หม่อมไกรสร “เบื้องหลัง” ผู้ทำให้เกิดวัดชิโนรสารามฯ และวัดบรมนิวาสฯ

รูปปั้น หม่อมไกรสร กรมหลวงรักษรณเรศ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
รูปปั้น หม่อมไกรสร หรือกรมหลวงรักษรณเรศร ตามจินตนาการของช่างปั้นในปัจจุบันในศาลกรมหลวงรักษรณเรศร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2534 ณ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หรือวัดเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

หม่อมไกรสร (พ.ศ. 2334-2391) พระนามเดิม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษรณเรศ เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในรัชกาลที่ 2-3

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 หม่อมไกรสรเป็นหนึ่งในบรรดาเจ้านายไม่กี่พระองค์ ที่ได้รับสถาปนาให้ทรงกรม ได้กำกับกรมสังฆการี และในช่วงตลอดรัชกาลนั้นก็เป็นผู้หนึ่งที่ยืนอยู่ข้างฝ่าย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาจะได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และในรัชกาลนี้เอง หม่อมไกรสรก็ได้กำกับราชการกรมวัง กระทั่งได้เลื่อนยศขึ้นไปเป็นที่กรมหลวงใน พ.ศ. 2375

ปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 3 มีข่าวลือเรื่อง “เจ้านาย” ที่จะมาครองราชย์องค์ต่อไป 

หนึ่งใน “เจ้านาย” ที่เล่าลือกันก็คือหม่อมไกรสร ผู้ซึ่งตั้งตนเป็นศัตรูกับ “วชิรญาณภิกขุ” (พระนามฉายารัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวช) อย่างถึงที่สุด ซึ่งข่าวลือดังกล่าวก็กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาว่า หม่อมไกรสรคิดตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน ดังความตอนหนึ่งใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี ว่า

“กรมหลวง [กรมหลวงรักษรณเรศร] ให้การว่า ไม่ได้คิดกบฏ [ตรงนี้สำนวนบ่งให้เห็นว่า คงจะมีคำถามอีกคำ 1 ว่า ถ้าไม่คิดกบฏก็เกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกไว้ทำไม จึ่งตอบว่า] คิดอยู่ว่าถ้าสิ้นแผ่นดินไปก็ไม่ยอมเป็นข้าใคร” 

หากก่อนความจะปรากฏนั้น “วชิรญาณภิกขุ” และ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโรส ขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็น “กรมหมื่นนุชิตชิโนรส” ทั้งสองพระองค์มีพระดำริปรึกษากันที่จะสร้างวัดเล็กๆ ให้ห่างไกลเจ้านายที่จะขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 3 เพื่อไว้เป็นที่ประทับ เมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่

สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโรส จึงทรงสร้าง “วัดชิโนรสารามฯ” ในสวนที่ริมคลองมอญฝั่งเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2380 ขณะ “วชิรญาณภิกขุ” ก็ทรงสร้าง “วัดบรมนิวาสฯ” หรือ “วัดนอก” (เนื่องจากอยู่นอกกำแพงพระนคร) เมื่อ พ.ศ. 2377

แต่วัดทั้งสองแห่งที่เตรียมไว้หลบภัยกลับไม่ได้ใช้ เพราะรัชกาลที่ 3 โปรดให้ถอด กรมหลวงรักษรณเรศ ออกจากที่กรมหลวง ให้เรียกเพียง “หม่อมไกรสร” แล้วให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา ใน พ.ศ. 2391

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรารงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่องวัดทั้งสองแห่งไว้ว่า เหตุผลในเรื่องนี้เป็นความลับในหมู่พระราชวงศ์ เมื่อสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะยังทรงผนวช ทรงปรึกษากันว่า

หาก รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต และราชสมบัติได้แก่ “เจ้านายบางพระองค์” ทั้งสองพระองค์อาจถูกเบียดเบียนให้ได้รับความเดือดร้อน จึงทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันว่าควรจะสร้างวัดเล็กๆ ไว้ในเรือกสวนสักแห่ง ถ้าเวลาคับแค้นเมื่อใดจะเสด็จออกไปอยู่ที่วัดนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. วัดชิโนรสารามวรวิหาร, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2545.

ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ 4 วัดสำคัญ กรุงรัตนโกสินทร์. จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี, พ.ศ. 2525.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2567