เบื้องหลัง “กบฏ” พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ คือ ข้าผู้หญิง และ “หลังบ้าน” ขุนนางผู้ร่วมก่อการ

ผู้หญิง พระไตรภูวนาทิตยวงศ์
ผู้หญิงหนึ่งในกำลังสำคัญ “กบฏ” พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ (ภาพประกอบของ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

เมื่อ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ ทรงก่อการ “กบฏ” เพื่อชิงแผ่นดินจาก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้เป็นพระเชษฐา ในครั้งนั้นฟันเฟืองสำคัญหนึ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงก็คือ “ผู้หญิง” เพราะขณะนั้นผู้หญิงไม่ค่อยมีบทบาททางการเมืองเท่าใด

ผู้หญิงที่มีบทบาทในการก่อกบฏของ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ หนึ่ง คือ “อำแดงแก่น” เป็นข้าของพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ หนึ่งคือ บรรดาหลังบ้านของขุนนางผู้ร่วมก่อการ

Advertisement

สำหรับ อำแดงแก่น นางคือผู้เติมเชื้อไฟแห่งความขัดแย้ง ระหว่างพระนารายณ์ กับ พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ ดังความใน “พระราชพงศาวดาร ฉะบับพระราชหัตถเลขา” ตอนหนึ่งว่า

“…เดือนยี่นั้น อำแดงแก่น ผู้เป็นข้าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์เอาเนื้อความอันเป็นกลโกหกมาอุบายทูลพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ว่า ข้าหลวงฝ่ายพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวย่อมว่า พระไตรภูวนาทิตยวงศ์และข้าไททั้งปวงนั้นเข้าด้วยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชช่วยรบพุ่ง 

ครั้นสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชปราชัยแด่พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าแล้ว พระไตรภูวนาทิตยวงศ์และข้าไททั้งปวงก็มาบรรจบเข้าด้วย…

อำแดงแก่นทูลยุยงพระไตรภูวนาทิตยวงศ์นั้นเป็นหลายครั้ง พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ก็มิได้พิจารณา ฟังแต่คนเท็จนั้น พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ก็คิดซ่องสุมคนไว้นอกกรุงเทพมหานครเป็นอันมาก…

ครั้นข้าหลวงออกไปได้เนื้อความนั้นเป็นหลายแห่ง ว่าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ให้ซ่องสุมคนเป็นมั่นแม่น…ก็แสร้งอุบายเข้าด้วยจึงให้สัญญาอาณัติวันคืนแก่กันว่าจะยกเข้ามา และข้าหลวงนั้นก็กลับคืนเข้ามากราบทูลพระกรุณาตามเนื้อความนั้น…” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ไม่เพียงแต่อำแดงแก่น พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ยังใช้ช่องว่างของกฎหมาย แทนที่จะเรียกประชุมเหล่าขุนนางก็เรียก “ภรรยาขุนนาง” ไปพบแทน ดังความในพระราชพงศาวดาร ฉะบับพระราชหัตถเลขา ความว่า

“อนึ่งมีคำอีแก่น และนายบุญเกิดให้การว่า พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ ใช้อีแก่นและนายบุญเกิดเอาน้ำสบถไปให้แก่พระยามหามณเฑียร พระยาสุโขทัยกินถึงจวน

อนึ่งมีคำอีแก่นให้การว่า ผู้ลงไป ณ วังหลังนั้นคือ ภรรยาพระยากลาโหม นางน้อยลูกพระยากลาโหม ภรรยาหลวงราชบุตร ภรรยาพระยากลาโหมผู้มรณภาพ ไปกับนางเมืองเขียด ท้าววาชอุทัยภรรยาพระยาพิชัยรณฤทธิ์ และลูกสะใภ้แม่นมสุด แม่พระศรีภูริปรีชา และหลานแม่ศรีอุทัย แม่พระศรีศักดิ์ภรรยาพระยาพัทลุง ภรรยาพระยาสุโขทัย ภรรยาพระคลัง แม่ภรรยาพระยาพระคลัง…” (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

รายชื่อข้างต้นนั้น คือ ภรรยาของขุนนางผู้ก่อการ ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลที่ใช้ในสมัยอยุธยานั้นได้กำหนดไว้เฉพาะ ขุนนาง ข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ ที่ไม่สามารถไปพบกันในที่ลับได้ ดังความในกฎหมายตราสามดวงตอนหนึ่งว่า

“อนึ่งลูกขุนนา 10000 ถึงนา 800 แลไปคบไปหาพระราชบุตรพระราชนัดดา โทษถึงตาย…” หรือ “หนึ่งหัวเมืองหนึ่งกัน เจ้าเมืองหนึ่งกัน ไปหาเมืองหนึ่ง โทษถึงตาย” 

หากมิได้กำหนดให้ ห้ามภรรยาของขุนนางไปพบไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ภรรยาของขุนนางเหล่านี้จึงทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังการติดต่อสื่อถึงขุนนางเหล่านั้น

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ผู้หญิงในสมัยอยุธยาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งในฐานะที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของเหตุการณ์ แม้ผู้หญิงสมัยนั้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีบทบาทดังเช่นกรณีข้างต้นก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 ตอน 1. โรงพิพม์อักษรนิติ 2495.

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. “บทบาทและสถานภาพของผู้หญิงกับการเมืองในประวัติศาสตร์สังคมไทย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภพันธ์ 2567