ความหมายภาพ … บน “ฉากบังเพลิง”

กลุ่มดอกบัวสวรรค์ที่ฉากบังเพลิง อันมีสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นตัวแทนของพระราชวงศ์ และพระมหากรุณาธิคุณที่สื่อออกมาทางโครงการตามพระราชดำริ (หญ้าแฝก พันธุ์ข้าว ฝนหลวง และปลานิล)

พระเมรุมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ในส่วนของความงดงามด้านสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมตามคติไตรภูมิที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยสถาปนิกและภูมิสถาปนิกของสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ที่ร่วมกันออกแบบพระเมรุมาศในคราวนี้ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะได้รับความรู้ตามคติความเชื่อเหล่านั้นจากสื่อแขนงต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว

นอกจากงานด้านสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมดังที่กล่าวข้างต้น งานด้านจิตรกรรมก็เป็นอีกแขนงหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ที่ร้อยรวมอยู่ในงานพระราชพิธีคราวนี้ด้วย งานจิตรกรรมครั้งนี้จิตรกรได้ออกแบบขึ้นจากแนวความคิด ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นไปตามคติความเชื่อ และส่วนที่แสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยงานด้านจิตรกรรมนั้นจะปรากฏให้เห็นในพื้นที่ ๒ แห่ง กล่าวคือ จิตรกรรมฝาผนังบนพระที่นั่งทรงธรรมแห่งหนึ่ง และฉากบังเพลิงบนพระจิตกาธานอีกแห่งหนึ่ง

แต่พบว่าในงานจิตรกรรมทั้ง ๒ แห่งดังที่กล่าวมาแล้ว จิตรกรรมที่ปรากฏอยู่ใน “ฉากบังเพลิง” บนพระจิตกาธาน นอกจากความงดงามตามที่จิตรกรได้รังสรรค์ขึ้นจากแนวความคิดที่ใช้ในการออกแบบแล้ว บรรดาจิตรกรเหล่านี้ยังได้ร่วมกันสรรค์สร้าง “สัญลักษณ์” สอดแทรกไว้ในฉากบังเพลิงอีกหลายส่วน ซึ่งเชื่อว่าจะมีจำนวนน้อยคนนักที่ได้รับรู้ถึงความงดงามแห่งสัญลักษณ์ที่แสดงไว้ในงานจิตรกรรมครั้งนี้ เพราะการทำงานที่ต้องแข่งกับระยะเวลาจึงทำให้ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ค่อยๆ ถูกนำเสนอออกมาเป็นระยะ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอนำมารวบรวมและเล่าไว้ในคราวเดียว เพื่อให้เกิดความงดงามแห่ง “ฉากบังเพลิง”

ฉากบังเพลิง ตามความหมายแล้วก็คือ เครื่องกั้นทางขึ้นลงพระเมรุมาศในชั้นจิตกาธาน มีลักษณะเป็นฉากเพื่อใช้บังลมป้องกันมิให้ไฟลุกลามขณะถวายพระเพลิงพระบรมศพ ตัวฉากจะติดไว้กับเสาทั้ง ๔ ด้าน สามารถพับเก็บและคลี่ออกไปได้ ฉากบังเพลิงมีภาพอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภาพด้านหน้าได้รับการออกแบบโดย คุณมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรผู้เชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ส่วนภาพด้านหลังได้รับการออกแบบโดย คุณเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

โดยทั่วไปจิตรกรรมของฉากบังเพลิง หากเป็นงานพระบรมศพหรือพระศพเจ้านาย ส่วนมากมักเขียนเป็นรูปเทวดา แต่ฉากบังเพลิงในพระราชพิธีคราวนี้แตกต่างจากงานพระบรมศพทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยคติความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์ คือ พระนารายณ์อวตารมาดับทุกข์เข็ญในโลกมนุษย์ ดังนั้นภาพที่ปรากฏในฉากบังเพลิงด้านบนจึงเป็นภาพพระนารายณ์อวตารในปางต่างๆ พร้อมสัตว์พาหนะ และเทวดาชุมนุม ประดับไว้ทั้ง ๔ ทิศ จำนวนรวมทั้งสิ้น ๘ ปาง (นารายณ์อวตาร ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๐ ปาง ในคราวนี้จะขาดแต่พระนารายณ์อวตารในปางที่ ๕ และปางที่ ๙) ส่วนฉากบังเพลิงด้านล่างจะสอดแทรกโครงการตามพระราชดำริไว้จำนวนรวม ๒๔ โครงการ (ด้านละ ๖ โครงการ) ตามหมวดดิน-น้ำ-ลม-ไฟ ดังนี้

