ภิกษุอวดวิชา ใช้แว่นขยายจุดไฟสร้างปาฏิหาริย์ สู่ “กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง” สมัย ร.2

จิตรกรรม พระภิกษุ วัดบวรนิเวศวิหาร
(ภาพประกอบเนื้อหา) จิตรกรรมภาพพระภิกษุ วัดบวรนิเวศวิหาร

เหตุการณ์ “กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง” ที่นำชาวข่าหัวเมืองลาวต่อต้านอำนาจสยาม ระหว่าง พ.ศ. 2358-2362 อาจถือเป็น “กบฏผีบุญ” ครั้งสำคัญสมัยรัชกาลที่ 2

ครั้งนั้น แกนนำคือ “อ้ายสา” พระภิกษุผู้สำแดงปาฏิหาริย์ด้วยการใช้ “แว่นขยาย” จุดไฟจากดวงอาทิตย์ เรียกความเลื่อมใสจากพวกข่า (ลาวเทิง) จนสามารถรวบรวมไพร่พลบุกยึด นครจำปาศักดิ์ เมืองสำคัญในภูมิภาคลาวใต้ ลำบากถึงราชสำนักกรุงเทพฯ ต้องดำเนินการเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อย

Advertisement

ทั้งนี้ กบฏผีบุญ หรือ “ผู้มีบุญ” คือขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐ ที่ผู้นำมักสถาปนาตัวเองเป็นผู้วิเศษ เช่น แอบอ้างเป็นพระศรีอริยเมตไตรย หรือพระศรีอาริย์ โดยอาจแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่าง ๆ เพื่อรวมใจผู้คนให้ศรัทธาและมาเข้าร่วมกับตน

สำหรับตัวตนและการปลุกระดมพวกข่า ของ “อ้ายสาเกียดโง้ง” นั้น ใน พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ของ หม่อมราชวงศ์วิจิตร (ปฐม คเนจร) ระบุว่า

“ลุจุลศุกราช ๑๑๗๙ ปีฉลู นพศก (พ.ศ. ๒๓๖๐) มีภิกษุอลัชชีรูปหนึ่งชื่อ ‘สา’ อยู่บ้านหลุบเลาเตาปูน แขวงเมืองสารบุรี เดินธุดงค์มาหยุดพักอาไศรยอยู่ที่เขาเกียดโง้งฝั่งตวันออก ซึ่งเป็นแขวงเมืองจำปาศักดิแต่ก่อน

อ้ายสาแสดงตัวว่าเปนคนมีวิชาฤทธานุภาพต่าง ๆ เปนต้นว่าเอา ‘แว่นแก้ว’ มาส่องกับแดดให้ติดเชื้อเปนไฟลุกขึ้น แล้วอวดอ้างว่าเรียกไฟฟ้าได้ แลสามารถที่จะเรียกให้ไฟนั้นมาเผาบ้านเมือง และมนุษย์เดรัจฉานให้ไหม้วินาศฉิบหายไปทั้งโลกก็ได้…

พวกข่ามิรู้เท่าเล่ห์กลอ้ายสา ครั้นเห็นอ้ายสาแสดงวิชาดังนั้นก็เห็นเปนอัศจรรย์ ต่างมีความกลัวเกรงก็พากันยินดีนิยมเชื่อถือ เข้าเป็นพวกอ้ายสาเกียดโง้งเป็นอันมาก”

“อ้ายสา” จึงไม่ใช่ผู้วิเศษเลอเลิศอะไร เพราะ “แว่นแก้ว” จะเป็นอะไรไปได้ นอกจากเลนส์ “แว่นขยาย” ที่มีคุณสมบัติรวมแสง สร้างพลังงานความร้อน ณ จุดเดียว จนเกิดการเผาไหม้ติดไฟ

แต่ไม่ว่าอ้ายสาเกียดโง้งจะได้แว่นแก้วมาจากไหน หรือได้มาอย่างไร “มายากล” ที่ภิกษุรูปนี้สร้างสามารถรวบรวมสมัครไพร่พลชาวข่าในดินแดนลาวได้จำนวนมาก จนสามารถคุกคามหัวเมืองใหญ่อย่างจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นขึ้นตรงต่อราชสำนักสยามที่กรุงเทพฯ

