ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เราอาจได้ยินหรือผ่านตาชื่อ “เจ้าครอกวัดโพธิ์” กันมาบ้าง จาก “จดหมายเหตุความทรงจำ กรมหลวงนรินทรเทวี” เอกสารที่บันทึกเหตุการณ์คราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ไล่มาจนถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 2 แล้ว เจ้าครอกวัดโพธิ์ คือใคร เกี่ยวข้องอันใดกับ “วัดโพธิ์ ท่าเตียน”
เจ้าครอกวัดโพธิ์ คือใคร ก็คือ กรมหลวงนรินทรเทวี ผู้ทรงนิพนธ์จดหมายเหตุความทรงจำฉบับดังกล่าวนั่นเอง
พระองค์ทรงเป็นพระขนิษฐภคินี (น้องสาว) ต่างพระชนนี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระมารดาของเจ้าครอกวัดโพธิ์ เป็นพระน้องนางเธอของพระอัครชายา (หยก หรือ ดาวเรือง) ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) พระราชบิดาในรัชกาลที่ 1
ภายหลังพระอัครชายาสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกทรงรับพระน้องนางเธอของพระอัครชายามาเป็นพระชายาสืบต่อ และมีพระราชธิดา คือ เจ้าครอกวัดโพธิ์ (แรกประสูติมีพระนามว่า “กุ”)
เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระขนิษฐภคินีพระองค์นี้ขึ้นเป็น “พระองค์เจ้าหญิงกุ”
พระองค์ประสูติปีใดไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยว่า คงประสูติแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และน่าจะมีพระชันษามากกว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมากกว่า 10 ปี
หากประเมินจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ พระราชโอรสองค์สุดท้ายในพระอัครชายา คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้าในรัชกาลที่ 1) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2286 ดังนั้นเจ้าครอกวัดโพธิ์ต้องประสูติหลังปี 2286
ขณะที่รัชกาลที่ 2 เสด็จพระราชสมภพใน พ.ศ. 2310 หากเจ้าครอกวัดโพธิ์มีพระชันษามากกว่ารัชกาลที่ 2 มากกว่าสิบปี ก็น่าจะประสูติราว พ.ศ. 2287-2300 เท่ากับทรงเจริญพระชันษาพอที่จะรู้เห็นเหตุการณ์พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวกรุงแตก พ.ศ. 2310
พระสวามีของเจ้าครอกวัดโพธิ์ คือ หม่อมมุก บุตรเจ้าพระยามหาสมบัติ (ผล) เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมมุก ซึ่งเป็นนายกวดมหาดเล็กหุ้มแพร เป็น กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ คือทรง “ยกให้เป็นเจ้า” ด้วยเป็นพระสวามีของพระน้องนางเธอในพระองค์
หม่อมมุกมีน้องชาย คือ พระยาพลเทพ (ปิ่น) ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาอภัยราชา บิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ทหารเอกผู้มีบทบาทการรบในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าครอกวัดโพธิ์และกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ มีพระโอรสด้วยกัน 2 พระองค์ คือ กรมหมื่นนรินทรเทพ และกรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์
พระองค์ประทับ ณ วังริมวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน ซึ่งวังอยู่ท้ายสนม (เขตพระราชฐานฝ่ายใน) ด้านวิหารพระนอน ทรงเก็บอากรตลาดท้ายสนมตลอดพระชนมายุ จนคนทั้งหลายเรียกว่าเจ้าครอกวัดโพธิ์ ซึ่งคำว่า “เจ้าครอก” ใช้สำหรับผู้มียศในราชสกุล และเป็น “เจ้า” โดยกำเนิด
เจ้าครอกวัดโพธิ์สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2370 ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนานามพระอัฐิเป็น “กรมหลวงนรินทรเทวี”
อ่านเพิ่มเติม :
- “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ มีกี่พระองค์ ใครบ้าง?
- ทำไมในอดีตถึงเรียกเหล่าเจ้านายผู้หญิงว่า “เจ้าครอก” ?
- ขนมจีบ (ไทย) ต้นตำรับจากขนมไส้หมูเจ้าครอกวัดโพธิ์ ของว่างโบราณอายุสองร้อยกว่าปี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หลง ใส่ลายสือ. “จดหมายเหตุความทรงจำ ‘เจ้าครอกวัดโพธิ์’ ประวัติศาสตร์สยาม ฉบับผู้หญิงแต่ง”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2567