ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังการปฏิวัติ 2475 สำเร็จ ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ ถูกผู้เป็นพ่อของตนเองไล่ออกบ้าน เขาเล่าว่า “เราถูกไล่ออกจากบ้าน พ่อหาว่าเป็นกบฏ มีอยู่ 2 คนที่ถูกไล่ออกจากบ้าน มีผมกับไอ้เป้ (ดร.ประจวบ บุนนาค)” (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ (พ.ศ. 2443-2525) เป็นบุตรของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์) อดีตเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงคมนาคม ผู้เป็นพระอัยกาใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับท่านผู้หญิงตาด วงษานุประพัทธ์ (ตาด สิงหเสนี)
ชีวิตของ ม.ล. อุดม เติบโตภายใต้การฟูมฟักของสังคมเจ้านาย เมื่อยังเด็กพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ทรงขอ ม.ล. อุดมมาอุปการะ โดยเริ่มเข้าศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง, โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และโรงเรียนราชวิทยาลัย ตามลำดับ แล้วไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี
ช่วงเวลาที่ ม.ล. อุดมศึกษาในประเทศเยอรมนีนั้น สยามประกาศสงครามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 ม.ล. อุดมจึงถูกจับเป็นเชลยศึก และถูกขังร่วมกับกลุ่มนักเรียนไทย เช่น ดร. ประจวบ บุนนาค, ดร. ตั้ว ลพานุกรม (ในเวลาต่อมา ทั้งสองคือสมาชิกคณะราษฎรเช่นกัน) ทำให้ ม.ล. อุดมได้เห็นความทุกข์ยากและความตายของประชาชนจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาล
เมื่อรัฐบาลเยอรมนีปล่อยตัว ม.ล. อุดม ที่เป็นคนหนุ่มสาวในวัย 18 ปี จึงสมัครเป็นทหารอาสาสังกัดฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป ภายหลังสงครามสงบแล้ว เขาศึกษาต่อด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่สวิตเซอร์แลนด์จนสำเร็จ และกลับสยามใน พ.ศ. 2473
ด้วยเหตุที่ ม.ล. อุดมอยู่ในแวดวงราชสำนัก ในระหว่างที่ศึกษาในยุโรป แม้เขาจะมีโอกาสพบปะแกนนำคณะราษฎรหลายคน และมีการก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นที่ปารีสแล้วก็ตาม แต่ไม่มีใครชวน ม.ล. อุดมเข้าร่วมปฏิวัติ เพราะต่างก็คิดว่าเขาเป็นเชื้อพระวงศ์นั่นเอง
จนกระทั่ง ม.ล. อุดมกลับประเทศไทย และเข้ารับราชการที่กรมรถไฟไปในระยะหนึ่ง จึงมีสมาชิกคณะราษฎรบางคนเข้ามาชักชวนให้ร่วมการปฏิวัติ ม.ล. อุดมเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “พอกลับมาเมืองไทย คุณประยูร ภมรมนตรี คุณทวี บุณยเกตุ เป็นคนมา approach ก่อน”
หลังจากนั้นสมาชิกคนอื่นๆ เช่น หลวงประดิษฐ์ฯ, หลวงสินธุสงครามชัย, หลวงสุนทร เทพหัสดิน ฯลฯ ก็เข้ามาชักชวนให้ร่วมการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองให้สยามเป็นประชาธิปไตย ซึ่ง ม.ล. อุดมก็ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎร และเฝ้ารอวันเวลาที่เหมาะสมในการปฏิวัติ
สำหรับงานใหญ่ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แบ่งการปฏิบัติงานเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน กลุ่มของ ม.ล. อุดมนั้นมีสมาชิก 4 คน ได้แก่ นายแช่ม มุสตาฟา (พรหมยงค์), นายบรรจง ศรีจรูญ, หลวงเดชาติวงศ์วราวัตร (ม.ล. กรี เดชาติวงศ์) และ ม.ล. อุดม ภารกิจที่ต้องรับผิดชอบคือ “ตัดคมนาคม สายโทรเลขอำเภอตลิ่งชันที่จะติดต่อไปยังหัวหิน” ซึ่งจะต้องลงมือในค่ำคืนวันที่ 23 มิถุนายน
แม้การปฎิวัติ 2475 จะผ่านไปด้วยดี แต่ ม.ล. อุดม กลับได้รับผลกระทบ ด้วยพื้นฐานะครอบครัวที่มาจากราชตระกูลที่เป็นชนชั้นปกครอง ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์ ผู้เป็นพ่อจึงออกปากขับไล่ ดังที่ ม.ล. อุดมเล่าว่า
“เราถูกไล่ออกจากบ้าน พ่อหาว่าเป็นกบฏ มีอยู่ 2 คนที่ถูกไล่ออกจากบ้าน มีผมกับไอ้เป้ (ดร.ประจวบ บุนนาค) เราเลยไปอยู่ตึกแถวชั้นเดียวหลัง Trocadero แล้วก็ย้ายไปอยู่บ้านรถไฟ ที่ไม่มีใครเขาอยู่ เพราะผีดุ แต่เราไม่กลัวผี ผีไม่มา”
เมื่อ พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นยุคที่คณะราษฎรสิ้นอำนาจไปนานแล้ว มีผู้ไปสัมภาษณ์ ม.ล. อุดม “ถาม: ถ้าให้ตัดสินใจใหม่ ท่านจะเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ตอบ: เข้าซิมันมีเหตุผล เราทำโดยมีเหตุผล ถาม: คิดไหมว่าถ้าพลาดจะทำอย่างไร ตอบ: พลาดก็ตาย”
อ่านเพิ่มเติม :
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ณัฐพล ใจจริง. ราษฎรปฏิวัติ, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2565.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2567