกแยกออกจากทรายมารวมไว้เป็นกอง ทีนี้บ้านไหนใครใคร่ค้าพริกค้า เพราะจะมีคนมารับซื้อชั่งใส่เข่งไปขายแถวคลองมหานาค จักรวรรดิ ท่าเตียน ในพระนครโน่น
ส่วนใครใคร่เก็บพริกแห้งไว้เก็บ เพราะใช่แต่จะเก็บเกี่ยวเพียงสวนเดียวเสียเมื่อไร สวนไหนๆ พอถึงคราวก็เก็บเกี่ยวพร้อมกันหมด ราคาพริกแห้งจึงถูกแสนถูกไม่มีใครมารับจำนำราคา ทำให้เตี่ย (พ่อ) ของอาม้าผู้เขียนซึ่งท่านมิได้เดือดร้อนเรื่องเงินทอง เลือกที่จะเก็บพริกแห้งไว้รอขายตอนพริกหมดต้นอีก 3-4 เดือนข้างหน้า
การเก็บรักษาพริกแห้งนั้นคนสวนดำเนินฯ จะทำเตี๋ยมหรือพ้อมขนาดใหญ่สานจากไม้ไผ่รวกไว้บนบ้าน ไม่ผิดกับยุ้งฉางเก็บข้าว (เมื่อก่อนทางดำเนินฯ นอกจากทำสวนเตียนแล้วยังปลูกข้าวบนขนัดสวนไว้กินเอง แต่ด้วยผลผลิตที่ได้ไม่สู้ดีเท่าซื้อเขากิน ชะรอยเมื่อการคมนาคมขนส่งข้าวจากแหล่งอื่นสะดวกขึ้นจึงยุติการปลูกข้าวไปโดยปริยาย) แล้วขนพริกแห้งมาใส่ในเตี๋ยมเอาเกลือโรยถนอมไม่ให้เกิดความชื้นเชื้อราจับ และหากจำเป็นต้องใช้เงิน ก็เรียกคนรับซื้อมาชั่งใส่เข่งไป
ฤดูกาลเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นลง ก็เข้าเดือนเจ็ดย่างเดือนแปด ใกล้พรรษาน้ำหลาก คนสวนดำเนินฯ จะทำการขี่เต้ย (กลับหน้าดิน) ก่อนที่น้ำเหนือจะไหลนองมาท่วมขนัดสวน ช่วงนี้เองที่คนสวนว่างงาน จึงออกไปทำบุญที่วัดบ้าง พายเรือเที่ยวเล่นตามงานศาลเจ้าบ้าง และอยู่บ้านเย็บกระทงใบตองแห้งไว้สำหรับใช้เพาะพืชพรรณเมื่อถึงคราวน้ำลดต้องลงสวน
อย่างไรก็ตาม มีกิจกรรมน่าสนุกที่อาม้าของผู้เขียนเล่าให้ฟังว่า ถึงหน้าน้ำหลากทีไรก็เตรียมตัวได้ไปเที่ยวทุ่งอรัญญิก (เขางู) และเขาช่องพรานเพื่อแลกฟืนไม้สะแก ซึ่งบริเวณดังกล่าวคราวน้ำหลากท่วมทุ่งจะกลายเป็นทะเลสาบพายเรือไปได้สบาย โดยอาม้าของผู้เขียนกับเตี่ยและแม่จะแจวเรือที่บรรทุกพริกแห้ง หอม และอ้อยออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดไปทางคลองใหญ่ แล้วเลี้ยวเข้าคลองพญาไม้อันเป็นคลองลัดไปราชบุรี รอดใต้สะพานรถไฟมุ่งหน้าไปทางทุ่งอรัญญิกเลยจนถึงเขาช่องพราน ครั้นถึงที่หมาย ชาวบ้านละแวกนั้นส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาก็จะออกไปตัดฟืนไม้สะแกมาแลกพริกแห้ง หอม และอ้อยจากคนสวนดำเนินฯ ขากลับ ต้องแจวเรือผ่านหอนาฬิกาในตัวจังหวัดราชบุรีที่มีด่านทางการตั้งอยู่
เตี่ยของอาม้าผู้เขียนจะแจ้งว่าฟืนไม้สะแกนี้ได้มาแต่ท่อนเล็กท่อนน้อย ตัวกระผมพาลูกเมียขนเอาของสวนมาแลกของไร่กลับไปใช้เพียงในครัวเรือน มิได้ตั้งใจนำไปเร่ค้าหากำไร นายด่านจึงอนุญาตให้แจวเรือผ่านต่อไปได้โดยไม่เรียกเก็บภาษีหรือค่าภาคหลวงแต่อย่างใด ใช้เวลา 3-4 วัน กินนอนอยู่บนเรือกว่าจะถึงบ้าน แต่ได้พบเห็นชีวิตนอกสวนคลองดำเนินฯ ได้แลกเปลี่ยนทั้งข้าวของและมิตรภาพ เป็นความทรงจำดีๆ ที่ยังคงแจ่มชัดเมื่ออาม้าของผู้เขียนหวนนึกถึง
หน้าน้ำหลากผ่านพ้นไปอีกคำรบ เทศกาลทั้งสารทจีน ไหว้พระจันทร์ และกินเจก็เวียนมาอีกหนหนึ่ง คนสวนดำเนินฯ มีวงจรชีวิตสาละวนอยู่กับการทำสวนเช่นนี้มาจำเนียรกาล ตั้งแต่ครั้งยังปลูกพืชสวนเตียน จนเริ่มนำพืชชนิดใหม่ๆ เข้ามาปลูก เช่น องุ่น อาเฮียของอาม้าผู้เขียน (พี่ชายร่วมแม่เดียวกันแต่คนละเตี่ย) มีชื่อจีนว่าเม่งกังหรือบุญส่ง นันตะสุพรรณ เป็นผู้ทดลองปลูกองุ่นก่อนใครเพื่อน คือราวก่อนกึ่งพุทธกาลเล็กน้อย
การปลูกองุ่นนั้นไม่ใช่ทำกันง่ายๆ ต้องหมั่นดูแล พอออกผลก็ต้องซอยผลเล็กออกไม่ให้เบียดกัน ผลองุ่นจะได้โต ครั้นเลิกนิยมองุ่นแล้วก็เริ่มลงพุทราพันธุ์เหรียญทอง และบอมเบย์ หมดยุคพุทราก็เป็นฝรั่ง และละมุดมาโดยลำดับตามความต้องการของตลาด กระทั่งในปัจจุบัน สวนเตียนดำเนินสะดวกมีพืชพรรณไม่รู้กี่ชนิดปลูกเพื่อป้อนตลาดทั้งภายในและส่งออกนอกประเทศ สร้างรายได้ให้คนสวนดำเนินฯ พอเลี้ยงชีพจากการทำเกษตรกรรม แม้บางครั้งบางคราโชคชะตาและดินฟ้าอากาศจะเล่นตลกให้มีอันต้องขาดทุนบ้าง แต่นี่แหละชีวิตคนเรา ต้องเปลี่ยนแปรแก้ไขไปตามสถานการณ์ที่เผชิญ
ดังเล่าเรื่องยืดยาวมาทั้งหมดก็เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพชนคนทำสวนคลองดำเนินสะดวก ที่ได้แผ้วถางแผ่นดินถิ่นเกิด บุกเบิกร่องสวนทำกินมาด้วยความยากลำบาก ก่อร่างสร้างตัวตนและพื้นที่แห่งชีวิตไว้ให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2562