2 ราชนิกุล สมาชิกคณะราษฎร ในกระบวนการประชาธิปไตย 2475

(จากซ้าย) 1. แช่ม มุสตาฟา 2. ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ 3. ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ 4. บรรจง ศรีจรูญ (ขอบคุณภาพจาก คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์)

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรที่มีสมาชิกจากหลากหลายนั้น มีราชนิกุล 2 คนร่วมอยู่ด้วย หนึ่งคือ ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ หนึ่งคือ ม.ล. กรี เดชาติวงศ์

ประวัติความเป็นมา และการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นอย่างไรนั้น ขออ้างอิงข้อมูลจาก “ราษฎรปฏิวัติ” (มติชน, 2565) ผลงานของ ณัฐพล ใจจริง

เริ่มจาก ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ (พ.ศ. 2443-2525) ผู้ที่ถูกพ่อ “ไล่ออกจาบ้าน” เมื่อพวกเขาเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ แต่ ม.ล. อุดมยังคงยืนยันหนักแน่นว่า ไมเคยเสียใจในการกระทำวันนั้น

ณัฐพล ใจจริงบันทึกว่า “ม.ล. อุดม เป็นบุตรของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์) อดีตเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงคมนาคม ผู้เกรียงไกรและมั่งคั่งในระบอบเก่า เป็นพระอัยกาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง กับท่านผู้หญิงตาด วงษานุประพัทธ์ (ตาด สิงหเสนี) ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ทรงขอ ม.ล. อุดมมาอุปการะ โดยเริ่มเข้าศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวังก่อน ต่อมาย้ายไปเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร และโรงเรียนราชวิทยาลัย แล้วไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี”

ที่ประเทศเยอรมนี ม.ล. อุดม กับนักเรียนไทยอีกหลายคนถูกจับ และถูกกุมในฐานะเชลยศึก เนื่องจากไทยประกาศสงครามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งบางคนภายหลังได้ร่วมเป็นสมากชิก “คณะราษฎร” ร่วมกัน เช่น ดร. ประจวบ บุนนาค, ดร. ตั้ว ลพานุกรม ฯลฯ

หากเพราะความเป็น “ราชนิกุล” ในระหว่างการศึกษาในยุโรป และได้พบเจอแกนนำคณะราษฎรหลายคน และมีการก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นที่ปารีสแล้ว แต่ไม่มีใครชวน ม.ล. อุดมเข้าร่วมปฏิวัติ

จนเมื่อกลับมาทำงานที่กรมรถไฟในระยะหนึ่งแล้ว ประยูร ภมรมนตรี และทวี บุณยเกตุ สมาชิกคณะราษฎรก็เข้ามาพูดคุยด้วย ต่อมา “หลวงประดิษฐ์ฯ หลวงสินธุสงครามชัย หลวงสุนทร  เทพหัสดิน, ม.ล. กรี เดชาติวงศ์” [1] เข้ามาชักชวน ม.ล. อุดมเข้าร่วมกับคณะราษฎร เพื่อปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ส่วน ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ (พ.ศ. 2445-2490) หรือ หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ ที่สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 15 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ม.ล. กรี ได้ทุนของกรมรถไฟหลวงไปศึกษาวิชาวิศวกรรมโยธาที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษา (พ.ศ. 2469) ก็กลับมาเมืองไทย เข้ารับราชการที่กรมรถไฟหลวง

ปรีดี พนมยงค์บันทึกถึง ม.ล. กรี ในฐานะสมาชิกคณะราษฎร ว่า “เพื่อนที่ก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีส…ได้ชวน ม.ล. อุดม สนิทวงศ์ นักศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์, ม.ล. กรี เดชาติวงศ์, นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา และนายเล้ง ศรีสมวงศ์ นักศึกษาจากอังกฤษ ฯลฯ” [2] ส่วน “เพื่อนที่ก่อตั้งคณะราษฎร” ที่ปรีดีกล่าวถึงคือ แนบ พหลโยธิน

โดยภารกิจในวันที่ 24 มิถุนายน ม.ล. อุดม, ม.ล. กรี, นายแช่ม มุสตาฟา (พรหมยงค์) และนายบรรจง ศรีจรูญ รับหน้าที่ “ตัดสายสื่อสาร” ซึ่งในเวลานั้นคือ “สายโทรเลข” ที่อำเภอตลิ่งชันที่จะติดต่อไปยังหัวหิน และขัดขวางเส้นทางรถไฟระหว่างกรุงเทพหัวหิน [3]

ภายหลังการปฏิวัติวันที่ 24 มิถุนายน สำเร็จ

เมื่อครอบครัวของ ม.ล. อุดมทราบเรื่อง ม.ล. อุดมถูกผู้เป็นพ่อไล่ออกจากบ้าน ดังที่เจ้าตัวเล่าวว่า “เราถูกไล่ออกจากบ้าน พ่อหาว่าเป็นกบฏ มีอยู่ 2 คนที่ถูกไล่ออกจากบ้าน มีผมกับไอ้เป้ (ดร. ประจวบ บุนนาค) เราเลยไปอยู่ตึกแถวชั้นเดียวหลัง Trocadero แล้วก็ย้ายไปอยู่บ้านรถไฟ ที่ไม่มีใครเขาอยู่ เพราะผีดุ แต่เราไม่กลัวผี ผีไม่มา” [4]

