
ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อย่างที่ทราบกัน หลังกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 บ้านเมืองอยุธยาต่างระส่ำระสาย “พม่า” กวาดต้อนทั้งเจ้านายและชาวบ้านไปที่เมืองของตนเอง ทว่าต่อมา ไทย ก็ได้เรียนรู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นและเอาชนะพม่าได้ใน “สงครามเก้าทัพ” สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
แล้ว ไทย ในอดีต พัฒนาตัวเองอย่างไรในช่วงก่อนหน้าให้กลับมานำ “พม่า” อีกครั้ง?
หลังกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยา ก็ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และยุทธวิธี รวมถึงการทำสงครามขึ้นใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนี้
1. ขยายเขตอิทธิพลทางการเมืองให้กว้างขวางขึ้น ตั้งแต่ล้านนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ไปจนถึงจำปาศักดิ์ เพื่อไม่ให้พม่าตั้งฐานกำลังในพื้นที่ดังกล่าวได้
2. ปรับยุทธศาสตร์การรบ จากเดิมใช้เมืองหลวงในการรับศึก ก็ใช้หัวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในเส้นทางสำคัญรับศึกแทน โดยมีพระมหากษัตริย์หรือวังหน้ายกทัพจากเมืองหลวงไปที่หัวเมือง
3. การควบคุมกำลังคน เรื่องนี้เริ่มปรับมาตั้งแต่สมัยธนบุรี ด้วยการปราบชุมนุมต่าง ๆ เพื่อให้คนในนั้นเข้ามาเป็นกำลังให้ตนเองในเวลาต่อมา ทั้งยังรื้อฟื้นเรื่องไพร่ทาสในสมัยอยุธยากลับมาในสมัยนี้อีกครั้ง
ส่วนในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีการจัดระเบียบและวางกฎเกณฑ์สำหรับควบคุมกำลังคนให้ชัดเจนมากขึ้น อย่างที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ที่มีบัญญัติไว้ว่าราษฎรทุกคนจะต้องมีสังกัดขึ้นต่อมูลนายหรือกรมกองต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 5 ปีขึ้นไป
4. งานด้านข่าว มีการปรับปรุงระบบราชการแบบเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้แหล่งข่าวเพิ่มมากขึ้นและกระจายไปในวงนอก ในรัชกาลที่ 1 ถึงขั้นมีการตั้ง “กองอาทมาต” กองมอญมีศักดินาไว้เพื่อสอดแนมพม่าโดยเฉพาะ
5. การวางแผนยุทธศาสตร์ เปลี่ยนมาเป็นการตั้งรับเชิงรุก เข้าโจมตีข้าศึกก่อนจะเข้าพระนคร เพื่อตัดกำลังของข้าศึกก่อนเข้ามาเมืองหลวง ทั้งยังมีการวางแผนในระยะยาว เช่น สร้างจุดยุทธศาสตร์ป้องกันเมืองหลวง, สะสมอาวุธ, สำรวจระยะทางและเส้นทางที่กองทัพพม่าจะเข้ามาตีเมือง เป็นต้น
ด้วยการปรับกลยุทธที่เฉียบคมนี้ ผสมกับความไม่พร้อมของทัพพม่า จึงทำให้สยามกลับมามีอำนาจเหนือนำและรบชนะพม่า ในศึก “สงครามเก้าทัพ” ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นที่โจษจันและกล่าวขานมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- สอบหลักฐานไทย-พม่า ชาวบ้าน ‘บางระจัน’ สู้เพื่อใคร?
- ฝรั่งอ้าง คนไทยยอมเป็น “เชลยพม่า” ดีกว่ากลับมาเป็นไพร่รับใช้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.silpa-mag.com/history/article_67842
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2567