เผยแพร่ |
---|
ภาพที่เห็นเป็นภาพประกอบข่าวของหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 1891 (พ.ศ. 2434) แสดงเหตุการณ์ที่ชายชาวญี่ปุ่นเงื้อดาบหมายปลิดชีวิตเจ้าชายนิโคลัส อเล็กซานโดรวิช (Nicholas Alexandrovich, Tsesarevich of Russia) รัชทายาทแห่งจักรวรรดิรัสเซีย (ซึ่งภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2) ขณะเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น โดยเจ้าชายจอร์จแห่งกรีซ (Prince George of Greece) พระญาติของเจ้าชายนิโคลัสทรงเข้าขัดขวางได้ทัน แต่เจ้าชายนิโคลัสก็ยังทรงได้รับบาดเจ็บเป็นบาดแผลยาว 9 เซนติเมตร
จากบทความ “การรอดชีวิต” และ “เบื้องหลัง” การลอบปลงพระชนม์ราชวงศ์รัสเซีย คำให้การของผู้รู้เห็นเหตุการณ์ โดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2552 ระบุว่า แท้จริงเหตุการณ์ครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นบนเรือตามภาพของสื่อตะวันตก แต่เกิดบนถนนหลังการเสด็จทางชลมารคในทะเลสาบบีวา (Biva Lake) แต่ข่าวที่ส่งไปยังยุโรปไม่แน่ชัดว่าเกิดขึ้น ณ จุดใดแน่
เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น “กรณีเมืองโอทฉุ” (Ōtsu incident) ไกรฤกษ์ กล่าวว่า ก่อนเกิดการลอบสังหารครั้งนี้ รัสเซียมีโครงการสร้างทางรถไฟขนาดมหึมา (ทรานไซบีเรียเชื่อมมอสโควกับภูมิภาคตะวันออกไกลและทะเลญี่ปุ่น) ทำให้กระทบต่ออิทธิพลของญี่ปุ่นในจีนและเกาหลี
ไกรฤกษ์ระบุว่า ชาวญี่ปุ่นเป็นพวกชาตินิยม และมักจะต่อต้านชาวตะวันตก ในปี 1868 (พ.ศ. 2411) ก็เคยเกิดเหตุการณ์ซามูไรรับจ้างบุกทำร้ายเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงโตเกียวมาแล้ว
ขณะเดียวกัน ไกรฤกษ์ ได้ยกคำให้การของเจ้าชายอุคทอมสกี้ (Prince Esper Ukhtomsky) หนึ่งในผู้ร่วมขบวนเสด็จและอยู่ในเหตุการณ์ลอบสังหาร ซึ่งกล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นเพียงความโกรธแค้นต่อชาวต่างชาติของคนญี่ปุ่น แต่น่าจะเป็นที่การเกลียดชังชาวรัสเซียโดยตรง
เจ้าชายอุคทอมสกี้ยังสันนิษฐานต่อไปว่า ผู้ก่อเหตุทำหน้าที่เป็นตำรวจมา 8 ปี และเคยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองบ่อยครั้ง จึงน่าจะมีความเบื่อหน่ายชาวต่างชาติเป็นทุนเดิม เมื่อได้เห็นรัชทายามของรัสเซียได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกอาจเกิดความอิจฉาริษยา จนเก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่
ทั้งนี้ ซูดะ ซานโช (Tsouda Santso) ผู้ก่อเหตุ ภายหลังถูกศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต แต่กลับเสียชีวิตลงหลังมีคำพิพากษาได้เพียง 4 เดือน ด้วยการป่วยตายตามธรรมชาติ ซึ่งไกรฤกษ์กล่าวว่า มิได้มีการยืนยันทางการแพทย์ หรือแจ้งสาเหตุการตายต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2559