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“เมื่อเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ในปีเถาะเอกศกนั้น มีศุภอักษรเจ้านครจำปาศักดิ (หมาน้อย) บอกส่งมาถึงกรุงเทพฯ ว่า ‘อ้ายสาเกียดโง้ง’ คน ๑ ไปตั้งตัวเป็นผู้วิเศษขึ้นในพวกข่าเมืองสาลวัน เมืองคำทอง และเมืองอัตปือข้างฝั่งตวันตกแม่น้ำโขง มีพวกข่าเข้าเกลี้ยกล่อมเป็นสมัครพรรคพวกอ้ายสาเกียดโง้งประมาณ ๘๐๐๐

อ้ายสาเกียดโง้งยกมาตั้งอยู่ณทุ่งนาหวาทางห่างเมืองนครจำปาศักดิ ๓ คืน เมื่อณวันอาทิตย์เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ เจ้านครจำปาศักดิให้ท้าวเพี้ย (พระยา-ผู้เขียน) คุมไพร่ยกข้ามไปตั้งอยู่ณบ้านพะโพ ได้รบกับอ้ายสาเกียดโง้งครั้ง ๑ พวกเมืองนครจำปาศักดิสู้ไม่ได้ ต้องถอยข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งข้างฝั่งตวันออก

ครั้นณเดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ อ้ายสาเกียดโง้งยกเข้ามาตั้งถึงฝั่งแม่น้ำโขง เจ้านครจำปาศักดิแต่งให้เจ้าสุวรรณสาร เพี้ยเมืองกลาง เพี้ยหมื่นน่า เพี้ยไชยภาค คุมไพร่พันเศษไปตั้งรายรับข้าศึกที่ฝั่งแม่น้ำโขง แลลาดตระเวนทั้งทางบกทางเรือ อ้ายสาเกียดโง้งยกข้ามแม่น้ำมาตีเมืองนครจำปาศักดิ พวกท้าวเพี้ยที่รักษาเมืองสู้ไม่ได้ เสียงเมืองนครจำปาศักดิแก่อ้ายสาเกียดโง้ง”

หลังเสียจำปาศักดิ์ให้อ้ายสาเกียดโง้ง เจ้านครจำปาศักดิ์ได้พาข้ารับใช้และราษฎรลี้ภัยมายังแขวงเมืองอุบล เมื่อรัชกาลที่ 2 ทรงทราบจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีสารตราไปยังเจ้าพระยานครราชสีมาและเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ให้ยกกำลังพลไปปราบกบฏอ้ายสาเกียดโง้ง

ในสงครามคราวนั้น ทัพของเจ้าราชบุตร (โย้) โอรสของเจ้าอนุวงศ์ สามารถจับตัวอ้ายสาเกียดโง้งได้ พร้อมเชลยเป็นไพร่พลข่าจำนวนมาก จึงส่งเข้ามารับโทษทัณฑ์ยังพระนคร ราชสำนักกรุงเทพฯ จองจำอ้ายสาเกียดโง้งไว้ในคุก ส่วนพวกข่าทั้งหลายให้ไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางบอน

หลังสถานการณ์กบฏอ้ายสาเกียดโง้งสงบเรียบร้อย รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า เจ้านครจำปาศักดิ์ (หมาน้อย) อ่อนแอนัก ไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้ ด้านเจ้าอนุวงศ์อาศัยจังหวะดังกล่าวทูลขอให้เจ้าราชบุตร (โย้) ไปเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามนั้น

“กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง” จึงทำให้อำนาจของเจ้าอนุวงศ์แผ่ปกคลุมตั้งแต่ลาวตอนกลาง (เวียงจันทน์) ลงมาถึงลาวตอนล่าง (จำปาศักดิ์) อันจะส่งผลต่อเหตุการณ์สำคัญในอีกหลายปีต่อมา คือ “กบฏเจ้าอนุวงศ์” ในสมัยรัชกาลที่ 3

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

หอสมุดวชิรญาณ; ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2459). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย ณสพานยศเส. (ออนไลน์)

ราชวงศ์วิจิตร, หม่อมราชวงศ์ (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร). (22539). พงศาวดารเมืองมณฑลอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้านางโสฬศนารี ณ จำปาศักดิ์ สาระโสภณ (นางอักษรการวิจิตร)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2567