ส่วน ม.ล. กรี ภายหลังการปฏิวัติสำเร็จ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่นายช่าง ณ โรงงานมักกะสัน ซึ่งเป็นภารกิจที่เขาเชี่ยวชาญ ไม่นานจากนั้น พระยามโนปกรณนิติธาดาขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ ต่อการปฏิวัติ 2475 และทำการปิดสภา (พ.ศ. 2476) แล้วด้วยเหตุที่เขาเป็นสมาชิกคณะราษฎรจึงถูกพระยามโนปกรณ์ฯ มองเป็นหอกข้างแคร่ จึงถูกย้ายออกจากกรุงเทพฯ ไปคุมก่อสร้างยังถิ่นทุรกันดารที่จังหวัดขอนแก่น

เมื่อเกิดกบฏบวรเดช ทั้งสองต่างก็มีส่วนช่วยรัฐบาลพิทักษ์ประชาธิปไตย

ในส่วนของ ม.ล. อุดม นั้นเล่าว่า

“ผมไปกับนายเล้ง ศรีสมวงศ์ หลวงสุนทรเทพหัสดิน ไปลงที่บ้านภาชี ได้รับประกาศเดินรถไฟ ก็รู้ว่าพวกพระองค์เจ้าบวรเดชกำลังมา และจะถึงกรุงเทพฯ ตอน 2 ยาม เขายึดหัวเมืองมาหมด ยึดโทรเลข เขาปล่อยรถคันสุดท้ายแล้วก็จะตามมา พอเรารู้ข่าวก็รีบกลับมา ระหว่างที่กลับมาก็สังสับหลีกขบวนรถ ทำให้เกิดการอลหม่านเพื่อจะได้มีเวลามาบอกในกรุงเทพฯ” [5]

ขณะนั้น ม.ล. กรียังคุมก่อสร้างที่ขอนแก่นอยู่ เขาจึงถูกฝ่ายกบฏบวรเดชเพ่งเล็ง ในประวัติบันทึกไว้ว่า

“ในฐานะที่หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ เป็นบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาลที่ประจำการอยู่ในภาคนั้น จึงต้องถูกจำขังอยู่ ณ กองบัญชาการที่นครราชสีมา เป็นเวลาหลายวัน และพยายามออกจากที่คุมขังได้ เขาทำการติดต่อกับฝ่ายรัฐบาลรายงานสภาพการณ์เป็นไปในภาคนั้นในระหว่างความไม่สงบนั้นให้รัฐบาลทราบโดยละเอียด และอำนวยมิให้ฝ่ายปฏิปักษ์ของรัฐบาลทำการยึดภาคอีสานไว้ได้ โดยระดมกำลังตำรวจในภาคนั้นเข้าทำการรักษาความสงบ” [6]

หลังจากหลบหนีออกจากที่คุมขังของฝ่ายกบฏ ม.ล. กรีเร่งเดินทางมาที่กรุงเทพฯ ร่วมเป็นร่วมตายกับคณะราษฎร แต่ไม่สามารถเดินทางได้ เนื่องจากทางรถไฟทั้งหมดถูกปิดกั้นจากฝ่ายกบฏ เขาจึงข้ามพรมแดนไปยังนครจัมปาศักดิ์ของฝรั่งเศส แต่ตำรวจฝรั่งเศสจับกุมคุมขังเขาที่นครจัมปาศักดิ์จวบจนเหตุการณ์สิ้นสุดลง

ส่วนประสบการณ์ครั้งสำคัญของชาติที่ทั้งสองมีส่วนร่วมนั้น

ม.ล. อุดมเคยให้สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2525 อันเป็นยุคสมัยที่คณะราษฎรได้สิ้นสุดอำนาจไปนานแล้ว และเป็นห้วงเวลาสุดท้ายก่อนที่เขาจะถึงแก่อสัญกรรมไม่นาน คำสัมภาษณ์ในครั้งนั้นถูกบันทึกไว้ว่า “ถาม: ถ้าให้ตัดสินใจใหม่ ท่านจะเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ตอบ: เข้าซิ มันมีเหตุผล เราทำโดยมีเหตุผล ถาม: คิดไหมถ้าพลาดจะทำอย่างไร ตอบ: พลาดก็ตาย” [4]

ขณะที่ ม.ล. กรีเคยเล่าให้ญาติสนิทฟังถึงความเป็นปฏิปักษ์ของกลุ่มอนุรักษนิยมภายหลังการปฏิวัติว่า “ไม่ว่าจะทำการสิ่งใด ทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง คิดถึงความปลอดภัยหลายชั้นเสมอ และมักกล่าวว่า ทำอะไรระวัง Reactionary ให้จงหนัก และ Reactionary ในทางการเมืองร้ายแรงนัก” [7]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] “สัมภาษณ์ ม.ล. อุดม สนิทวงศ์.” ใน กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย 2475-2525 (กรุงเทพฯ: โครงการกึ่งศตวรรษประชาธิปไตย, 2525), น. 38.

[2] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์นิติเวชช์, 2515), น. 5-6.

[3] “สัมภาษณ์ ม.ล. อุดม สนิทวงศ์,” ใน กึ่งศตวรรษประชาธิปไตย 2475-2525, น. 38.

[4] เรื่องเดียวกัน, น.39.

[5] เรื่องเดียวกัน, น.38.

[6] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ (พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2490), น. (6).

[7] หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์กับทางรถไฟสายมรณะ, น. ค.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2565