ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
หลวงพ่อขี้หอม คือ “เจ้าพ่อราชครูหลวงโพนสะเม็ก” เป็นชื่อที่ปรากฏบนเหรียญที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่ตั้งของพระเจดีย์สำคัญแห่งถิ่นอีสาน “พระธาตุพนม”
แต่ชื่อเรียกทั่วไปที่ติดปากชาวบ้านจากตำนานและคำบอกเล่าต่าง ๆ คือ พระครูโพนสะเม็ก พระครูขี้หอม หรือญาครูขี้หอม
พระครูโพนสะเม็ก เป็นมหาเถระที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในอาณาจักรล้านช้างเมื่อราว 350 ปีก่อน ท่านเกิดในสมัยพระเจ้าแผ่นดินล้านช้างคือ พระหม่อมแก้ว (พ.ศ. 2170-2181) ช่วงรอยต่อระหว่างราชวงศ์สุโขทัยกับราชวงศ์ปราสาทองของกรุงศรีอยุธยา
ท่านอยู่ในยุคที่นครเวียงจันทน์และอาณาจักรล้านช้างประสบปัญหาภายในไม่หยุดหย่อน เพราะการแย่งชิงอำนาจของเหล่าเจ้านายชนชั้นสูง ห้วงเวลานั้นจึงมีการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงอพยพข้ามมาตั้งถิ่นฐานในฝั่งขวาหรือภาคอีสานจำนวนมาก โดยมีทั้งหลีกหนีความวุ่นวายจากความขัดแย้ง และหนีภัยการเมืองโดยตรง
พระครูโพนสะเม็ก หรือ “หลวงพ่อขี้หอม” ได้รับผลกระทบจากภัยการเมืองข้างต้นเช่นกัน ท่านจึงหาทางหลีกหนีความขัดแย้งในนครเวียงจันทน์
แต่ท่านไม่ได้ไปผู้เดียว เพราะมีชาวบ้านและเหล่าศิษยานุศิษย์นับพัน ๆ คนติดตามไปด้วย
การนำชาวล้านช้างติดตามไปด้วยของท่านพระครู กลายเป็นเรื่องเล่าขานกันในหมู่ชนชาวลาว เพราะท่านได้พาผู้คนอพยพจากนครเวียงจันทน์ไปไกลถึงแผ่นดินกัมพูชา ก่อนจะย้อนกลับมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในล้านช้างดังเดิม แต่เป็นบริเวณนครจำปาศักดิ์ ในพื้นที่ “ลาวใต้”
ระหว่างทาง ท่านยังสร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่ คือการบูรณปฏิสังขรณ์ “พระธาตุพนม” ที่ถูกปล่อยปละละเลยจากการดูแลจนทรุดโทรม ให้กลับมางดงามเรืองรองอีกครั้ง
การที่พระครูโพนสะเม็กสามารถนำผู้คนจำนวนมากมายได้นั้น สิ่งสำคัญมาจากความศรัทธาที่ญาติโยมมีต่อท่าน โดยเฉพาะคำเล่าลือว่าท่านมีอภิญญาหก สมาบัติแปด มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้ภาษานก เพ่งดูต้นไม้ก็บอกได้ว่ามีจำนวนใบเท่าใด ทำให้ไม่ว่าพระครูไปจำพรรษาอยู่ ณ ที่ใด ชาวล้านช้างก็มักติดตามไปด้วย
เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ. 2281-2333) ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ของพระครูโพนสะเม็กและสถาปนาท่านเป็น “พระราชครูหลวง” พระเจ้าแผ่นดินล้านช้างองค์ใหม่ไม่พอพระทัยความนิยมที่ผู้คนมีต่อพระครู จึงมีความคิดที่จะกำจัดท่านไปจากอาณาจักร พระครูทราบดังนั้นจึงพาผู้คนที่เลื่อมใสศรัทธาราว 3,000 คน หนีราชภัยลงใต้ ด้วยการเดินทางกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบ เพื่อไม่ให้พระเจ้าแผ่นดินล้านช้างทรงสงสัย