ฉากบังเพลิงด้านทิศเหนือ ภาพด้านบนจะเป็นพระนารายณ์อวตารในปางที่ ๑ มัตสยาวตาร (อวตารเป็นปลากรายทอง) และพระนารายณ์อวตารในปางที่ ๒ กูรมาวตาร (อวตารเป็นเต่า) ภาพด้านล่างสื่อถึงพระอัจฉริยภาพในหมวดน้ำ อันได้แก่ ฝนหลวงแก้ปัญหาความแห้งแล้ง พื้นที่วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, ฝายต้นน้ำเพื่อชะลอน้ำ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่, อ่างเก็บน้ำเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องกลเติมอากาศบำบัดน้ำเสีย

ฉากบังเพลิงด้านทิศใต้ ภาพด้านบนจะเป็นพระนารายณ์อวตารในปางที่ ๖ ปรศุรามาวตาร (อวตารเป็นพราหมณ์ผู้ใช้ขวานเป็นอาวุธ) และพระนารายณ์อวตารในปางที่ ๗ รามาวตาร (อวตารเป็นพระราม) ภาพด้านล่างสื่อถึงพระอัจฉริยภาพในหมวดไฟ อันได้แก่ สบู่ดำ เพื่อสกัดน้ำมัน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โรงงานผลิตไบโอดีเซล โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, เชื้อเพลิงอัดแท่ง-แกลบอัดแท่ง และก๊าซชีวภาพ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา, พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณดาวเทียม โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าที่ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์

ฉากบังเพลิงด้านทิศตะวันออก ภาพด้านบนจะเป็นพระนารายณ์อวตารในปางที่ ๓ วราหาวตาร (อวตารเป็นหมูป่า) และพระนารายณ์อวตารในปางที่ ๔ นรสิงหาวตาร (อวตารเป็นสิงห์ครึ่งคน) ภาพด้านล่างสื่อถึงพระอัจฉริยภาพในหมวดดิน อันได้แก่ ดินกรวด โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, ดินเค็ม โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, ดินทราย โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, ดินดาน ดินลูกรัง โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, ดินพรุ และดินเปรี้ยว โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ฉากบังเพลิงด้านทิศตะวันตก ภาพด้านบนจะเป็นพระนารายณ์อวตารในปางที่ ๘ กฤษณาวตาร (อวตารเป็นพระกฤษณะ) และพระนารายณ์อวตารในปางที่ ๑๐ กัลกยาวตาร (อวตารเป็นมนุษย์ผู้ขี่ม้าขาว) ภาพด้านล่างสื่อถึงพระอัจฉริยภาพในหมวดลม อันได้แก่ กังหันลม เพื่อการผันน้ำจากที่ต่ำชักน้ำขึ้นที่สูง โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ, กังหันลม โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยม่อนล้าน จังหวัดเชียงใหม่, กังหันลม โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมและกังหันลมสูบน้ำ, ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นที่มาของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และบางกระเจ้า ปอดของกรุงเทพฯ โครงการตามพระราชดำริพื้นที่บางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ

นอกจากรายละเอียดดังที่ปรากฏแล้ว  ในฉากบังเพลิงปางที่ ๘ กฤษณาวตาร ซึ่งจัดวางอยู่ทางด้านทิศตะวันตก อันเป็นทิศด้านที่ตั้งของพระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเจิมกะบังหน้าพระพักตร์พระนารายณ์ที่อวตารเป็นพระกฤษณะ ในส่วนที่เป็นมณีนพเก้า เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับจิตรกรผู้ปฏิบัติงาน

และนอกจากนัยยะของพระนารายณ์ที่ปรากฏในฉากบังเพลิงทั้ง ๘ ปางนั้นแล้ว เชื่อว่าด้วยความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศแล้วก็น่าจะคิดไม่ต่างกันว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนี่เองคือพระนารายณ์อวตารในปางที่ ๙ หรือพุทธาวตาร อันเป็นปางที่พระนารายณ์อวตารเป็นพระพุทธเจ้า หรืออีกนัยหนึ่งก็คือพระโพธิสัตว์ (เกร็ดความรู้จากสารานุกรมไทย) ด้วยว่าพระราชกรณียกิจที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงกระทำมาตลอด ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์นั้น นับได้ว่าไม่ผิดอะไรกับพระโพธิสัตว์มาปราบยุคเข็ญหรือขจัดความยากจนให้กับราษฎรของพระองค์ และนอกจากนั้นก็ยังได้เผื่อแผ่ไปยังราษฎรอีกหลายประเทศในโลก


คัดบางส่วนจาก : ความงดงามแห่ง “ฉากบังเพลิง” กับ “สัญลักษณ์” ที่สอดแทรกไว้ในงานพระเมรุมาศฯ. โดยรศ. ยุวดี ศิริ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน ๒๕๖๐