ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ในประวัติศาสตร์จีนกระแสหลัก มักเขียนถึง “พระนางซูสีไทเฮา” จักรพรรดินีแห่งราชวงศ์ชิง ว่าเป็นผู้กุมอำนาจจักรพรรดิหลายพระองค์ และยังอยู่เบื้องหลังการสวรรคตของ “จักรพรรดิกวงซวี่” แต่ สเตอร์ลิงก์ ซีเกรฟ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของหนังสือ “Dragon Lady” (1992) กลับทำให้เราได้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของเรื่องนี้…
จักรพรรดิกวงซวี่
ศาสตราจารย์จันทร์ฉาย ภัคอธิคม หยิบยกประเด็นใน “Dragon Lady” ให้ทุกคนได้มาขบคิดกันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนที่เกี่ยวข้องกับซูสีไทเฮา ตอนหนึ่งได้พูดถึงเหตุการณ์สวรรคตของ “จักรพรรดิกวางสู” ไว้ในหัวข้อ “ราชวงศ์ชิง : อาทิตย์อัสดง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทความ “ซูสีไทเฮา : ทรราชหรือเหยื่ออธรรมของการเมืองจีน? เรื่องเหลือเชื่อของหนังสือ Dragon Lady” ว่า…
“จักรพรรดิกวางสู (หรือจักรพรรดิกวงซวี่ – ผู้เขียน) ทรงพระประชวรด้วยพระโรควักกะ และเสด็จสวรรคตในวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 เที่ยงวันต่อมา ซูสีไทเฮาก็เสด็จสวรรคต
เมื่อใกล้สวรรคต จักรพรรดิโปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าเฝ้า ขันทีผู้ใหญ่ของซูสีไทเฮาคือ หลีเหลียนอิง (Li Lien-ying) ได้รับพระราชเสาวนีย์ให้ไปกราบบังคมทูลยืนยันถึงความตกลงเดิมที่ซูสีไทเฮาเคยถวายแก่จักรพรรดิไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1901 ว่า จะสถาปนาเจ้าปูยี (Pu Yi) เป็นจักพรรดิ
ผู้สื่อข่าวไทม์ส (Times) ได้รายงานข่าวสู่โลกภายนอกในวันที่ 1 พฤศจิกายน ว่า
‘ได้มีการประกาศเป็นทางการแล้วว่าสมเด็จพระจักรพรรดิ (กวางสู) ได้เสด็จสวรรคตแล้วเมื่อเย็นวานนี้
‘ข่าวลืออันหนาหูมากเกี่ยวกับลักษณะพระอาการที่จักรพรรดิทรงพระประชวรครั้งสุดท้ายและเสด็จสวรรคต ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังมิได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับพระอาการประชวร แต่กล่าวว่าพระอาการอ่อนเพลียคือสาเหตุสำคัญของการเสด็จสวรรคต
ข้าราชสำนักรายงานว่าจักรพรรดิมิได้ทรงรู้สึกพระองค์มาตั้งแต่กลางคืนของวันพฤหัส โดยเมื่อวานทรงรู้สึกพระองค์ขึ้นอีกชั่วขณะ เมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงมีพระราชเสาวนีย์ให้ส่งหัวหน้าขันทีเหลียนอิง (Li Lien-ying) ไปเข้าเฝ้า จักรพรรดิมิได้ยินยอมที่จะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระที่นั่งสันตินิรันดร์ (Pavillion of Peaceful Longevity)
จึงเป็นการละเมิดพระราชประเพณีที่กำหนดให้พระที่นั่งองค์นั้นเป็นสถานที่สวรรคตของผู้ครองแผ่นดินจีน
ในที่สุดจักรพรรดิก็ได้ทรงสิ้นพระอัสสาสะปัสสาสะ (ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า-ผู้เขียน) โดยมิได้ทรงเครื่องพระภูษาในพระราชวโรกาสนั้นตามโบราณราชประเพณี และมิได้สวรรคต ณ พระที่นั่งองค์เดียวกับที่ได้เคยประทับเสมือนถูกกักบริเวณภายหลังการยึดอำนาจปี ค.ศ. 1898 จักรพรรดิมีพระราชสัมพันธ์อันตึงเครียดกับสมเด็จพระพันปีหลวงจนถึงสวรรคต’
รายงานที่บิดเบือนข้อเท็จจริงมิได้เป็นรายงานที่นายมอริสันเป็นผู้เขียน เพราะเขาได้เดินทางไปเที่ยวยิงนกปากส้อมกับมิตรสหายที่ชายฝั่งโคลนของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำฮวงโห ที่กวันไท (Kwantai) นายแบลนด์ผู้สื่อข่าวไทม์สประจำเซี่ยงไฮ้ทราบว่าสวรรคตขณะนอนป่วยด้วยพิษไข้สูง
เขาต้องรีบส่งข่าวไปขอร้องให้นายแบ็กเฮาส์ทำหน้าที่เขียนข่าวแทน รายงานข่าวของนายแบ็กเฮาส์ได้กล่าวเท็จเรื่องพระราชสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างจักรพรรดิกับซูสีไทเฮา และเรื่องที่แสดงเป็นนัยลับลมคมในว่าจักรพรรดิทรงตกเป็นนักโทษเชลยศักดิ์ของซูสีไทเฮา
ความเท็จฉกรรจ์นั้นได้ย้ำยืนยันความคิดเห็นและความเชื่อเดิมที่เต็มไปด้วยความอคติของผู้คนนอกรั้วนอกวังและโลกภายนอกที่มีต่อทั้งสองพระองค์ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จนกลายเป็นความจริงอันยากที่จะขจัดเสียได้
ข่าวลือพระประชวรของจักรพรรดิและซูสีไทเฮาที่ปรากฏต่อมาว่าเป็นการสิ้นพระชนม์ด้วยยาพิษ ล้วนเป็นความเท็จ เพราะพระราชสำนักแมนจูเข้มงวดกวดขันมากในเรื่องการทูลเกล้าฯ ถวายพระโอสถ
รายงานของนายแพทย์ดักกลาส เกรย์ (Dr.Douglas Gray) ประจำสถานทูตอังกฤษที่มีโอกาสเข้าเฝ้าอภิบาลจักรพรรดิก่อนสวรรคต และรายงานของนายแพทย์จีนชื่อจูเกวยตุง (Chu Kwei-tung) ล้วนรายงานตรงกันว่า ไม่มีหลักฐานการลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ
จักรพรรดิกวางสูทรงพระประชวรเรื้อรังจากพระโรคไข้หวัดตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1908 ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา จักรพรรดิทรงเจริญพระกระยาหารมาก ได้เสวยผลไม้สุกงอม อันเป็นเหตุให้ประชวรพระนาภีแล้วกลับกลายเป็นโรคบิดจนเสด็จสวรรคตในเวลากลางคืน 20 นาฬิกา ของวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908”
หมายเหตุ : ปรับย่อหน้าโดยกองบรรณาธิการ
อ่านเพิ่มเติม :
- จักรพรรดิกวงซวี่-จักรพรรดิเมจิ ประมุขผู้นำประเทศสู่การปฏิรูป ไฉนล้มเหลว-สำเร็จต่างกัน
- ซูสีไทเฮา ทรงก่อ “รัฐประหาร” ตัดหน้ากลุ่มขุนนางนักปฏิรูป
- จีน “เรียนวิทยาการฝรั่งเพื่อควบคุมฝรั่ง” ย้อนความเน่าเฟะในสงครามฝิ่นสู่ยุคอุตสาหกรรม
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2567