ทำไม “สะพานมหาดไทยอุทิศ” แถววัดสระเกศ ถึงได้ชื่อว่า “สะพานร้องไห้”?

สะพานมหาดไทยอุทิศ สะพานร้องไห้

สะพานข้ามคลองมหานาค ย่านวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มีชื่อว่า สะพานมหาดไทยอุทิศ เป็นนามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นอนุสรณ์ถึงการที่ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันอุทิศเงินจํานวนหนึ่งเพื่อสร้างสะพานนี้ แต่ทำไมสะพานดังกล่าวถึงมีอีกชื่อว่า สะพานร้องไห้ ?

ที่มา ก็คือ ภาพสลักกลางสะพาน ที่สลักเป็นภาพชายหญิงและเด็กอยู่ในอาการโศกเศร้าร้องไห้เสียใจ ทำให้เกิดการตีความกันว่า เพราะสะพานนี้เป็นทางผ่านของขบวนแห่ศพไปยังวัดสระเกศ เมื่อครั้งอหิวาตกโรคระบาด ทำให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก บ้างก็ว่า สะพานนี้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยอุทิศเงินสร้างขึ้น เพื่อแสดงความอาลัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพ้นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงสลักเป็นรูปคนกำลังเศร้าโศก

แต่ความจริงที่ปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์ ก็คือ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันอุทิศเงินจำนวน 41,211.61 บาท มอบให้กรมสุขาภิบาลสร้างสะพานนี้ขึ้น ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้มีทางสัญจรไปมา บรรจบกับตำบล อันเป็นเงื่อนที่รวมถนนหลายสายให้ติดต่อกัน แต่ยังมิทันสำเร็จตามพระราชประสงค์ รัชกาลที่ 5 ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ภาพคนร้องไห้ จึงหมายถึงอาการโศกเศร้าถึงรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

เมื่อสร้างสะพานนี้สำเร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเป็นอนุสรณ์ถึงเรื่องราวนี้ ว่าสะพานมหาดไทยอุทิศ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพาน เมื่อ วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2457

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“สะพานมหาดไทยอุทิศ สะพานร้องไห้”. จากหนังสือ “ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ”. โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย.พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2561