ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
รัชกาล “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียง 15 ปีแต่กลับเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง หนึ่งเพราะวีรกรรมสำคัญยิ่ง ที่ทรง “กอบกู้เอกราช” จากพม่า หนึ่งเพราะทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพื้นเพมาจากสามัญชน
“พื้นเพสามัญชน” ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธุนบุรี โดยเฉพาะ “พระราชกำเนิด” นั้น เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า พระองค์ทรงเป็น “ลูกครึ่งไทย-จีน” พระราชบิดาเป็นชาวจีนที่อพยพมาจากเมืองจีน ส่วนพระราชมารดาเป็นชาวไทย
แล้วถ้า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มิได้ทรงเป็น “ลูกครึ่ง” ล่ะ?!?
นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคม 2564 สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ เขียนบทความชื่อว่า “ทฤษฎีเผือกร้อนสะเทือนโลกประวัติศาสตร์ กรณีพระชาติกำเนิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ‘ชาวจีนโพ้นทะเล’ ผู้กอบกู้เอกราชชาติไทย”
สุทธิศักดิ์ค้นคว้าเอกสารหลักฐานชั้นต้นและชั้นรองๆ ลงมา ทั้งเป็นของไทยและต่างชาติมากกว่า 40 รายการ ก่อนเรียบเรียงเป็นบทความกว่า 30 หน้า มาดูกันว่าหลักฐานของสุทธิศักดิ์บอกอะไรบ้าง
“มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เล่ม 1 ว่าด้วยลำดับวงศ์ตระกูลขุนนางไทยทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม” ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ กล่าวถึงพระประวัติสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ (พระราชมารดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) ว่า
“…พระจ้าวตาก (สิน) เปนบุตร จีนไฮฮองเปนบิดา แลท่านนกเอี้ยงเปนมารดา ท่านนกเอี้ยงพระมารดาพระจ้าวตาก แลเป็นชาวบ้านแหลม เมืองเพชรบุรี จีนไฮฮองเปนพระบิดาพระจ้าวตาก จีนไฮฮองเปนขุนพัฒน์ผูกบ่อนเบี้ยในกรุงเก่า ขุนพัฒน์ไฮฮองมาเช่าโรงน่าบ้านเจ้าพะญาจักรกรีกรุงเก่า ทำโรงบ่อนเบี้ยเล่นการพนัน ครั้งนั้นท่านนกเอี้ยงภรรยาขุนพัฒน์ไฮฮอง คลอดพระจ้าวตากที่น่าบ้านเจ้าพะญาจักรกรีๆ จึ่งขอพระจ้าวตากมาเลี้ยงเปนบุตรบุญธรรม…” (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ เล่ม 1 ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ยังให้ข้อมูลที่น่าแปลกประหลาดว่า พระราชมารดา ทรงเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน “แซ่โหงว” เช่นเดียวกับพระพิชัยวารี (เจ๊สัวหลิน) ความว่า
“อนึ่งเจ๊สัวบุญเกิด (หรือ) คุณตาบุญเกิด เปนพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ๊สัวบุญชู แซ่โหงว เจ๊สัวบุญเกิดและเจ๊สัวบุญชูทั้งสองคนพี่น้องนี้ เปนบุตรภรรยาหลวงแห่งท่านเจ๊สัวหลิน แซ่โหงว เจ๊สัวหลินผู้นี้บ้านเดิมอยู่บ้านแหลม แขวงเมืองเพชรบุรี เจ๊สัวหลิน แซ่โหงว เปนแซ่เดียวกันกับกรมสมเด็จพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง) เปนชาวบ้านแหลม แขวงเมืองเพชรบุรี เหมือนกัน
กรมสมเด็จพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง) นี้ เปนสมเด็จพระบรมราชชนนีนารถ ในพระจ้าวตาก (สิน) พระจ้าวแผ่นดินสยาม กรุงธนบุรีศรีอยุทธยา เพราะเหตุฉะนี้พระจ้าวตากจึ่งมีความเมตตาแก่เจ๊สัวหลินมาก จึ่งทรงพระมหากรุณาโปรฎเกล้าฯ ให้เจ๊สัวหลิน แซ่โหงว เปนที่พระพิไชยวารี…” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
สอดคล้องกับจดหมายเหตุฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง และจดหมายเหตุโยฮันน์ แกร์ฮาร์ท เคอนิช ที่ระบุว่า พระองค์ทรงเป็นชาวจีน และกรมหลวงเทวินทรสุดา สมเด็จพระน้านางในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพิจารณาจากพระนามเดิมของพระองค์ คือ “เจ้าฮั่น” บ้างว่า “เจ้าฮั้น” บ้างว่า “เจ้าอั่น” บ้างว่า “เจ้าอั๋น” ซึ่งล้วนแต่มีสำเนียงจีนแฝงอยู่ ย่อมแสดงว่า สมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ และกรมหลวงเทวินทรสุดา อาจมีเชื้อสายจีนตามคำกล่าวอ้างของ ก.ศ.ร. กุหลาบ
แม้ประวัติเจิ้งเจาของซื่อสือเอ้อเหมยจีซื่อ (เขียนหลัง พ.ศ. 2455) จะระบุว่า สมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ทรงเป็นสตรีชาวไทย แต่กลับมีพระนามเดิมเยี่ยงสตรีชาวจีนว่า “ลั่วยั้ง” แปลว่า “นกยาง” สอดรับอย่างมีนัยยะแอบแฝงกับงานนิพนธ์หลายเล่มของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ประกอบกับพระราชพงศาวดารฉบับหลวงไม่เคยกล่าวถึงพระนามเดิมของพระองค์ไว้เลยแม้แต่แห่งเดียว ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า “นางนกเอี้ยง” หรือ “นางนกยาง” อาจเป็นพระนามแปลกปลอมที่เกิดขึ้นมาในภายหลัง
สมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ และพระญาติวงศ์ใกล้ชิด เดินทางอพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ยังสยามเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่าคงอยู่ในช่วงหลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกระทำการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงสยามแล้วสักระยะหนึ่ง ก่อนที่พระองค์จะได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระเทพามาตย์ใน พ.ศ. 2312
การที่สมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ และกรมหลวงเทวินทรสุดา ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในที่มี พระชาติกำเนิดเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ และอาจมีพระชนมายุสูงวัย ทำให้มีข้อจำกัดในการเรียนรู้ภาษาไทยให้แตกฉาน ด้วยเหตุนี้เจ้านายฝ่ายในทั้ง 2 พระองค์จึงไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองในราชสำนักสยาม จึงไม่แปลกที่พระราชพงศาวดารฉบับหลวงจะกล่าวถึงพระองค์ทั้งสองไว้น้อยมาก
จดหมายเหตุบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ในชุด Overgekomen Brieven ประจำ พ.ศ. 2312 Tjoseeko พ่อค้าชาวจีนที่พำนักอยู่ที่เมืองปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา ที่เดินทางเข้ามาค้าขายยังกรุงปัตตาเวียของฮอลันดา และเคยเข้ามาค้าขายที่เมืองบางกอก ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2310 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2311 ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งแต่ครั้งยังเป็นเจ้าชุมนุมธนบุรีว่า
“พระยาตาก แซ่แต้” (Pie â Kat, se Thee) ทรงเป็น “ชาวจีนเปอรานากัน” (Peranakan Chinese) อันเป็นคำในภาษามลายู ตามรูปศัพท์แปลว่า “ครรภ์, ถือกำเนิดที่นี่” ใช้สำหรับเรียก “สายเลือดลูกผสม” ที่ถือกำเนิดในดินแดนคาบสมุทรมลายู-อินโดนีเซีย แต่อีกนัยหนึ่งอาจหมายถึง “ชาวจีนโพ้นทะเล” ที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้ด้วยเช่นกัน จึงมีความหมายในทำนองเดียวกันกับคำว่า “เจ๊ก” นั่นเอง
