ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
แม้สมัยกรุงศรีอยุธยา การท่องเที่ยวเพื่อเปิดโลกทัศน์, พักผ่อนหย่อนใจ, พักฟื้นร่างกาย ฯลฯ แบบชาวตะวันตกจะยังไม่เกิดขึ้น แต่คนกรุงศรีก็ท่องเที่ยวเช่นกัน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นชนชั้นผู้นำ โดยมี “รอยพระพุทธบาทสระบุรี” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม มีทั้งการท่องเที่ยวเพื่อความสำราญเป็นหลัก, การท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับการศาสนา ฯลฯ
รอยพระพุทธบาทสระบุรี
ศิลาที่มีรูปลักษณ์คล้ายรอยเท้าของมนุษย์ ค้นพบโดยพรานบุญ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หลังจากเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงมีพระราชศรัทธาโปรดให้ช่างสร้างพระมณฑปยอดเดียวสวมรอยพระพุทธบาท, ทรงอุทิศที่ดินโดยรอบรอยพระพุทธบาทสระบุรีทิศละ 1 โยชน์ เป็นพุทธบูชา และพระราชทานชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งเป็นข้าพระ จนเกิดประเพณีเทศกาลไหว้รอยพระกลางเดือน 3 และเดือน 4
จากนั้นมา การเสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี ก็เป็นพระราชนิยมของราชสำนักอยุธยาสืบเนื่องมา ดังที่ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ, ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์, ฉบับสมเด็จพระพนรัต วัดพระเชตุพน, ฉบับบริติช มิวเซียม และฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวไว้ พอสรุปได้ดังนี้
รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จไปบูชา รอยพระพุทธบาทสระบุรี ที่พรานบุญค้นพบ
รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการ รอยพระพุทธบาทสระบุรี, เสด็จฯ บางปะอิน
รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เสด็จประพาสเมืองนครสวรรค์, พิษณุโลก และเสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระเพทราชา เสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาท
รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จนมัสการพระพุทธชินศรี, เสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี, เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี, เสด็จประพาสทรงเบ็ดปากน้ำสาครบุรี
รัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี, เสด็จประพาสทรงเบ็ดที่ปากน้ำท่าจีน
รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี, เสด็จประพาสลพบุรีล้อมช้าง ฯลฯ
รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เสด็จนมัสการพระพุทธฉาย และรอยพระพุทธบาทสระบุรี
นอกจากพระราชพงศาวดารแล้ว ยังมีนิราศอีกหลายเรื่อง เช่น “โครงนิราศพระพุทธบาท” (บ้างเรียก โครงพระมหานาค) เป็นวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลายที่พระมหานาค วัดท่าทราย เป็นผู้แต่ง เมื่อต้องเดินทางจากอยุธยาไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี, “กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง” เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ทรงนิพนธ์เมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี
ถึงแผ่นดินรัตนโกสินทร์ พระราชนิยมเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทสระบุรีก็ยังไม่เสื่อมคลาย กวีเอกแห่งยุคอย่างสุนทรภู่ เมื่อครั้งตามเสด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี ก็ประพันธ์โคลงนิราศพระบาท
พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ก็เสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรีจนถึงปัจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระสยามเทวาธิราช” สร้างโดยราชสำนัก แต่มีครั้งหนึ่งที่สร้างโดยประชาชน
- “พระพุทธรูปทองคำ” ในเมืองไทย ไม่ได้มีแค่ที่ “วัดไตรมิตรฯ” แล้วมีที่ไหนอีกบ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปิ่นเพชร จำปา. วัฒนธรรมการท่องเที่ยวของคนไทย พ.ศ. 2394-2544, วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศิลปศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2545.
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสระบุรี. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2567