ย้อนบรรยากาศ ปฏิวัติ 2475 “เจ้านายฝ่ายเหนือ” ในเชียงใหม่ มีท่าทีอย่างไร?

คณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปฏิวัติ 2475
นายทหาร กลุ่มก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หรือ “ปฏิวัติ 2475” โดย คณะราษฎร เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน ในพระนคร แต่ในพื้นที่ห่างออกไป เช่น เชียงใหม่ บรรดา “เจ้านายฝ่ายเหนือ” มีท่าทีต่อเหตุบ้านการเมืองนี้อย่างไร?

ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “ใต้เงาปฏิวัติ : การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

ฝ่ายผู้นำใหม่ได้มอบหมายให้ พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เดินทางไปเชียงใหม่ในวันที่ 13 กรกฎาคม เพื่อชี้แจงเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เจ้านายและประชาชนทราบ เพราะเจ้านายฝ่ายเหนือและราษฎรทางเชียงใหม่ไม่ทราบความประสงค์และความเป็นไปของ “คณะราษฎร” เป็นเหตุให้ตกใจกันมาก

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะราษฎรมีเจตนาจะเผยแพร่รัฐธรรมนูญในเขตพระนครตั้งแต่สัปดาห์แรกของ “ปฏิวัติ 2475” โดยส่งตัวแทนไปยังสถานศึกษาระดับสูงต่างๆ ในวันที่ 27 มิถุนายน หรือ 3 วันหลังการปฏิวัติ เพื่อแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

หลังจากนั้นก็จะขยายไปสู่ระดับต่างจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยผู้ก่อการบางคนเดินสายไปอธิบายตามเขตชนบท ขณะที่กระทรวงมหาดไทยได้สั่งให้ข้าราชการช่วยประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ พระยาสุริยานุวัตรจึงเดินทางไปเชียงใหม่ และต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม ได้มีโทรเลขชี้แจงกลับมาว่า

“วันนี้เวลา 20 นาฬิกา เปนครั้งแรกที่ได้ประกาศธรรมนูญการปกครองของคณะราษฎรในเชียงใหม่ เจ้าราชบุตรเปนประทานประชุม เจ้านาย พ่อค้า ราษฎร กับนักเรียน มีข้าราชการพลเรือนหลายนายได้สมัครเข้าช่วยชี้แจง มีคนหญิงชายประมาณ 500 คน ไปพร้อมด้วย”

ปฐมาวดี ระบุในหนังสืออีกว่า วันถัดมา พระยาสุริยานุวัตรมีจดหมายอีกฉบับบรรยายถึงสถานการณ์ในเชียงใหม่ว่า เจ้าราชบุตร ได้เป็นประธานประชุมเจ้านาย ประกาศ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475” แก่ประชาชนชาวเชียงใหม่เป็นครั้งแรก

แต่เหตุที่ล่าช้า เนื่องจาก พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ สมุหเทศาภิบาล ไม่เห็นด้วย จึงไม่มีใครกล้าทำ ทำให้สถานการณ์ในเชียงใหม่ก่อนหน้านี้มีลักษณะ คือ

“…เจ้านายและพ่อค้าราษฎรทั้งข้าราชการ ต่างมีความหวาดเสียวระส่ำระสาย เกรงว่าในกรุงเทพฯ อาจจะเกิดอันตรายทำให้การปกครองใหม่กลับกลายเปนอย่างเก่าไปได้ จะพูดอะไรก็ระวังปากคำ เพราะไม่ไว้ใจกัน ความยุยงกระจายข่าวที่ไม่มีมูลก็มีอยู่เนืองๆ…

“ในเมืองเชียงใหม่ มีข้าราชการหลายนาย เช่นพวกผู้พิพากษาเปนต้น คิดจะจัดการประกาศพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองอยู่เสมอ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะขัดด้วยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง ไม่พลอยเห็นดีด้วย แต่ถึงโดยว่าท่านเหล่านี้จะทำการได้สำเร็จ โดยจะคบคิดกันกับพวกธรรมการบางคนที่ปลงใจด้วย กล้าประกาศแก่นักเรียนตามโรงเรียนจะหามีน้ำหนักไม่

