ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อ พ.ศ. 2523 มีการขุดพบซากเรือโบราณ อายุกว่า 200 ปี ที่บ้านเสม็ดงาม จังหวัดจันทบุรี ที่เรียกว่า “ซากเรือเสม็ดงาม” มีการตั้งคำถามและความหวังว่ามันจะเป็นหลักฐาน ที่แสดงถึงการเตรียมกองทัพเพื่อกู้ชาติของพระเจ้าตากสิน
เพราะประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลา 417 ปี ของกรุงศรีอยุธยา ไม่เคยมีการรบโดยใช้กองทัพเรือที่ต้องเดินทางผ่านทางทะเลอย่างเป็นกิจลักษณะมาก่อน
พงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ว่าพระองค์ให้มีการต่อเรือรบถึงร้อยกว่าลำ ณ เมืองจันทบูร เป็นประเด็นเล็กๆ ที่น่าสนใจ และเป็นปัญหาว่า “เรือรบ” ที่โปรดให้ต่อขึ้นเป็นเรือชนิดใด? ขนาดไหน? จึงสามารถต่อได้เป็นจำนวนถึงร้อยกว่าลำในระยะเวลาเพียง 3-4 เดือนเท่านั้น
ส่วน “ซากเรือเสม็ดงาม” ที่ขุดพบในปี 2523 พบในท้องที่บ้านเกาะเสม็ดงามบนฝั่งตะวันออกของคลองอ่าวขุนไชย (แม่น้ำจันทบุรี) ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งชาวบ้านเชื่อถือกันต่อๆ มาว่า บริเวณแอ่งน้ำดังกล่าวนั้นเป็น “อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสิน”
การค้นพบเกิดขึ้นโดยบังเอิญ เมื่อชาวบ้านกลุ่มหนึ่งทำพิธีทรงเจ้าและพากันขุดดินบริเวณแอ่งน้ำ พบซากเรือโบราณลำหนึ่งจมอยู่ในโคลน ต่อมา นายเฉลียว บรรเทาวงษ์ ผู้ใหญ่บ้าน ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดจันทบุรีได้แจ้งให้กรมศิลปากรทราบ กองโบราณคดีเดินทางไปสำรวจและสร้างเขื่อนดินกั้นล้อมบริเวณซากเรือ
พ.ศ. 2532 โครงการโบราณคดีใต้น้ำ และคณะกรรมการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรโบราณคดีใต้น้ำระดับสูง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร และศูนย์สปาฟา (SPAFA) ขุดค้นศึกษาซากเรือเสม็ดงาม อีกครั้งหนึ่ง
ตัวเรือจมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำจันทบุรี บริเวณเหนือแหลมหัวลำแพนขึ้นไปเล็กน้อย และอยู่ห่างจากปากแม่น้ำจันทบุรีที่แหลมสิงห์ประมาณ 6 กิโลเมตร สภาพตัวเรือก่อนการขุดค้นศึกษาครั้งใหม่เมื่อเดือนเมษายน 2532 ตัวเรือจมอยู่ในโคลนลึกประมาณ 2 เมตร
การขุดค้นซากเรือเสม็ดงามใน พ.ศ. 2532 ใช้วิธีสูบน้ำออกจากเขื่อนดินแห้ง แล้วใช้เครื่องดูดโคลนเลนที่ทับถมตัวเรือออกจนถึงตัวเรือ และใช้น้ำฉีดล้างตัวเรือจนสะอาด จึงสามารถศึกษาตัวเรือได้โดยสะดวก และระหว่างการศึกษาวัดขนาดทำแผนผังตัวเรือ โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือนนั้น ต้องติดตั้งเครื่องพ่นอัตโนมัติ และคอยฉีดน้ำให้ไม้ของตัวเรือชุ่มอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแห้งและการเสียรูปทรงของไม้โครงสร้างเรือ
