เปิดเหตุผล ทำไม Golden Boy ไม่ใช่ “พระศิวะ”?

โกลเด้นบอย Golden Boy ไม่ใช่พระศิวะ
ผู้สนใจทยอยเข้าชม Golden Boy ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อย่างคึกคัก

โบราณวัตถุที่มาแรงที่สุดในปีนี้ ต้องยกให้ Golden Boy และ ประติมากรรมสตรีพนมมือ ที่ไทยได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The MET) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ขณะนี้กรมศิลปากรนำไปจัดแสดง ที่ห้องลพบุรี ชั้น 2 อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ย้อนไปช่วงที่ The MET จัดแสดง Golden Boy หรือแม้แต่ในพิธีรับมอบเมื่อ 21 พฤษภาคม 2567 ผู้แทนจาก The MET ได้ให้คำอธิบายว่าเป็น “พระศิวะ” แต่นักวิชาการไทยบางส่วนเห็นว่า Golden Boy ไม่ใช่พระศิวะ เหตุผลคืออะไร?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ยืนยันฟันธงไว้ใน SILPA PODCAST GOLDEN BOY EP.2 “มหิธรปุระ” มาจากไหน? ไขตัวตนราชวงศ์ผู้สร้าง “Golden Boy” ว่า ไม่มีทางที่ Golden Boy จะเป็นรูปหล่อแทนตัวของพระอิศวร หรือ “พระศิวะ” แน่นอน

Advertisement

เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?

ศิริพจน์ ให้เหตุผลว่า ค่อนข้างพูดได้ยากว่า Golden Boy เป็นพระอิศวรหรือว่าพระศิวะ เพราะไม่มีสัญลักษณ์อะไรเลยที่ปรากฏอยู่บนตัวประติมากรรมชิ้นนี้ ที่แสดงให้เห็นว่ารูปบุคคลนี้คือพระอิศวร

ยกตัวอย่าง เช่น ไม่มีพระเนตรที่ 3 อยู่ที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ไม่มีตัวของสังวาล ที่เป็นรูปพญานาควาสุกรี หรือแม้กระทั่งอาวุธประจำพระวรกาย คือ “ตรีศูล” ก็ไม่มี

“ส่วนมือของประติมากรรมชิ้นนี้ จะมีการแสดง ‘มุทรา’ คือท่ามือ ซึ่งเป็นท่าที่ค่อนข้างแปลก มุทราของ Golden Boy เป็นท่ามือที่ค่อนข้างจะเป็นท้องถิ่น เพราะโดยปกติแล้ว เวลาทำประติมากรรมเทวรูปต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามลักษณะว่า เทพองค์นี้มีสัญลักษณ์อะไร อย่างไรบ้าง นักโบราณคดีจะมีศัพท์ยากๆ คำหนึ่งคือ ประติมานวิทยา

ลักษณะทางประติมานวิทยาที่แสดงให้เห็นว่า เทพหรือบุคคลคนนี้เป็นใคร ในประติมากรรมชิ้นนี้ไม่มี พอไม่มีเสร็จปุ๊บ จึงไม่ควรที่จะเป็นพระอิศวรหรือพระศิวะ”

นี่คือเหตุผลของศิริพจน์ที่ว่า Golden Boy ไม่ใช่พระศิวะ และเมื่อไปดูป้ายอธิบายที่จัดทำโดยกรมศิลปากรในห้องจัดแสดง ก็ระบุเพียงว่า “เป็นประติมากรรมรูปบุคคล (รูปพระมหากษัตริย์ในสถานะเทพ)” โดยไม่ได้บอกว่าเป็น “พระศิวะ” แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤษภาคม 2567