“ตึกแม้นนฤมิตร” รร. เทพศิรินทร์ อนุสรณ์ความรัก “หม่อมแม้น” ในพระเจ้าน้องยาเธอ ร.5

ตึกแม้นนฤมิตร โรงเรียนเทพศิรินทร์
ตึกแม้นนฤมิตร โรงเรียนเทพศิรินทร์, ไม่ระบุปีที่ถ่าย (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ตึกแม้นนฤมิตร หรือปัจจุบันคือ “ตึกแม้นศึกษาสถาน” อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนแห่งแรกของไทยที่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางเป็นผู้อุปถัมภ์การก่อสร้างอาคารทั้งหมด ตัวอาคารออกแบบโดย “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นับเป็น “อนุสรณ์ความรัก” ถึงชายาของผู้ดำริสร้าง คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์

โรงเรียนเทพศิรินทร์

โรงเรียนเทพศิรินทร์ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ในห้วงเวลาที่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ รวมถึงคหบดี ผู้มีอันจะกินทั้งหลาย นิยมอุปถัมภ์การก่อสร้างโรงเรียนและอาคารเรียน ต่อยอดจากสมัยรัชกาลที่ 4 ที่นิยมสร้างถนนหนทาง และรัชกาลที่ 3 ที่นิยมสร้างวัดวาอาราม

ที่มาของโรงเรียนเทพศิรินทร์ เริ่มจากเมื่อ พ.ศ. 2419 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระชนมายุครบเบญจเพส มีพระราชดำริที่จะก่อสร้างพระอารามอุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระราชชนนี สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี จึงโปรดให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นคือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร) ตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมบาลีขึ้นภายในวัดเทพศิรินทราวาส อาศัยศาลาการเปรียญวัดเป็นที่ทำการเรียนการสอน

ต่อมา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระราชโอรสองค์เล็กในสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ทรงดำริจะสร้างถาวรวัตถุขึ้นภายในวัดเทพศิรินทราวาส เพื่ออุทิศพระราชกุศล สนองพระเดชพระคุณพระมารดา ประจวบกับหม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ชายาของพระองค์ถึงแก่อสัญกรรมลง จึงทรงกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ขอสถาปนาโรงเรียนเทพศิรินทร์ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างอาคารเรียนขึ้น เป็นที่มาของอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนเทพศิรินทร์

พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์
พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์

ตึกแม้นนฤมิตร

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ขณะนั้นคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์) เป็นผู้เขียนแบบให้

สมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ ทรงออกแบบอาคารเรียนโดยให้ก่อสร้างเป็นตึก 2 ชั้น ก่ออิฐฉาบปูน ในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอโกธิค (Neo-Gothic) อย่างฝรั่ง หรือสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย 

การณ์นั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ยังทรงชักชวนข้าราชการที่ทรงคุ้นเคย และพึ่งพระเดชพระคุณสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ให้ร่วมบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างอาคารเรียนและบูรณะศาลาการเปรียญ ได้เป็นเงิน 45,000 บาท ในจำนวนนี้ทรงแบ่งไว้ 1,000 บาท รวมกับเงินที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานเพิ่ม สำหรับซื้อชุดเครื่องเรือน เช่น โต๊ะ-เก้าอี้เรียน

รัชกาลที่ 5 พระราชทานนาม “โรงเรียนเทพศิรินทร์” ตามพระนามสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี และนามอาคารเรียนหลังแรกนี้ว่า “ตึกแม้นนฤมิตร” ตามนามชายาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์

การสร้างอาคารเรียนเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2445 คู่กับอาคารอีกหลังคู่กันคือ ตึกโชฎึกเลาหะเศรษฐี ตามชื่อ พระยาโชฏึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหะเศรษฐี) ผู้สมทบทุนสร้างหลัก

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งโรงเรียนเทพศิรินทร์และวัดเทพศิรินทราวาสซึ่งอยู่ใกล้สถานีหัวลำโพง ได้รับภัยจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้อาคารได้รับความเสียหายอย่างหนัก รัฐบาลจึงให้สร้างตึกใหม่ทั้งหมด ในงบประมาณ 1,500,000 บาท โดยให้คงลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโกธิคอย่างเดิมเป็นหลัก

ตึกแม้นศึกษาสถาน ตึกแม้นนฤมิตร โรงเรียนเทพศิรินทร์
ตึกแม้นศึกษาสถาน หลังการบูรณะก่อสร้างใหม่ (ภาพจาก เฟซบุ๊กโรงเรียนเทพศิรินทร์)

ตึกหลังใหม่นี้ นายเพี้ยน สมบัติเปี่ยม เป็นสถาปนิก สร้างเสร็จเดือนกันยายน พ.ศ. 2492 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ขนานนามตึกใหม่นี้ว่า “ตีกแม้นศึกษาสถาน”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ยุวดี ศิริ. (2557). ตึกเก่า-โรงเรียนเดิม. กรุงเทพฯ : มติชน.

โรงเรียนเทพศิรินทร์. กำเนิดตึกแม้นนฤมิตร และ ตึกโชฏึกเลาหะเศรษฐี. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2567. จาก https://debsirin.ac.th/about-us/index3.php


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2567