จดหมายเหตุรัชกาลเกาจง บรรพ 817 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2311 บันทึกว่า
“วันเจี่ยซี เดือนแปด ปีที่สามสิบสามแห่งรัชศกเฉียนหลง มีหมายรับสั่งถึงจุนจีต้าเฉินว่า ‘เมื่อเราได้อ่านรายงานของหลี่ซื่อเหยาหลายฉบับเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศสยามได้ทราบว่า…กันเอินชื่อ [สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี] เดิมเป็นคนต่ำต้อยในประเทศจีน ระหกระเหินไปอยู่ดินแดนชายทะเลโพ้น ฐานะเป็นข้าทูลละอองของพระเจ้ากรุงสยาม บัดนี้ ประเทศนั้นระส่ำระสายถูกตีแตก เจ้าเหนือหัวหายสาบสูญ กลับบังอาจฉวยโอกาสที่ประเทศตกอยู่ในอันตรายแลปั่นป่วนยุ่งเหยิง คิดตั้งตนเป็นใหญ่” (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
จดหมายเหตุรัชกาลเกาจง บรรพ 1036 ลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2320 ยังได้กล่าวถึงพระราชประวัติก่อนการขึ้นเสวยราชสมบัติของ “เจิ้งเจา” (พระนามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตามธรรมเนียมจีน) ว่า
“วันอี่ไห้ เดือนเจ็ด ปีที่สี่สิบสองแห่งรัชศกเฉียนหลง มีรับสั่ง (ถึงจุนจีต้าเฉิน) อีกว่า ‘เนื่องจากเจิ้งเจา หัวหน้าของสยามได้ร้องขอให้พระราชทานตราตั้ง แลขอมาครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วนั้น…
กรณีนี้จึงแตกต่างกับการช่วงชิงราชบัลลังก์โดยมิชอบ แล้วยังได้ส่งราษฎรแลทหารมณฑลหยุนหนาน ซึ่งถูกเหมี่ยนเตี้ยนทรชนควบคุมตัวไว้ คืนมาเป็นลำดับหลายครั้ง โดยช่วยเหลือเรื่องทุนทรัพย์ ถือว่ามีความนบนอบอย่างจริงใจ สมควรชมเชยเพื่อเป็นกำลังใจ…
เจิ้งเจามีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่กวางตุ้ง ในฐานะราษฎรจีนที่ไปเป็นใหญ่ในต่างบ้านต่างเมือง หากได้รับพระราชทานแต่งตั้งมียศฐาน์บันดาศักดิ์ ก็จักยิ่งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หาใช่เพราะเหตุที่เขารบพุ่งกับเหมี่ยนเตี้ยนทรชน แลเราประสงค์จักอาศัยกำลังจากฝ่ายเขาซึ่งเป็นดินแดนขนาดเล็ก…ดังนั้น หากเจิ้งเจาได้รับหนังสือแจ้งครั้งที่แล้ว แลขอให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานตราตั้งอีก ให้ข้าหลวงใหญ่ท่านนั้นรายงานโดยด่วนด้วยวิธีม้าเร็ว เพื่อจักเดินเรื่องพระราชทานตราตั้ง ซึ่งเป็นกุศโลบายผูกใจให้ยอมรับนับถือเรา…” (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
จดหมายเหตุจีนโบราณที่ได้เชื่อเรื่องความเที่ยงตรงและแม่นยำของข้อมูล จึงช่วยยืนยันแนวความคิดที่ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็น “ชาวจีนโพ้นทะเล” หรือ “จีนนอก” หาใช่ “จีนเมืองไทย” อย่างที่เชื่อถือกันมาแต่เดิมไม่
หาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระชาติกำเนิดเป็น “ราษฎรจีน” เสด็จพระราชสมภพ ณ หมู่บ้านอูเอียตี้ ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ จังหวัดแต้จิ๋ว (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับจังหวัดซัวเถา) มณฑลกวางตุ้ง
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ “หวังเป็นลูกเขย” จักรพรรดิเฉียนหลง ?!?
- นายซ่อง โจรสลัดแห่งเมืองท่าตะวันออก โจทย์แรกที่ท้าทายพระเจ้าตาก!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2567