ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“เขื่อนอู่ทอง” เขื่อนดินโบราณที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองโบราณอู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร มีความยาว 1,660 เมตร กว้างประมาณ 35 เมตร สันเขื่อนกว้าง 10-12 เมตร สูงประมาณ 4-5 เมตร มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16 อันเป็นช่วงเวลาที่อู่ทองเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าและศาสนาของเมืองในกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดี
(ดูตำแหน่งเขื่อน คลิก)
การศึกษา “เขื่อนอู่ทอง”
เขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนโบราณลำดับที่ 6 ที่มีการค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2535 ว่าที่ร้อยตรีพิทยา ดำเด่นงาม ผู้ค้นพบและศึกษาพบว่าตัวเขื่อนวางอยู่ในแนวเหนือใต้ ค่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย ตั้งอยู่ระหว่างเขา 2 ลูก คือเขาโกปิดทองกับเขาตาแก้ว (ตาเก้า) กั้นแอ่งที่ราบระหว่างหุบเขาเป็นลักษณะแอกวัว (Oxbow) ที่ราบลุ่มทางตะวันตกของเขื่อนซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่าคือพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อน ส่วนทิศตะวันออกเป็นพื้นที่รับน้ำใต้เขื่อน
จะเห็นว่าตัวเขื่อนนั้นอยู่ระหว่างภูเขา แหล่งกำเนิดน้ำตามธรรมชาติ เพราะฝนที่ตกลงมาบนภูเขาซึ่งเป็นพื้นที่ลาดเท แถมมีสันเขาเป็นรูปแอกวัวจะรับน้ำได้มาก ระหว่างเขาโกปิดทองและเขาตาแก้วจึงเป็นทำเลเหมาะสมสำหรับสร้างเขื่อนโบราณเมืองอู่ทอง
ว่าที่ รต. พิทยา ได้จัดทำแผนผังรายละเอียดเมื่อ พ.ศ. 2541 ก่อนจะถูกประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2545 ครอบคลุมพื้นที่ 265 ไร่ 2 งาม 31 ตารางวา รวมแนวคันดินตั้งแต่เชิงเขาโกปิดทองทางเหนือไปถึงเจดีย์บนยอดเขาตาแก้ว
จากการศึกษาพบว่า เขื่อนดินโบราณแห่งนี้เป็นเขื่อนกั้นน้ำที่มีปริมาณน้ำมากที่สุด ในอดีต น้ำจากเขื่อนใช้ทำนาในที่ราบลุ่มทางทิศตะวันออก ปัจจุบันแม้ตัวเขื่อนไม่ได้ถูกใช้กักเก็บน้ำอีกต่อไปแล้ว แต่มรดกที่หลงเหลือยังใช้ประโยชน์ได้ ดังจะเห็นลำคลองชลประทานที่ขุดลอกเพิ่มเติมจากแนวคลองโบราณไปยังทิศตะวันออกของเมืองโบราณอู่ทอง ห่างออกไปราว 5 กิโลเมตร
ส่วนสันเขื่อนได้กลายเป็นถนนทางเข้าบ้านตาแก้ว มีบ้านเรือนประชาชนตั้งอยู่ประปรายตลอดแนวเขื่อน และทั้งสองฝั่งของเขื่อนกลายเป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกพืชไร่ไปแล้ว
ภูมิปัญญาการจัดการน้ำของเมืองโบราณอู่ทอง
บริเวณเมืองโบราณอู่ทองเป็นพื้นที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยมาแต่โบราณ ตัวเมืองอยู่ทางตะวันตกของลำน้ำจระเข้สามพัน ตั้งอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ ห่างจากตัวเมืองราว 1 กิโลเมตร เป็นแนวทิวเขายาวจากทิศเหนือจรดใต้ เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและต้นกำเนิดลำน้ำหลายสายที่ไหลมาสู่คูเมือง
นอกจากอู่ทองจะมีระบบสาธารณูปโภคและการจัดการน้ำที่มีระบบแล้ว ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองยังมีแนวคันดินที่เรียก “ถนนท้าวอู่ทอง” ซึ่งเป็นคันดินกั้นน้ำหรือบังคับให้น้ำไหลออกสู่ลำน้ำเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก หรือกันน้ำให้ไหลเข้าเมืองในหน้าแล้ง รวมถึงแนวคันดินที่เรียกว่า “คอกช้างดิน” สิ่งก่อสร้างประเภทหินที่คล้ายอ่างเก็บน้ำมาเก็บกักไว้ และกระจายอยู่ตามลำห้วยในพื้นที่ต่างระดับ
ทั้งถนนท้าวอู่ทอง คอกช้างดิน และเขื่อนโบราณเมืองอู่ทอง จึงเป็นระบบจัดการน้ำของคนโบราณตามแนวเหนือ-ใต้ของทิศตะวันตกเมืองอู่ทอง โดยเฉพาะเขื่อนดินที่ช่วยชะลอน้ำที่จะไหลลงสู่เมืองในฤดูน้ำหลาก และเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง
ถือเป็นการสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำของคนเมืองอู่ทอง ในวัฒนธรรมทวารวดี แสดงถึงภูมิปัญญาของคนเมื่อ 1,000 ปีก่อน และทำให้เขื่อนอู่ทองเป็นเขื่อนโบราณที่ยาวที่สุดเท่าที่มีการค้นพบในประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติม :
- สรีดภงส-ทำนบพระร่วง เขื่อนอายุกว่า 700 ปี ของสุโขทัย (?)
- “ถนนพระร่วง” คืออะไรกันแน่ ถนน คลอง หรือคันดินกั้นน้ำ ?
- ย้อนรอยเมืองอู่ทอง แหล่งความเจริญในยุคโบราณจากเส้นทางการค้าและศาสนา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พิทยา ดำเด่นงาม. (ไม่ระบุปีพิมพ์). เขื่อนกั้นน้ำโบราณในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
พยุง วงษ์น้อย. เขื่อนอู่ทอง : เขื่อนสมัยทวารวดีที่ยาวที่สุดในบรรดาเขื่อนโบราณที่พบในประเทศไทย. นิตยสาร ศิลปากร ฉบับเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2559.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2567