การค่อย ๆ โยกย้ายผู้คนนี่เอง เป็นที่มาของการปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงของ “หลวงพ่อขี้หอม” ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังขึ้นไปอีก จากการบูรณะปูชนียวัตถุสำคัญของชาวล้านช้าง จากความร่วมมือของญาติโยมที่เลื่อมใสศรัทธาในตัวท่าน
ดังลำกลอนเล่าว่า “ธาตุพนมตั้งอยู่ริมแม่น้ำคนไหว้อยู่บ่เซา หากเป็นธาตุพระเจ้าตั้งแต่ก่อนเดิมปฐม เป็นพระเจดีย์สูงหมู่คนถนอมไหว้”
การบูรณะพระธาตุพนม ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดระหว่างการเดินทางอพยพของท่านพระครูโพนสะเม็ก มีบันทึกว่า ระหว่าง พ.ศ. 2233-2335 “หลวงพ่อขี้หอม” ได้บูรณะองค์พระธาตุตั้งแต่ชั้นที่ 2 ขึ้นไปถึงยอด มีการหล่อเหล็กเปียก (เหล็กไหล) สวมยอด พร้อมประดับฉัตร ว่ากันว่า วัตถุมงคลดังกล่าวยังอยู่ในองค์พระธาตุจวบจนปัจจุบัน
การบูรณะพระธาตุพนมคราวนั้นสำเร็จด้วยดี และกลายเป็นสิ่งสะท้อนถึงบุญบารมีของพระครูท่านเป็นอย่างดี อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ในสมัยดังกล่าว พระธาตุพนมอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก เนื่องจากอาณาจักรล้านช้างอยู่ในยุคเสื่อม ประชาชนที่เคยตั้งถิ่นฐานกันอย่างหนาแน่นแถบนั้นจึงเบาบางลงไปมาก
มีการเปรียบเทียบว่า การบูรณะองค์พระธาตุพนมสำเร็จได้ก็ด้วยบารมีของท่าน เหมือนอย่างครูบาศรีวิชัยที่พาประชาชนสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ แม้ทางการจะไม่เห็นด้วย เพราะไม่เชื่อว่าจะสำเร็จได้ แต่ท่านก็พาผู้คนบรรลุเป้าหมายด้วยแรงศรัทธา
การบูรณะพระธาตุพนมโดยคณะของพระครูโพนสะเม็ก ถือเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่การสร้างพระธาตุพนมในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบอง เป็นที่ทราบกันดีว่า พระธาตุพนมคือปูชนียวัตถุที่สำคัญยิ่งสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามสองฝั่งโขงทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีชาวพุทธทั่วทุกสารทิศพากันไปนมัสการอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะวันเพ็ญเดือน 3 คนท้องถิ่นจะถือว่าเป็นบุญใหญ่ที่ต้องเข้าร่วม
ประชาชนในอาณาจักรล้านนายังนับเอาพระธาตุพนมเป็นหนึ่งในพระธาตุประจำปีเกิด 12 ราศี โดยเป็นพระธาตุสำหรับผู้เกิด “ปีวอก”
อ่านเพิ่มเติม :
- ประวัติพระธาตุพนม ฉบับภาษาลาว
- บ้านเมืองอีสาน-สองฝั่งโขง ใน “อุรังคธาตุ” ตำนานพระธาตุพนม
- “พระธาตุพนม” เจดีย์บัวเหลี่ยมลาวล้านช้าง ปรากฏร่องรอย “ศิลปะจาม”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ฤทธิ์ ศิริมาตย์, สมหมาย เปรมจิตต์. (2544). หลวงพ่อขี้หอม (เจ้าราชครูโพนสะเม็ก) พระสงฆ์ผู้นำชุมชนและการเมืองสองฝั่งโขง. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2567