ไขข้อสงสัย “ไม้กระยาเลย” คือไม้อะไรกันแน่?

ป่าไม้ ไม้กระยาเลย
ขบวนเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จปักษ์ใต้ที่ลำน้ำเสียบยวน จังหวัดชุมพร วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2452 (ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ) แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในยุคนั้น

หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อ “ไม้กระยาเลย” มาก่อน หรือหลายคนอาจเคยผ่านหูมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าไม้ชนิดนี้หน้าตาเป็นอย่างไร หรือมีที่มาจากไหน 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เล่าไว้ใน “The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร” (สำนักพิมพ์มติชน) ถึงที่มาของไม้นี้ว่า เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ป่าไม้ในประเทศไทย

ย้อนไปยุคที่สยามลงนามใน “สนธิสัญญาเบาว์ริง” กับอังกฤษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เปลี่ยนการค้าของสยามจากระบบผูกขาดไปเป็นการค้าเสรี

ช่วงเวลานั้น อังกฤษที่ได้พม่าเป็นอาณานิคมแล้ว ก็ขยายการทำไม้สักเข้ามาทางภาคเหนือของสยาม จากเดิมที่การตัดไม้เป็นไปเพื่อนำมาสร้างบ้านเรือน ทำรั้ว ทำเสา ก็เปลี่ยนไปเป็นการตัดไม้เพื่อการค้าขาย ส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ

เข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิด “อุตสาหกรรมการทำไม้สัก” อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ. 2415 ฮันส์ นีลส์ แอนเดอ์เซน (Hans Niels Andersen) กัปตันเรือชาวเดนมาร์ก นำไม้สักใส่เรือสำเภาไปขายที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ปรากฏว่าขายหมด ทำกำไรได้หลายเท่าตัว

จากจุดนี้ ชื่อเสียงของไม้สักสยามจึงเริ่มขจรขจายไกล เป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการของโลกตะวันตก เพราะไม้สักเป็นไม้คุณภาพดี ทนทาน ปลวกราไม่ขึ้น และมีสีเหลืองทองสวยงาม เหมาะกับการนำไปใช้งาน

ช่วงเวลานั้น บรรดาเจ้าเมืองในภาคเหนือได้ยึดเอาป่าไม้สักในท้องที่ของตนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ใครจะทำไม้สักต้องเสียเงินภาษีให้ตามจำนวนไม้สัก เรียกว่า “ค่าตอไม้” ขณะเดียวกัน ก็มีบริษัทอังกฤษทยอยเข้ามารับสัมปทานการตัดไม้สักในภาคเหนือ

แต่ด้วยการขาดความรู้ในการทำไม้สัก และการเก็บเงินค่าตอไม้ก็กระทำอย่างหละหลวม ในที่สุดจึงมีการจัดตั้ง กรมป่าไม้ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2439 มี เอช. เอ. เสลด (H. A. Slade) ชาวอังกฤษ ผู้ชำนาญการป่าไม้ของพม่า เป็นอธิบดีกรมป่าไม้คนแรก

จากอุตสาหกรรมไม้สักในระยะแรก ก็ขยายเป็นการทำ “อุตสาหกรรมป่าไม้” ที่รวมถึงการตัดไม้ชนิดอื่นมาเพื่อประโยชน์ค้าขาย

เวลาผ่านไปจนถึง พ.ศ. 2484 มีการออก “พระราชบัญญัติป่าไม้” จากนั้น พ.ศ. 2490 รัฐบาลได้จัดตั้ง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) มารับช่วงสัมปทานการทำไม้สักต่อจากบริษัทฝรั่งที่เริ่มทยอยหมดสัมปทาน ต่อมา อ.อ.ป. ได้แบ่งสัมปทานให้บริษัทเอกชนหลายแห่งทำการตัดไม้ในป่าทั่วประเทศ

การทำสัมปทานป่ามีด้วยกัน 2 ชนิด คือ สัมปทานป่าไม้สัก และ สัมปทานป่าไม้กระยาเลย ซึ่งผู้มีสิทธิในสัมปทานป่าไม้สัก คือ อ.อ.ป. ส่วนสัมปทานป่าไม้กระยาเลย ส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของบริษัทป่าไม้ประจำจังหวัด

ไม้กระยาเลย คือไม้อะไร?

ไม้กระยาเลย คือ ไม้ที่ไม่ใช่ไม้สัก มาจากคำว่า “ไม้พระยาละเลย” ซึ่งต้องย้อนไปจุดที่เล่าว่า สมัยรัชกาลที่ 5 ไม้ในป่าเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าเมืองที่มีสิทธิ์ตัดได้ ซึ่งเจ้าเมืองสมัยนั้นอย่างต่ำก็เป็น “พระยา” ทั้งสิ้น

เจ้าเมืองยุคนั้นมักเลือกตัดไม้สัก เพราะเป็นไม้มีค่า มีราคา ส่วนไม้ชนิดอื่นเจ้าเมืองไม่ค่อยสนใจ จึงเรียกไม้ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ไม้สักว่า “ไม้พระยาละเลย” และเพี้ยนเป็นไม้กระยาเลยในที่สุด

ดังนั้น ไม้กระยาเลยจึงหมายถึงไม้ทุกชนิดที่ไม่ใช่ไม้สัก เช่น เต็ง รัง พะยอม แดง ประดู่ นนทรี ฯลฯ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง: 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2567