ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ หรือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นพระราชินีไทยพระองค์แรกๆ ที่สื่อต่างชาติยกย่องว่าทรงเป็น “พระราชินีผู้ทรงพระสิริโฉม”
เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนทวีปอเมริกาและทวีปยุโรประหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503
พระราชภารกิจหลักในการเสด็จฯ ครั้งนั้น มีเหตุจูงใจทางการเมือง ที่ไทยถูกจัดตั้งให้เป็นศูนย์กลางของโลกเสรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ขององค์การ สปอ. (SEATO) ในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสม์ที่กำลังคุกคามเสถียรภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในเวลานั้น
หากตลอดเวลาเกือบ 5 เดือน ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงเป็น “จุดสนใจ” ของสื่อต่างชาติหลายสำนัก ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับพระองค์ ไม่ว่าจะเป็น พระราชเสาวนีย์, ฉลองพระองค์, พระราชจริยวัตร ฯลฯ โดยการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับพระองค์ สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันคือ “ทรงเป็นพระราชินีผู้ทรงสิริโฉม”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั้ง 2 พระองค์เสด็จฯ ถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภาพลักษณ์ของสมเด็จพระราชินียิ่งเป็นจุดสนใจของชาวโลกมากขึ้น นิตยสารยักษ์ใหญ่ของปารีสที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งความงามและสาวสวย ขนานพระนามของพระองค์ว่าเป็น “SIRIKIT, LA PLUS JOLIE REINE DU MONDE พระราชินีผู้ทรงสิริโฉมโสภาที่สุดในปฐพี”
เอกสารเก่า พ.ศ. 2503 อย่าง LE PATRIOTE ILLUSTRÉ, Brusels Belgium (9 Octobre 1960) สะท้อนภาพฉากหนึ่งของสมเด็จพระราชินีแห่งประเทศไทย ที่เสด็จฯ ไปปรากฏพระองค์ในโลกตะวันตก และทรงได้รับคัดเลือกเป็นพระราชินีผู้ทรงแต่งพระองค์ได้งดงามและถูกกาละเทศะที่สุด ประจำ ค.ศ. 1960
ฯลฯ
ดังนั้น ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ เมื่อ พ.ศ. 2503 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จึงทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ชื่อเสียงของไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวโลก
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ บทความนี้เขียนเก็บความจาก ไกรฤกษ์ นานา. “พระราชินีไทยผู้ทรงโสภาในประวัติศาสตร์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2567