เหตุใดประติมากรรมสำริด “Golden Boy” จึงไม่ใช่ “ทวารบาล”

Golden Boy ไม่ใช่ ทวารบาล

ประติมากรรมสำริด Golden Boy คือใคร หรืออะไรแน่? นักวิชาการยังคงถกเถียงและหาข้อมูลมาสนับสนุนความเป็นไปได้ต่าง ๆ อยู่ แต่ทฤษฎีหนึ่งที่เป็นไปได้น้อย (มาก) ในมุมมองของนักวิชาการหลายท่านคือ ไม่ใช่ “ทวารบาล” แน่ ๆ

รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิบายไว้ในบทความ “Golden Boy ไม่ใช่พระรูปพระเจ้าชัยวรรมันที่ 6 แต่เป็นพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมันที่ 2 : พระรูปผีบรรพชน” จากศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยตั้งหลักวิเคราะห์ “ประติมากรรมสำริด” จาก “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งถือเป็น “คู่แฝด” ของ ประติมากรรมสำริด Golden Boy ว่าไม่ใช่ “ทวารบาล” แต่เป็นพระรูปสนองพระองค์ของกษัตริย์

ประติมากรรมพบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ (ภาพจาก เฟซบุ๊ก : Phimai National Museum:พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย )

ดังนั้น เมื่อประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ “ไม่ใช่” ทวารบาล Golden Boy ก็ “ไม่ควร” เป็นทวารบาลเช่นกัน

ข้อสนับสนุนต่าง ๆ มีดังนี้ [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

การศึกษาแปลความด้านประติมานวิทยา (Iconography) ของประติมากรรมชิ้นนี้ (ประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่-ผู้เขียน) เท่าที่ผ่านมา มีดังต่อไปนี้

ท่านที่ 1 ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ อดีตศาสตราจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เสนอว่า ประติมากรรมสำริดชิ้นนี้คือ ทวารบาล

ท่านที่ 2 ชอง บวสเซอลีเย่ อดีตศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยปารีส 3 ได้เสนอเพิ่มเติมว่า ประติมากรรมชิ้นนี้คือ “นันทิเกศวร” ในฐานะทวารบาล และประติมากรรมชิ้นนี้ประดิษฐานอยู่ที่ด้านหน้าหรือตั้งอยู่ในมุขของปราสาทหลังกลาง หรือตั้งอยู่ด้านหน้าของปราสาทองค์ตะวันตกเฉียงใต้ 

ข้อเสนอของศาสตราจารย์ทั้ง 2 ท่านนี้ดูจะเป็นข้อเสนอที่ทรงพลังในโลกวิชาการ หากแต่ผู้เขียนมีความเห็นว่า ประติมากรรมชิ้นนี้ไม่ใช่ “ทวารบาล” ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

ประการแรก ถ้าประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นทวารบาล เหตุใดจึงให้ความสำคัญจนต้องหล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง (ต้นฉบับใช้ กาไหล่ทอง – ผู้เขียน) ซึ่งในปัจจุบันเรายังไม่พบหลักฐานว่ามีการหล่อทวารบาลสำริดขนาดใหญ่ อีกทั้งในศิลปะเขมรแบบบาปวนช่วงรัชกาลพระเจ้าอุทัยทิตยวรรมันที่ 2 มีการหล่อประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่คือ พระนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทแม่บุญตะวันตก ด้วยเหตุนี้ประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่จากปราสาทสระกำแพงใหญ่จะต้องมีความสำคัญที่มากกว่าเป็นทวารบาล

ประการที่ 2 โดยปกติประติมากรรมทวารบาลจะประดิษฐานอยู่ข้างประตูทางเข้าบริเวณนอกปราสาท ถ้าประติมากรรมชิ้นนี้จะต้องประดิษฐานนอกปราสาท เฉพาะฐานสำริดของประติมากรรมชิ้นนี้มีขนาดความกว้าง 35 เซนติเมตร แต่เมื่อนำไปประดิษฐานบนฐานศิลาที่จะต้องกว้างกว่าฐานสำริด โดยทั้งนี้ผู้เขียนประมาณการฐานศิลาที่รองรับประติมากรรมชิ้นนี้น่าจะมีความกว้างอยู่ที่ 60-55 เซนติเมตร ซึ่งพื้นที่ด้านนอกปราสาทไม่สามารถรองรับฐานรองรับประติมากรรมชิ้นนี้ได้

