ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “วัดภูเขาทอง” เป็นอีกหนึ่งวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญ และเป็นวัดที่หลายคนน่าจะเคยไปเยี่ยมชมความงามกันมาบ้าง
ความที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหารอยู่มานาน จึงมีการซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง
แต่ถ้าซ่อมแซมครั้งใหญ่จะมีอยู่ 2 ครั้ง ได้แก่ พ.ศ. 2472 และอีกครั้งหนึ่งคือ พ.ศ. 2493 ซึ่งครั้งนี้ซ่อมแซมเนื่องจากทหารญี่ปุ่นเอาปืนต่อสู้อากาศยานขึ้นไปยิงบนภูเขาทอง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เรื่องราวนี้อยู่ในหนังสือ “เล่าเรื่องบางกอก” ของ ส. พลายน้อย ซึ่งเล่าไว้ในบทที่ 17 ภูเขาทอง-วัดสระเกศ ว่า…
“ภูเขาทองนับตั้งแต่เริ่มสร้างมา ก็ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา มีการซ่อมแซมกันบ้างนิดหน่อยเท่าที่กำลังเงินจะอำนวย ส่วนการซ่อมใหญ่นั้นเพิ่งมีเพียง 2 ครั้ง คือครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472 ซึ่งได้ตัดต้นไม้ต้นหญ้าที่ขึ้นรกปกคลุมให้เตียน แล้วโบกปูนตามผนังอิฐที่ก่อไว้ให้เรียบร้อยขึ้น
ครั้งที่ 2 ได้ลงมือซ่อมเมื่อ พ.ศ. 2493 คราวนี้ซ่อมมากกว่าคราวแรก เพราะผนังอิฐที่ก่อไว้ร้าวรานมากแห่ง ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เอาปืนต่อสู้อากาศยานขึ้นไปยิงบนภูเขาทอง ทำให้บรมบรรพตหรือภูเขาทองได้รับความสะเทือนมาก
ฉะนั้นในการซ่อมครั้งนี้ต้องรื้อของเก่าส่วนบนลงเกือบหมด แล้วกระทุ้งรากผูกโครงเหล็กเทคอนกรีตหุ้มรอบนอก
นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนหลังคาซึ่งเคยมุงด้วยกระเบื้องเป็นคอนกรีตทำเป็นดาดฟ้า มีรั้วและฉัตรเพิ่มขึ้น ซึ่งแลดูสวยงามกว่าแต่ก่อนมาก การซ่อมครั้งนี้ได้มาแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2498
และต่อมาก็ได้มีการตกแต่งเพิ่มเติมอยู่เสมอ เช่นการประดับกระเบื้องทองซึ่งท่านทั้งหลายก็คงจะทราบดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำมาเล่าอีก”
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “สะพานมหาดไทยอุทิศ” แถววัดสระเกศ ถึงได้ชื่อว่า “สะพานร้องไห้”?
- ถอดความเป็นมาของภูเขาทอง วัดสระเกศ จากภาพถ่ายสะท้อนสภาพสมัย ร.5
- ค้นวลี “ยักษ์วัดแจ้ง แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” พราหมณ์โล้ชิงช้าตกมาตายมีจริงหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2567