“เจ้าจอมเอิบ” ผู้ที่รัชกาลที่ 5 “ฝันถึงร่ำไป” มากกว่าใครๆ เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป

เจ้าจอมเอิบ
เจ้าจอมเอิบกำลังเตรียมการถ่ายภาพเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ผู้เป็นบิดา (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เจ้าจอมเอิบ (พ.ศ. 2422-2487) หนึ่งในเจ้าจอมก๊กออแห่งสกุลบุนนาค เป็นธิดาเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ กับท่านผู้หญิงอู่ เจ้าจอมเอิบได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าจอมคนโปรด” ตลอดรัชกาล

พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงมีมาพระราชทานเจ้าจอมเอิบ ขณะเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 แสดงความในพระทัยที่ทรงมีต่อเจ้าจอมท่านนี้อย่างชัดเจน ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

“…ทําไมจึงเห็นหน้าเจ้ามากกว่าใครๆ หมด เห็นจะเป็นด้วยอยู่ด้วยกันมานาน ฝันถึงก็ฝันถึงเจ้าร่ำไป…”

เจ้าจอมเอิบมี “หน้าที่” แต่งฉลองพระองค์ถวาย จึงเป็นการรับราชการสนองพระเดชพระคุณใกล้ชิด ซึ่งคุณสมบัติเฉพาะตัวของเจ้าจอมเอิบคือ ความละมุนละม่อม ช่างเอาอกเอาใจ ตลอดจนความเฉลียวฉลาดมีปฏิภาณไหวพริบ ทำให้เจ้าจอมเอิบสามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ได้อย่างเป็นที่พอพระราชหฤทัย

เล่ากันว่าเวลาถวายการแต่งฉลองพระองค์ เป็นเวลาที่ “ทรงพระสำราญ” เป็นพิเศษ ด้วยทรงต่อปากต่อคำฟังความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา, ฉลาดเฉลียว, เป็นตัวของตัวเองของเจ้าจอมเอิบ ความพอพระราชหฤทัยในการทำหน้าที่ถวายการแต่งฉลองพระองค์ของเจ้าจอมเอิบ ปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ผู้ทรงทำหน้าที่ดูแลกำกับกิจการฝ่ายใน ตอนหนึ่งว่า

“…ฉันอนุญาตให้ นางเอี่ยม นางเอิบ นางเอื้อน นางรวย ไปในการขึ้นบ้านชายยุคล แต่นางเอิบจะต้องอยู่แต่งตัว ตัวฉันไปแล้วจึงจะไปได้…”

พระราชสำนักฝ่ายในมักเกรงใจเจ้าจอมเอิบ พูดกันว่า เจ้าจอมเอิบ เป็น “เจ้าจอมคนเดียว” ที่ “กล้า” จะขัดพระราชประสงค์ หากเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ถูกไม่ควร และกล้ากราบทูลความคิดเห็นต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา

เช่น บางครั้งเมื่อเจ้าจอมเอิบเห็นการแต่งพระองค์บกพร่อง ก็จะกราบทูลยิ้มๆ ว่า “ขืนแต่งพระองค์ออกไปอย่างนั้นจะได้อายเขาตาย” ก็ไม่ทรงโกรธ กลับรับสั่งด้วยพระอารมณ์ดีว่า “ก็มาช่วยแต่งให้เรียบร้อยซี”

ด้วยความโปรดปรานนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายในแทบจะทุกชั้น ได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน, ตติยจุลจอมเกล้า, ทุติยจุลจอมเกล้า และทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ หรือเครื่องยศอันมีค่า ได้แก่ หีบหมากทองลงยา ตราเกี้ยวประดับเพชร แก่เจ้าจอมเอิบ

โอกาสพิเศษต่างๆ ก็ไม่ทรงละเลย เช่น ในพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ก็โปรดให้เจ้าจอมเอิบเป็นผู้เชิญกุญแจตามเสด็จทิ้งไปถึงห้องพระบรรทม และในการเสด็จประพาสที่ต่างๆ ทั้งในและนอกพระราชอาณาจักร เจ้าจอมเอิบก็เป็นเจ้าจอมคนหนึ่งที่มีโอกาสตามเสด็จบ่อยครั้ง

เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เจ้าจอมเอิบ เป็นคนหนึ่งซึ่งทรงระลึกถึง และทรงพยายามหาของฝากที่เหมาะสม และที่เจ้าจอมเอิบมีประสงค์จะได้ เช่น ตุ้มหูไข่นกการเวกจากเมืองนีซ และยังทรงพยายามเสาะหาลูกห้อยรูปกระต่ายอันเป็นรูปปีเกิดที่เจ้าจอมเอิบอยากได้ แต่ทรงหาไม่ได้ จึงทรงซื้อลูกห้อยรูปสุนัขมาแทน ดังปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2450 ความว่า

“…เอิบ ได้ซื้อลูกห้อยรูปหมาทําด้วยแก้วผลึกส่งมาให้ จะหากระต่ายไม่มี… กระต่ายไม่เข้าแบบ แต่เห็นว่าหมาก็เหมาะดี เพราะเจ้ารักมาก…”

จึงไม่เป็นการแปลกที่ข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาจะบ่งบอกถึงความในพระทัยที่ทรงมีต่อเจ้าจอมเอิบว่า “…ทำไมจึงเห็นหน้าเจ้ามากกว่าใครๆ หมด เห็นจะเป็นด้วยอยู่ด้วยกันมานาน ฝันถึงก็ฝันถึงเจ้าร่ำไป ไม่ช้าอีกเท่าไรจะได้ไปพบ…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเล่าประวัติศาสตร์, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์*ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2567