ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เพราะ “วรรณกรรม” ไม่ใช่แค่เพียงงานประพันธ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความสนุกสนานให้ผู้อ่าน แต่เป็นอีกหนึ่งหลักฐานชั้นดีที่ตีแผ่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างดีเยี่ยม
สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล ๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์ “พลวัตวันชาติ” จึงชวน 2 กูรู “ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง” ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุค 2475 และ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์ มาร่วมพูดคุยมิติเกี่ยวกับ “วรรณกรรม” ในหัวข้อ “Talk ต่อต้าน 2475 : วรรณกรรมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลัง 2475” พร้อมเพิ่มความสนุก โดยผู้ดำเนินรายการ “พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์” บรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์
ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง เริ่มต้นเสวนาว่า “วรรณกรรม” เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยในช่วงหลัง 2475 วรรณกรรมถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของฝ่ายขวา ที่ทำให้คนที่อ่านเห็นถึงข้อเสียของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนี้ โดยเฉพาะ “สี่แผ่นดิน“ เขียนขึ้นโดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งพยายามพยายามพาทุกคนกลับไปอยู่ในบรรยากาศสมัยก่อน และคิดว่าระบอบใหม่คือฝันร้ายของประชาชน
แต่ อ. ณัฐพล ก็ได้ชวนทุกคนมาตั้งข้อสงสัยว่าภาพบรรยากาศในนิยายสี่แผ่นดิน คือเรื่องจริงที่ทุกคนคิดหรือไม่?
📍 “สังคมก่อน 2475” บรรยากาศที่ “สี่แผ่นดิน” อยากหวนกลับคืนไป เป็นอย่างที่คิดจริงหรือ?
หลังจากเกริ่นกันพอประมาณแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุค 2475 ก็ชวนทุกคนย้อนไปวันวานที่แท้จริง ณัฐพลเล่าว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ใช่ฝันร้าย อย่างที่ในวรรณกรรมหลายเล่มพยายามจะนำเสนอ แต่เป็นสภาพสังคมที่เท่าเทียมกัน จากเดิมที่คนต้องมอบกราบ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ต้องทำเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว
หรือแม้กระทั่งการที่ผู้หญิงสามารถแต่งตัวได้ตามที่ต้องการ มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ราษฎรก็ยังเป็นคนกำหนดอำนาจให้คนไปปกครอง จากเดิมที่การปกครองกระจุกอยู่ที่ชนชั้นนำ
📍 “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475” ประชาชนไม่รู้เห็นด้วย?
อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่พูดถึงในเวที ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุค 2475 พูดถึง หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นความตั้งใจเฉพาะของกลุ่มคณะราษฎร แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะหากดูหลักฐานในช่วงเหตุการณ์กบฏบวรเดช ประมาณ 1 ปีให้หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะเห็นมีทั้งภาพชาวบ้านทั้งหญิงชาย มาช่วยต่อต้านกบฏบวรเดช
รวมทั้งการทำสินค้าที่มีภาพแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้ประชาชนทราบ รวมถึงอนุสาวรีย์หลักสี่ ที่มีภาพการเชิดชูเกียรติชาวนาที่ร่วมช่วยกันต่อต้านกบฏบวรเดช
นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังทำคู่มือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่มือการออกกำลังกาย คู่มือระบอบใหม่ วิชาการเมือง ให้คนได้ศึกษาเพื่อเข้าใจกับระบอบใหม่ รวมถึงยังมีหนังสือต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญให้ชาวบ้านได้เข้าใจ
ทว่าตรงนี้ก็ยังเป็นข้อเสียเปรียบที่กลุ่มคณะราษฎรพลาดพลั้ง
📍 วรรณกรรมอีกฟากฝั่งของกลุ่มต่อต้าน
