พระสมเด็จเกษไชโย พระเครื่องชื่อดัง ที่ทำให้คนจำชื่อวัดผิด

พระสมเด็จเกษไชโย
สมเด็จพระเกษไชโย (ภาพจาก พระสมเด็จเกษไชโย พระท่ากระดาน และพระหูยาน, สนพ.มติชน)

พระสมเด็จเกษไชโย เป็นพระเครื่องชื่อดัง ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ สร้างขึ้นเป็นลำดับแรกเมื่อราว พ.ศ. 2400-2405 หากความดังของพระเครื่องนี้ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยจำสับสนเรียกชื่อ “วัดไชโยวรวิหาร” ที่อ่างทอง ว่า “วัดเกษไชโย” 

ที่มา พระสมเด็จเกษไชโย

พระนี้เป็น 1 ใน 3 “พระสมเด็จ” ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้าง ซึ่งอีกสองนั้นประกอบด้วย พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ  และ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม กรุงเทพฯ

วัดไชโยวรวิหาร อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดในภูมิลำเนาของโยมตา-ยายของสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งท่านเองก็เกิดที่นั่น

วัดเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นช่วงปลายรัชกาลที่ 4 เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มาสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ (ภายในบรรจุพระเกษไชโยไว้ด้านใน) ให้ที่วัด 2 ครั้ง

ครั้งแรก สร้างพระพุทธรูปนั่งด้วยวิธีก่ออิฐสอดิน มีขนาดใหญ่โตมาก แต่ไม่นานเท่าใดก็พังทลายลงมา พระเกษไชโยซึ่งอยู่ภายในก็กระจัดกระจายออก บางส่วนมีการนำกลับเข้าไปในองค์พระที่จะบูรณะใหม่ บางส่วนก็มีผู้ยึดครองเป็นการส่วนตัว ถือเป็นกรุแตกครั้งที่ 1

ครั้งที่ 2 ยังคงก่อสร้างด้วยการก่ออิฐสอดินถือปูนขาว ไม่ปิดทอง แม้จะลดขนาดองค์พระลงจากครั้งแรก แต่พระพุทธรูปปางสมาธิที่ตั้งอยู่กลางแจ้งก็ยังมีขนาดใหญ่ เห็นได้แต่ไกล

พ.ศ. 2421 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ผ่านวัดไชโย ทรงมีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า

“…ถึงวัดไชโย ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างพระใหญ่ขึ้นไว้ และเข้าจอดที่นั่น พระราชเสนา พระยาอ่างทอง หลวงยกบัตร มาถวายชั้น ขึ้นไปดูพระ รูปร่างหน้าตาไม่งามเลย แลดูที่หน้าวัดปากเหมือนท่านขรัวโตไม่มีผิด ถือปูนขาวมิได้ปิดทอง…”

พ.ศ. 2430 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร (รอด กัลยาณมิตร) สมุหนายกสำนักราชการกรมมหาดไทย ขึ้นมาเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นใหม่ทั่วทั้งอาราม ระหว่างการก่อสร้างครั้งนี้เกิดแรงสั่นสะเทือน ทำให้พระพุทธรูปที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างไว้พังลงมา

กรุแตกครั้งนี้มีพระเกษไชโยกระจัดกระจายออกมาอีกเช่นกัน นอกจากจะเก็บไว้รอกลับบรรจุเข้าไปเช่นเดิมแล้ว ก็มีผู้นำบางส่วนไปบรรจุไว้ที่พระเจดีย์วัดโพธิ์เกรียบ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง

ส่วนองค์พระพุทธรูปที่พังเสียหายนั้น รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ รับสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ โดยลดขนาดให้เล็กลงอีก และให้มีโครงเหล็กยึดปูนไว้ โดยเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเช่นเดิม แต่ครองจีวรและพาดสังฆาฏิกว้างแบบใหม่ ขนาดหน้าตัก 8 วา 6 นิ้ว สูงสุดยอดพระรัศมี 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2438 พระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์”

พระมหาพุทธพิมพ์ สมเด็จพระเกษไชโย
พระมหาพุทธพิมพ์ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้าง ภายในบรรจุพระเกษไชโย (ภาพจากพระสมเด็จเกษไชโย พระท่ากระดาน และพระหูยาน, สนพ.มติชน)

แน่นอนว่าระยะเวลา 8 ปีนั้น พระเกษไชโยจำนวนหนึ่งหลุดรอดออกสู่ตลาดพระเครื่องด้วย รวมทั้งที่อยู่ในพระเจดีย์ที่วัดโพธิ์เกรียบก็มีคนร้ายไปขุดกรุขโมยออกมา เพราะชื่อเสียงของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ผู้สร้าง

ส่วนชื่อ “วัดไชโยวรวิหาร” คนจำนวนไม่น้อยก็เรียกตามชื่อของพระเครื่องชื่อดังของวัดว่า “วัดเกษไชโย” เรื่อยมา 

สมเด็จพระเกษไชโย
สมเด็จพระเกษไชโย (ภาพจาก พระสมเด็จเกษไชโย พระท่ากระดาน และพระหูยาน, สนพ.มติชน)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พิศาล เตชะวิภาค (ต้อย เมืองนนท์) บรรยาย. กองบรรณาธิการข่าวสด เรียบเรียง. พระสมเด็จเกษไชโย พระท่ากระดาน และพระหูยาน, สำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 สิงหาคม 2567