อาคารมาร์ติน เดอ ตูร์ส “ตึกแดง” แห่งโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ตึกเรียนที่ออกแบบโดยอธิการ

ตึกแดง อาคารมาร์ติน เดอ ตูร์ส โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
ภาพภ่ายตึกแดง โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ประมาณ พ.ศ. 2465 (ภาพจาก Wikimedia Commons / พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ)

“ตึกแดง” หรือ อาคารมาร์ติน เดอ ตูร์ส ตึกเรียนหลังแรกของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนชายล้วนอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงของไทย ตั้งอยู่ถนนสามเสน กรุงเทพฯ ชื่อของตึกเรียนหลังนี้ตั้งตามชื่อสถาปนิกผู้ออกแบบ ซึ่งเป็นคนเดียวกับผู้ก่อตั้งและอธิการคนแรกของโรงเรียน นั่นคือ ภราดา (Brother) มาร์ติน เดอ ตูร์ส

ปัจจุบันเราจะเห็นอนุสาวรีย์ ภราดามาร์ติน เดอ ตูร์ส (Bro. Martin de Tours) อยู่หน้ามุขของอาคาร ส่วนความเป็นมาของตึกแดงนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวการก่อตั้งโรงเรียนเซนต์คาเบรียลด้วย

กลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดการศึกษาแบบแผนใหม่อย่างจริง นำไปสู่การจัดตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่ง ในจำนวนนั้นคือ โรงเรียนอัสสัมชัญ (พ.ศ. 2428) ที่บางรัก ภายใต้การดูแลของคณะมิชชันนารีฝรั่งเศส

โรงเรียนอัสสัมชัญขยายตัวอย่างรวดเร็ว บาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ (Pere Emile Colombet) ผู้ก่อตั้งโรงเรียน แบกรับทั้งภารกิจทางศาสนาของวัดอัสสัมชัญร่วมกับการดูแลโรงเรียนอัสสัมชัญไม่ไหว จึงติดต่อคณะภราดาแห่งเซนต์คาเบรียลเพื่อขอบุคลากรมาช่วยกิจการโรงเรียน เมื่อคราวที่ท่านเดินกลับไปฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2443

คณะภราดาเซนต์คาเบรียล 9 รูป เดินทางจากฝรั่งเศสมายังสยาม ชุดแรก 5 รูป 2-3 เดือนถัดมาติดตามมาอีก 4 รูป บาทหลวงกอลมเบต์มอบหมายให้คณะภราดาเซนต์คาเบรียลดูแลโรงเรียนแทนท่านไปเลย โดยมีภราดามาร์ติน เดอ ตูร์ส ผู้อาวุโส (38 ปี) ของภราดา 5 รูปแรก  ดำรงตำแหน่งอธิการโรงเรียนต่อจากท่าน

อย่างไรก็ตาม การที่โรงเรียนอัสสัมชัญขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภราดามาร์ติน เดอ ตูร์ส และคณะที่ปรึกษามองไปถึงการเปิดโรงเรียนเพิ่ม

นักเรียน ยืน หน้า อาคารมาร์ติน เดอ ตูร์ส หรือ ตึกแดงโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
นักเรียนยุคแรก ๆ ยืนอยู่ที่หน้าตึกมาร์ติน เดอ ตูร์ส หรือเมื่อก่อนเรียกว่าตึกแดง ของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล

กำเนิด “ตึกแดง” แห่งเซนต์คาเบรียล

ในปลายรัชกาลที่ 5 มีการพระราชทานที่ดิน 68 ไร่ บริเวณชุมชนบ้านญวนแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ (วัดเซนต์ฟรังซัวซาเวียร์) และชุมชนบ้านเขมรอิมมากูเลตกองเซปซัง (วัดคอนเซ็ปซัญ) ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมิสซังโรมันคาทอลิก บาทหลวงบรัวซาต์ เจ้าอาวาสวัดเซนต์ฟรังซัวซาเวียร์ จึงติดต่อคณะภราดาเซนต์คาเบรียล โดยเสนอให้มาเปิดโรงเรียนอีกแห่งบนที่ดินติดกับวัดเซนต์ฟรังซัวซาเวียร์ที่ได้รับพระราชทานมา

ภราดามาร์ตินเห็นเป็นโอกาสดี จึงตอบตกลง

เป็นที่มาของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ที่ก่อตั้งเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2463 เพื่อเป็น “สาขา 2” ของโรงเรียนอัสสัมชัญ ภายใต้การบริหารงานของภราดาเซนต์คาเบรียล ส่วนสาเหตุที่ใช้ชื่อ “เซนต์คาเบรียล” แทนที่จะเป็นโรงเรียนอัสสัมชัญสามเสน เหมือนโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ฯลฯ อย่างในสมัยหลัง เพราะข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการตอนนั้นยังไม่อนุญาตให้โรงเรียนใช้ชื่อซ้ำกัน