อ. ณัฐพล บอกว่า ในสมัยคณะราษฎร การทำสื่อแบบเข้าใจง่ายให้ประชาชนรับทราบยังมีน้อยมาก ขณะที่ฝ่ายขวากลับสร้างผลงานเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนี้ออกมาไม่หยุด และมีเยอะอย่างมากเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2490
ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าฟ้าประชาธิปก: ราชันผู้นิราศ”, “ชีวิตแห่งการกบฏ 2 ครั้ง”, “ประชาธิปไตย ๑๗ ปี” โดย หลุย ศิริวัต หรือแม้กระทั่งงาน “เบื้องหลังประวัติศาสตร์” โดย แมลงหวี่ (นามปากกาของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช) ซึ่งณัฐพลเล่าว่า งานเหล่านี้มักจะกล่าวถึงการปฏิวัติ 2475 ในแง่ลบ เป็นยุคทมิฬ ความดำมือของประเทศ จึงต้องใช้วิจารณญาณในการอ่าน และตีความ
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ก็ถึงช่วงของ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์ ที่จะได้มามอบความรู้และความสนุกให้กับคนที่ต่างมาฟังอย่างเนืองแน่นเต็มโถงของอาคารมติชนอคาเดมี โดย ศิโรตม์ ได้พุ่งตรงมายังประเด็นของการเขียนวรรณกรรมของฝั่งขวามากมาย โดยเฉพาะ “หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช”
📍 3 ประเด็นหลักที่มักหลบซ่อนในวรรณกรรมฝั่งต่อต้าน
ศิโรตม์กล่าวว่าหากมาวิเคราะห์งานต่าง ๆ ของอีกฝั่งหนึ่ง โดยเฉพาะความคิดในงานของ “หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช” จะเหมือนกับที่ อ. ณัฐพลบอกว่า มีความคิดในเรื่องพาย้อนกลับไปยังอดีต หรือมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่คือความดำมืด เนื่องจากชนชั้นของตนเองเสียอำนาจไป ซึ่งคอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์สามารถวิเคราะห์ออกมาได้ 3 ประเด็น
ประเด็นแรก คือ มักจะมีความคิดต่อต้านความเท่าเทียม กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน สังคมที่ดีจะต้องมีความเหลื่อมล้ำนิดหน่อย เหมือนที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์เคยยกตัวอย่าง เรื่องการปกครองแบบพ่อปกครองลูกว่า ถ้าหากว่าสังคมไทยจะดี จะต้องมีผู้ปกครองดี สังคมไทยไม่ควรเกิดการปฏิวัติ 2475 และความเท่าเทียมก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
ต่อมา ประเด็นที่ 2 งานเหล่านี้จะต่อต้านความเป็นประชาธิปไตย อย่างงานของ “จงกล ไกรฤกษ์” อดีตผู้เข้าร่วมกบฏบวรเดช ก็มีแนวคิดเหล่านี้ปรากฏอยู่ ที่มีความเชื่อว่า ระบอบใหม่เกิดความขัดแย้ง เกิดการแก่งแย่ง เกิดการคอร์รัปชัน ซึ่งศิโรตม์ก็มองว่า ทุกการปกครองก็ล้วนเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นได้เสมอ อย่างในอยุธยาหรือก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็มีการรัฐประหารเกิดขึ้น
ประเด็นที่ 3 การเกิดความเป็นสมัยใหม่ กลุ่มคนพวกนี้ต่อต้านอะไรที่จะเดินไปข้างหน้า เช่นการแต่งตัวของผู้หญิง ความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่เคยพูดถึงเรื่องไพร่หรือทาสในยุคก่อนหน้า 2475
อย่างไรก็ตาม การต่อต้านเหล่านี้ไม่เพียงปรากฏอยู่ในช่วง 2475 เท่านั้น แต่ศิโรตม์คิดว่า เรื่องเหล่านี้กำลังอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ใช้เพียงแค่วรรณกรรมหรือหนังสืออย่างเดียว แต่เป็นการใช้วิดีโอหรือโซเชียลมีเดียเพื่อความเชื่อให้ฐานของ 2 ฝ่าย
📍 ยังมี “ทอล์ก” ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “วันชาติ” อีกมากมายในหลากหลายมิติ มาร่วมฟังกันได้ในวันพรุ่งนี้ (22 มิถุนายน พ.ศ. 2567) ในงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล ๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์ “พลวัตวันชาติ” ที่มติชนอคาเดมี เวลา 10.30-18.30 น. เข้าร่วมฟรี!
อ่านเพิ่มเติม :
- ปาฐกถาพิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เปิดงาน ‘โมสรศิลปวัฒนธรรม สเปเชียล ๒๔ มิถุนาฯ วันมหาศรีสวัสดิ์ พลวัตวันชาติ’
- ย้อนดูบรรยากาศวันชาติครั้งแรก “24 มิถุนายน 2482” การเฉลิมฉลองเพื่อประชาชนทุกชั้น!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 21 มิถุนายน 2567