ใครเป็นเจ้าของ “ซาน โฆเซ” เรือมหาสมบัติมูลค่าสูงสุดในโลก ที่ถูกค้นพบหลังอับปางกว่า 300 ปี?

เรือมหาสมบัติ ซาน โฆเซ
ภาพวาดเรือซาน โฆเซ ถูกโจมตีเมื่อปี 1708 โดยแซมวล สก็อต (Samuel Scott) / ภาพจาก Wikimedia Commons

เรือโบราณที่จมลงสู่ท้องทะเลพร้อมสมบัติมูลค่ามหาศาล รอวันถูกค้นหาและครอบครอง ไม่ได้อยู่แค่ในนิทาน เพราะในศตวรรษที่ 21 เรื่องราวนี้มีอยู่จริง อย่าง เรือมหาสมบัติ ซาน โฆเซ (San José) ที่เป็นความลับแห่งห้วงมหาสมุทรมานานกว่า 3 ศตวรรษ เปรียบเสมือน “จอกศักดิ์สิทธิ์” ที่สูญหายก็ว่าได้ กระทั่งมีการค้นพบเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ซึ่งด้วยทรัพย์สมบัติสุดอลังการ ทั้ง เงิน หยก ทอง อัญมณี รวมแล้วกว่า 200 ตัน ทำให้หลายชาติต่างอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ เรื่องราวนี้เป็นมาอย่างไร?

เรือมหาสมบัติ ซาน โฮเซ

ซาน โฮเซ เป็นเรือใบ 3 เสากระโดงของสเปน มีความยาว 150 ฟุต ติดตั้งปืน 64 กระบอก บรรทุกสิ่งมีค่า อาทิ เงิน หยก ทอง กว่า 200 ตัน รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วยกระเบื้องจากจีน

เหตุที่ต้องบรรทุกสิ่งของมีค่ามาเต็มพิกัดขนาดนี้ ก็เพื่อนำมาเป็นทุนใน สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน (The War of the Spanish Succession) ซึ่งเป็นความขัดแย้งในยุโรป กินเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1701-1714

แต่ขณะที่เรือซาน โฆเซ กำลังมุ่งหน้ากลับสเปนในปี 1708 ก็ถูกกองเรืออังกฤษระดมยิง จนกระทั่งเรือและผู้ที่อยู่บนเรือราว 600 ชีวิต จมลงสู่มหาสมุทรในน่านน้ำโคลอมเบีย ซึ่งเป็นช่วงที่ พระเจ้าเฟลิปเปที่ 5 ครองราชบัลลังก์สเปน

พระเจ้าเฟลิเป ที่ 5 สเปน เรือมหาสมบัติ ซาน โฆเซ
พระเจ้าเฟลิเปที่ 5 แห่งสเปน (ภาพ : Wikimedia Commons)

เรือซาน โฆเซ จึงนอนนิ่งอยู่ในท้องทะเลมานับแต่นั้น โดยไม่มีผู้ใดค้นพบ มีเพียงตำนานที่เล่าขานถึงทรัพย์สมบัติมหาศาล ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้ในพริบตา

เวลาล่วงเลยกว่า 3 ศตวรรษ ในที่สุดโคลอมเบียก็ค้นพบซากเรือนี้ในปี 2015 ลึงลงไปราว 600 เมตร บริเวณใกล้กับเมืองการ์ตาเฮนา (Cartagena) เมืองท่าขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของโคลอมเบีย

ตอนนั้นจุดที่เจอถูกเก็บเป็นความลับเพื่อป้องกันนักล่าสมบัติ และมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สมบัติในเรือไว้สูงถึง 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นเรือมหาสมบัติที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกเท่าที่มีการค้นพบ

การค้นพบเรือที่อับปางไปนานหลายร้อยปียิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ถึงขั้นที่ ฆวน มานูเอล ซานโตส (Juan Manuel Santos) ประธานาธิบดีโคลอมเบียขณะนั้น บอกว่า “นี่คือสมบัติที่มีมูลค่ามากสุดเท่าที่มีการค้นพบในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติเลยทีเดียว”

แม้จะพบเรือมหาสมบัติ ซาน โฆเซ ตั้งแต่ปี 2015 แต่กว่าจะใช้หุ่นยนต์ลงไปสำรวจเรือและพื้นที่โดยรอบก็เดือนพฤษภาคม ปี 2024 ซึ่ง กุสตาโว เปโตร (Gustavo Petro) ประธานาธิบดีโคลอมเบียคนปัจจุบัน ตั้งใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกู้ซากเรือให้ได้ ก่อนเขาจะพ้นวาระในปี 2026

นอกจากทรัพย์สินมีค่าต่างๆ แล้ว ยังค้นพบโบราณวัตถุใหม่ๆ อย่าง สมอ ขวดแก้ว กระโถนใส่ของเสีย ฯลฯ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาในแง่มุมต่างๆ อีกด้วย

เรือมหาสมบัติ ซาน โฆเซ
ปืนใหญ่ของเรือซาน โฆเซ ที่จมอยู่ใต้ท้องทะเล (ภาพโดย Colombian Ministry of Culture ใน https://www.whoi.edu/press-room/news-release/new-details-on-discovery-of-the-san-jose-shipwreck/)

ใครเป็นเจ้าของเรือซาน โฮเซ?