ในการณ์นั้น ภราดามาร์ตินย้าย (ตัวเอง) จากโรงเรียนอัสสัมชัญมาเป็นอธิการโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ด้วยความที่ท่านมีความสามารถด้านงานช่าง จึงรับหน้าที่เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบตึกเรียนหลังแรกเอง โดยออกแบบให้เป็นตึก 3 ชั้น มีนายเบเกอแลง (Mr. Be’quelin) เป็นวิศวกรควบคุมการสร้างจนแล้วเสร็จ เนื่องจากตัวอาคารทาด้วยสีแดง จึงเรียกติดปากกันว่า “ตึกแดง”

ตึกแดงเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน มีสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบคลาสสิก ผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแคบและยาว มีมุขตรงกลางเป็นบันไดทางขึ้นไปสู่ปีกอาคารทั้ง 2 ฝั่ง มีระเบียงเป็นทางเดินเชื่อมกัน ผู้ติดต่อส่งวัสดุก่อสร้างคือบริษัทบอมเบย์เบอร์มา งบประมาณที่บันทึกไว้คือหนึ่งแสนเศษ สร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465

ขณะดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้น ภราดามาร์ตินใช้บ้านของนายเบอริล ในซอยมิตรคาม เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนชั่วคราว

มีบันทึกของศิษย์เก่าหมายเลขประจำตัว 518 เล่าถึงตึกแดงว่า “ข้าพเจ้ายังนึกสงสัยว่ารากฐานของตัวตึกอันมหึมาหลังนี้ ในสมัยนั้นเขาใช้อะไรรองรับพื้นฐานกัน มันจึงทนน้ำหนักตัวตึกหลังใหญ่ให้ตั้งอยู่ได้โดยไม่ทรุดหรือเอียง เพราะเวลานั้นกรรมวิธีแบบตอกเสาเข็มใช้ไม้ทั้งต้นหรือเสาเข็มคอนกรีตยังไม่มีใครนำมาใช้ในประเทศเรา หรือบางทีเขาอาจใช้ไม้ซุงทั้งต้นมาวางเรียงซ้อนกันก็ได้

โดยเมื่อเข้าเรียนวันแรกข้าพเจ้าเห็นพวกคนงานจีนกำลังนั่งทุบอิฐมอญโรยถนนรอบตัวตึก ประตูใหญ่สมัยนั้นอยู่ตรงบันไดหลังห้องอธิการเวลานี้ และสองข้างประตูปลูกต้นก้ามปูร่มครึ้ม ทางเข้าปูอิฐนอน”

เพราะความเชื่อมั่นในระบบการศึกษาตั้งแต่สมัยทำโรงเรียนอัสสัมชัญ ประกอบกับโรงเรียนอยู่ในชุมชนสามเสน มีชาวต่างชาติหลากเชื้อชาติอาศัยร่วมกัน โดยเฉพาะผู้เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ ผู้ปกครองจึงนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียล กิจการโรงเรียนจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีสภาพแวดล้อมไม่ต่างจากโรงเรียนนานาชาติ

หลังบริหารโรงเรียนเซนต์คาเบรียลจนมั่นคงเป็นเวลา 6 ปี (พ.ศ. 2463-2496) ภราดามาร์ติน เดอร์ ตูร์ส มอบหมายให้ภราดาเฟรเดอริค ยัง รับตำแหน่งอธิการต่อ ส่วนตัวเองกลับไปเป็นอธิการที่โรงเรียนอัสสัมชัญอีกครั้ง

นักเรียน โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
นักเรียนยุคแรก ๆ ของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล บางคนใส่กางเกงขาสั้นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนฝรั่ง บางคนที่มีเชื้อสายจีนก็ใส่กางเกงจีนขายาว และเสื้อกุยเฮง บางคนมีเชื้อสายเวียดนามก็นุ่งกางเกงขาก๊วยสีขาวหรือกางเกงดำยาวแค่น่อง นักเรียนที่เป็นมุสลิมก็ใส่กางเกงขายาวหรือนุ่งโสร่ง สวมหมวกแบบอิสลาม ทั้งนี้เนื่องจากโรงเรียนในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องแบบ นักเรียนจึงสามารถแต่งตัวตามเสื้อผ้าที่หาได้มาโรงเรียนได้

อาจกล่าวได้ว่า โรงเรียนคาทอลิกที่ก่อตั้งในนามภราดาคณะเซนต์คาเบรียลหลังจากนั้น เช่น โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนหนึ่งก็มาจากความสำเร็จของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ที่มี “ตึกแดง” อาคารมาร์ติน เดอร์ ตูร์ส เป็นตึกเรียนหลังแรกนี้เอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ยุวดี ศิริ. (2557). ตึกเก่า-โรงเรียนเดิม. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2567