นอกจากการศึกษาถ่ายภาพและทำแผนผังซากเรือเสม็ดงามอย่างละเอียด กิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการอีกอย่างหนึ่งคือ การขุดค้นหลุมทดสอบการทับถมทางโบราณคดีทางด้านท้ายเรือ ซึ่งได้พบหลักฐานและโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการซ่อมเรือดังต่อไปนี้
1. หลักฐานตัวเรือ ลักษณะเรือ เทคนิคการต่อเรือ ซึ่งใช้วิธีตรึงยึดด้วยตะปูเหล็ก และที่สำคัญที่สุดคือไม้โครงสร้างเรือส่วนใหญ่ เช่น ไม้เปลือกเรือ ไม้กั้นระวาง เป็นไม้สน ชี้ให้เห็นว่า แหล่งกำเนิดซากเรือเสม็ดงามน่าจะมาจากจีน และมีลักษณะใกล้เคียงสำเภาจีนแบบฟูเจี้ยน สันนิษฐานว่า เป็นเรือสำเภาขนาดเล็กมีใบสามเสา ใช้หางเสือแบบกลางท้าย (axial rudder type) ขนาดความยาวตลอดลำประมาณ 24 เมตร ปากเรือกว้าง 8 เมตร
2. หลักฐานจากการขุดค้นหลุมทดสอบ เรือสำเภาลำนี้จมอยู่ในอู่ซ่อม ถูกทิ้งอยู่บนคานเรือเพราะซ่อมไม่เสร็จ การขุดค้นในระดับลึกต่างๆ พบเศษไม้ที่ถูกถากด้วยมีด, ขวานท่อนไม้ขนาดต่างๆ มีรอยถากแต่งจำนวนมาก, เศษภาชนะดินเผาประเภทหม้อดินเนื้ออ่อน และภาชนะเนื้อแกร่ง เศษเครื่องถ้วยลายครามคุณภาพต่ำ ตะปูเหล็กวัสดุคล้ายชันยาเรือ, แผ่นกระดานเปลือกเรือเก่าถูกตัดเป็นท่อนสั้นๆ วางซ้อนกันเป็นตอม่อรองรับเสาค้ำผนังลำเรือ ฯลฯ
พิจารณาจากอายุสมัยของเครื่องถ้วยลายครามจีนคุณภาพต่ำ ที่พบในชั้นทับถมร่วมกับเศษไม้ที่เกิดจากกิจกรรมการซ่อมเรือแล้ว สันนิษฐานว่า ซากเรือเสม็ดงามถูกนำขึ้นคานซ่อมแซมเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24
นอกจากนี้เคยมีการนำตัวอย่างไม้โครงสร้างเรือไปวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีคาร์บอน 14 ได้ค่าอายุราว พ.ศ. 2343 ± 150 ซึ่งค่าอายุดังกล่าวมีค่าแปรผันค่อนข้างกว้าง และยังไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่า กิจกรรมการซ่อมเรือลำนี้อยู่ในปีใด ซึ่งจะต้องใช้ตัวอย่างเศษไม้ในชั้นทับถมเป็นตัวกำหนดอายุอีกครั้งหนึ่ง
ส่วน “ซากเรือเสม็ดงาม” กับความเป็นไปได้เรื่องอู่ต่อเรือพระเจ้าตากสินฯ ครั้งเตรียมการกู้ชาติเมื่อ พ.ศ. 2310 ว่า มีความเป็นไปได้เพียงไร ที่บริเวณแหล่งเรือเสม็ดงามจะเป็นอู่ต่อเรือแห่งหนึ่งในจำนวนหลายแห่งของพระองค์ ที่ต่อเรือรบและซ่อมเรือสำเภาใช้ในกองทัพนั้น ในที่นี้คงจะยังให้คำตอบว่าใช่แน่นอน หรือไม่ใช่ ยังไม่ได้ เพราะหลักฐานยังก้ำกึ่งกันอยู่ทั้งสองทาง
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจากสายันต์ ไพรชาญจิตร์. “ซากเรือเสม็ดงาม หลักฐานการกู้ชาติของพระเจ้าตากสิน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2533.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2567