เรือมหาสมบัติ ซาน โฆเซ เป็นเรือสเปน จมลงในน่านน้ำโคลอมเบีย งานนี้จึงเกิดการอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของเรือเกิดขึ้น

สเปน อ้างสิทธิว่า เรือซาน โฆเซ เป็น “เรือแห่งรัฐ” หมายความว่าเรือและทุกสิ่งที่อยู่บนเรือเป็นของสเปน และสเปนคือผู้ปกป้องคุ้มครองสิ่งใดก็ตามบนเรือนั้น อ้างอิงตามกฎข้อบังคับขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อีกทั้งลูกเรือและคนบนเรืออีกเกือบ 600 คน ก็เป็นพลเมืองสเปน ดังนั้นเรือซาน โฆเซ ต้องเป็นของสเปนอย่างไม่มีข้อสงสัย

ส่วน โคลอมเบีย ก็อ้างว่า กฎหมายทางทะเลแบบเก่าระบุว่า หากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นถูกเจ้าของละเลยทิ้งขว้าง ผู้พบสิ่งนั้นคนแรกสามารถอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของได้ อีกทั้งเรือดังกล่าวจมในน่านน้ำของโคลอมเบีย ดังนั้นต้องเป็นของโคลอมเบีย

ในปี 2018 รัฐบาลโคลอมเบียพยายามเปิดประมูลโบราณวัตถุจากซากเรือ เพื่อนำมาเป็นทุนในการกู้ซากเรือ แต่ยูเนสโกเข้าแทรกแซง ด้วยเหตุผลว่า

“การยินยอมให้มีการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากมรดกทางวัฒนธรรมของโคลัมเบีย เป็นการขัดต่อมาตรฐานด้านวิทยาศาสตร์และหลักการสากล โดยเฉพาะอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้น้ำของยูเนสโก”

หลังจากต้านทานเสียงวิจารณ์ไม่ไหว ในที่สุดรัฐบาลโคลอมเบียก็ตัดสินใจให้ซากเรือซาน โฆเซ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวโคลอมเบีย ที่จะมีการบริหารจัดการในฐานะพื้นที่โบราณคดีที่ได้รับความคุ้มครอง แผนการนำโบราณวัตถุจากเรือมาประมูลจึงเป็นอันตกไป

ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะบริษัทกู้เรือสัญชาติอเมริกันชื่อ ซี เสิร์ช อาร์มาดา (Sea Search Armada) หรือ SSA ออกมาบอกว่า เรือซาน โฆเซ ต้องเป็นของพวกเขา เพราะ SSA ค้นพบจุดที่เรืออับปางเป็นรายแรกในปี 1981 อย่างไรก็ตาม ในปี 2011 ศาลสหรัฐอเมริกาตัดสินเรื่องนี้ว่า เรือซาน โฆเซ เป็นสมบัติของโคลอมเบีย

ส่วน “กวารา กวารา” (Qhara Qhara) ชนพื้นเมืองในประเทศโบลิเวีย ก็อ้างสิทธิความเป็นเจ้าของเรือด้วยเช่นกัน โดยบอกว่า สมบัติเหล่านั้นถูกปล้นไปจากพวกเขา ดังนั้นเรือต้องเป็นของกวารา กวารา

จนถึงทุกวันนี้ การอ้างสิทธิเหนือเรือมหาสมบัติ ซาน โฆเซ และทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาลก็ยังไม่มีข้อสรุป แต่ที่แน่ๆ หากการกู้ซากเรือสำเร็จ โลกก็อาจได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสเปน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับดินแดนลาตินอเมริกามากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Leah Sarnoff. “’Most valuable treasure’: $17 billion Spanish shipwreck from 1708 to be recovered”. Accessed 13 August 2024.

Rachel Hagan. “New artefacts found on ‘holy grail of shipwrecks’ off Colombia”. Accessed 13 August 2024.

Jean Querelle. “Who owns the gold of the San José shipwreck?”. Accessed 13 August 2024.

The Guardian. “‘Holy grail of shipwrecks’: recovery of 18th-century Spanish ship could begin in April”. Accessed 14 August 2024.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 สิงหาคม 2567