“ข้าพเจ้าได้ตั้งความเพียรเกลี้ยกล่อมเจ้านายเชียงใหม่ให้รับธุระทางนี้ ในชั้นต้นก็จะมีแต่ความปฏิเสธ ไม่กล้าทำเพราะเจ้าแก้วนวรัฐผู้ครองนครไม่อยู่ แต่เกรงอำนาจเทศายิ่งกว่าอื่น เพราะเชื่อว่าพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์อาจอยู่ปกครองต่อไปได้

“ถึงที่สุดข้าพเจ้ารวบรัดให้เจ้าราชบุตรไปขอความเห็นชอบของพระราชชายาเธอ… ราษฎรในเมืองนี้เคยเชื่อถือเจ้านายของเขายิ่งกว่าข้าราชการ เมื่อเจ้านายเหล่านี้ปลงใจด้วยแล้ว ก็เปนอันสิ้นความกินแหนงแคลงใจ”

การไปประกาศชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจของพระยาสุริยานุวัตร ได้ขอยืมโรงละครของเจ้าแก้วนวรัฐเป็นสถานที่ประชุม มีการจัดที่นั่งให้ “เจ้านายฝ่ายเหนือ” ทางเชียงใหม่ทั้งชายหญิง นั่งเป็นประธานบนเวที เพื่อให้ราษฎรเห็นว่า เจ้านายนั้นเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนข้าราชการทหาร พลเรือน พ่อค้าที่เป็นบุคคลสำคัญในเมือง ได้จัดที่นั่งให้ในส่วนเก้าอี้โรงละคร โดยมีผู้เข้าฟังประมาณ 500 คน ทั้งจีน พม่า เงี้ยว กะเหรี่ยง

ในคำแถลงการณ์ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475” มีเนื้อหาส่วนแรกอธิบายความเป็นมาและความจำเป็นของการปกครองที่จะต้องมีพระมหากษัตริย์นับตั้งแต่ยุคโบราณ และได้ให้เหตุผลว่า ทำไมจึงมีการปฏิวัติขึ้นในสยาม มีเนื้อหาบางส่วน เช่น

“การกระทำของคณะราษฎรนี้ ดูเผินๆ เปนการอุกอาจน่าหวาดเสียวก็จริง แต่ความจริงได้ทำลงไปโดยลมุนลม่อมสุขุมไม่เสียเลือดเนื้อชาวไทยเลย ทั้งนี้ประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งเปนประมุขของชาติมาแต่ก่อนทรงรับรองเห็นชอบด้วยการปกครองแบบใหม่นี้ และยังคงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งชาติต่อไป”

ด้านเนื้อหาส่วนสุดท้าย ได้ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อถ้อยคำที่ยุยงให้เกิดความหวาดกลัวต่อระบอบการปกครองใหม่ ไม่กระทำการที่ผิดศีลธรรม โดยรัฐบาลจะปกครองบ้านเมืองให้เป็นไปตามความยุติธรรม พร้อมระงับความทุกข์ของประชาชนให้ทั่วถึง

ท่าทีของเจ้านายฝ่ายเหนือต่อ “ปฏิวัติ 2475” นั้น ปฐมาวดีกล่าวในหนังสือโดยอิงจากหลักฐานว่า ช่วงดังกล่าวไม่ปรากฏว่าคนกลุ่มนี้จะก่อความไม่สงบขึ้น แต่มีข้อห่วงใหญ่อยู่คือ เรื่องผลประโยชน์ที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบ

เรื่องนี้ สมุหเทศาภิบาลได้ชี้แจงกับเจ้านายเชียงใหม่และลำพูนไปว่า รัฐบาลพึงสงวนสิทธิเรื่องผลประโยชน์ซึ่งควรมีควรได้นี้ไว้แก่เจ้านาย เคยได้รับการทำนุบำรุงจากรัฐบาลมาอย่างไรก็จะให้เป็นอย่างนั้นเสมอไป และจะพยายามทำให้ประโยชน์นี้รุ่งเรืองขึ้นไปอีก ซึ่งเจ้านายฝ่ายเหนือก็มีท่าทีพึงพอใจ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์. ใต้เงาปฏิวัติ : การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2567