ประการที่ 3 จากสภาพของประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ยังพบร่องรอยของการกะไหล่ทอง ซึ่งพิจารณาจากสภาพปัจจุบันร่องรอยของทองยังเด่นชัดมาก ดังนั้น ถ้าประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง เหตุใดยังปรากฏร่องรอยการกะไหล่อย่างชัดเจน ที่สำคัญคือถ้าประติมากรรมชิ้นนี้เป็นทวารบาลเหตุใดจึงต้องมีการประดับประดาอย่างพิถีพิถัน

ประการที่ 4 ชอง บวสเซอลีเย่ เสนอว่าประติมากรรมชิ้นนี้คือทวารบาล เพราะแสดงอาการเท้าขวาก้าวออกมาข้างหน้าเล็กน้อย แต่ท่านไม่ได้ยกตัวอย่างว่าเป็นทวารบาลจากที่ใด

สำหรับประเด็นนี้ ผู้เขียน (อ.รุ่งโรจน์) มีความเห็นว่า เราจะนำลักษณะการก้าวเท้าของประติมากรรมมาเป็นหลักในการแปลความคงจะลำบาก… เพราะทวารบาลปราสาทบันทายฉมาร์ จังหวัดบันทายมีชัย และทวารบาลปราสาทบายน เมืองพระนครหลวง กลับแสดงอาการยืนตรงปลายเท้าทั้งสองเสมอกัน

ประการที่ 5 แม้ว่า ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ จะเสนอว่าประติมากรรมชิ้นนี้คือทวารบาล เพราะการเปรียบเทียบรูปแบบสมพตและเครื่องทรงของประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่เหมือนกับรูปแบบของทวารบาลในศิลปะเขมร

แต่การเปรียบเทียบรูปแบบเครื่องประดับและผ้านุ่งของประติมากรรมเหมาะสมกับการใช้ในการศึกษาวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะ มากกว่านำมาศึกษาการแปลความทางประติมานวิทยา

ทั้งนี้ เครื่องทรงของประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่เหมือนกับเครื่องทรงของพระวิษณุบรรทมสินธุ์จากปราสาทแม่บุญตะวันตก ดังนั้น ถ้าใช้ขบวนการเปรียบเทียบเครื่องทรงประติมากรรมจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นประติมากรรม “เทวะ” องค์สำคัญได้เช่นเดียวกัน

ประการที่ 6 ถ้าเป็นประติมากรรมทวารบาลจริง เหตุใดจึงขุดพบเพียงแค่องค์เดียว อีกทั้งจากการขุดแต่งปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ โดยกรมศิลปากร ก็พบชิ้นส่วนของหน้าประติมากรรมสำริดที่พบเหมือนกับประติมากรรมสำริดที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ซึ่งหน้าประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ไม่ได้ทำหน้าเป็นอสูรที่จะสามารถชี้ได้ว่าเป็นมหากาลในฐานะอสูร

ประการที่ 7 ประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ไม่ปรากฏ “โคนกระบอง” หรือโคนหอก ที่ฐานแต่ประการใด ซึ่งแตกต่างจากประติมากรรมลอยตัวรูปทวารบาลในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมรจะถืออาวุธด้ามยาว เช่น หอก หรือกระบองเสมอ

เมื่อประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ไม่ใช่ทวารบาล จึงสามารถตีความได้ว่า ประติมากรรมองค์นี้คือรูปสนองพระองค์พระราชา เพราะไม่มีสามัญชนที่มีกำลังทรัพย์พอจะหล่อประติมากรรมสำริดใหญ่ขนาดได้

โดยเหตุผลทั้งหมดที่ อ.รุ่งโรจน์ กล่าวมานั้น แม้จะเป็นการวิเคราะห์ประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ แต่เราสามารถนำมาเทียบเคียงกับ Golden Boy ได้อย่างไม่เคอะเขิน เพราะประติมากรรมสำริดทั้งสอง มีความใกล้เคียงกันสูงมาก และอาจสร้างโดยสกุลช่างเดียวกัน เจตนารมณ์ หรือวัตถุประสงค์การใช้งาน จึงควรจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

นั่นคือ เป็นพระรูปสนองพระองค์ของกษัตริย์ หรือรูป “พระเชษฐบิดร” ผีบรรพชน ไม่ใช่ “ทวารบาล” อย่างที่สันนิษฐานกันในตอนต้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2567