ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | กิติกร มีทรัพย์ |
เผยแพร่ |
สมเด็จพระนารายณ์เป็นพระราชโอรสองค์เล็กของพระเจ้าปราสาททองกับพระราชเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าทรงธรรม เมื่อแรกประสูติเชื่อกันว่าเป็นผู้มีบุญด้วยเกิดกฤษฎาภินิหารต่างๆ เช่น พระประยูรญาติเห็นว่ามี 4 กร เหมือนพระนารายณ์ในคติพราหมณ์ พระราชบิดาจึงพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชกุมาร และสมควรได้ราชสมบัติ มีอุบายชักแนะ (suggestion) ต่างๆ ให้เห็นว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงมีบุญญาธิการจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ในอนาคต
สถานการณ์ประวัติศาสตร์ตอนนี้ ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเชื่อมั่นในพระองค์สูงมาก (narcissistic trends) และทรงเห็นผู้อื่นต่ำต้อยกว่า มีสิทธิธรรมที่จะได้ราชสมบัติน้อยกว่า
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีพระราชโอรสหลายพระองค์ ทั้งที่เกิดจากพระมเหสีและพระสนม โดยเฉพาะพระราชโอรสองค์ใหญ่ คือเจ้าฟ้าไชย สมควรได้ราชสมบัติตามประเพณี แต่ก็มีผู้ต้องการให้พระราชโอรสองค์เล็กคือพระนารายณ์ราชกุมาร ได้ราชสมบัติด้วย
นอกจากนั้นยังมีพระเจ้าอา คือพระเจ้าศรีสุธรรมราชา ก็มีสิทธิธรรมที่จะได้ราชสมบัติด้วยเช่นกัน
การได้ราชสมบัติไม่มีกฎแน่นอนตายตัว คลุมเครือและไม่ได้ตราไว้ชัดเจนว่าผู้ใดควรได้ ผู้ใดเป็นองค์รัชทายาท จึงน่าจะแข่งขันแย่งชิงกันมากในหมู่พระราชโอรสเหล่านั้น ภาวะชิงดีชิงเด่นระหว่างพี่น้อง ทางจิตวิทยาเรียกว่า ซิบลิง ไรวาลรี่ (sibling rivalry) สมเด็จพระนารายณ์คล้ายจะเป็นพระราชโอรสพิเศษกว่าพระเชษฐาและพระอนุชาองค์อื่นๆ เช่น กล่าวว่ามีบุญญาธิการสูงมาก มีพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงสั่งสอน แต่พระราชโอรสองค์อื่นๆ ไม่มีสิทธิ์เช่นนั้น
เรื่องการได้ราชสมบัติ มักมีผู้กล่าวบิดเบือนว่าไม่มีกฎแน่นอน ที่จริงมีธรรมเนียมปฏิบัติโดยอาศัยโบราณราชประเพณี คือ พระราชโอรสองค์ใหญ่ หรือพระอนุชาของพระมหากษัตริย์
พระเจ้าปราสาททองทรงรับว่า ไม่กล้าประกาศแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใดเป็นรัชทายาท ด้วยเกรงว่าพระราชโอรสองค์อื่นจะเสียพระทัย นั่นเท่ากับการให้ภาวะชิงดีชิงเด่นระหว่างพี่น้องเข้มข้นมากขึ้นและมากยิ่งขึ้น เมื่อพระราชบิดาจัดให้มี “การเสี่ยง” เลือกช้างต้น ม้าต้น และพระแสงขรรค์ชัยศรี แต่ไม่มีผู้ใดเลือกได้ถูกต้องยกเว้นพระนารายณ์ราชกุมาร ซึ่งมีข้อกังขาเกี่ยวกับการนี้ ดังนั้นเมื่อพระเจ้าปราสาททองสวรรคต โดยพลันเจ้าฟ้าไชยก็นำพลพรรคยึดอำนาจวังหลวงขึ้นครองราชสมบัติโดยทันที
เจ้าฟ้าไชยทรงอยู่ในราชสมบัติได้ไม่กี่เดือน ก็ถูกพระเจ้าอา คือพระศรีสุธรรมราชาร่วมมือกับสมเด็จพระนารายณ์ ใช้กำลังถอดเจ้าฟ้าไชยออกจากราชสมบัติและประหารชีวิต โดยพระเจ้าอาทรงขึ้นครองราชย์แทน คล้ายรู้กันเป็นนัยๆ ว่าสมเด็จพระนารายณ์เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะพระเจ้าอานั้นไม่ได้มีผู้นิยมมากนัก ทั้งพระเจ้าปราสาททองทรงรังเกียจในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายอย่าง ทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าก็จริงแต่ไม่ให้เป็นอุปราช และไม่ให้ประทับในวังหลวง แต่ให้ไปสร้างบ้านอยู่ริมวัดสุทธาวาส
พระเจ้าอาทรงครองราชย์ได้เพียง 2 เดือนเศษ ก็แสดงพระนิสัยหยาบช้ากับพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์ คือพระราชกัลยาณี ทำให้ทรงกริ้วมากถอดถอนออกจากราชสมบัติ แต่ไม่อาจทำได้โดยง่าย เพราะพระเจ้าอามีฝ่ายสนับสนุนส่วนหนึ่ง จนสมเด็จพระนารายณ์ต้องออกแรงขับไล่โดยอาศัยกำลังจากชุมชนต่างประเทศ คือ ญี่ปุ่นและอิหร่าน
พระเจ้าอาหนีไปจนมุมที่วังหลังและถูกจับประหารชีวิต แท้จริงแล้วกิริยาหยาบคายของพระเจ้าอาไม่น่าจะต้องถูกลงโทษถึงประหารชีวิต ยิ่งกว่านั้นสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงรีบร้อนขึ้นครองราชย์ ปราบดาภิเษกโดยทันที ซึ่งน่าจะเป็นที่กังขาเคลือบแคลงความยุติธรรมในหมู่พระญาติ พระอนุชาและกลุ่มขุนนาง ถึงแม้ว่าจะมีนิรมิตพิเศษ เช่น มีพระเศวตอุทกสีขาวเป็นมงคลในวันปราบดาภิเษกและนิรมิตอื่นๆ อีกหลายอย่างแล้วก็ตาม
พระองค์ได้ทรงประหารชีวิตพระญาติและขุนนางฝ่ายตรงข้ามเป็นจำนวนร้อย นั่นเป็นเหตุให้พระองค์ต้องประทับอยู่ที่วังหน้านานถึง 10 ปี โดยไม่ประทับในวังหลวงเลยทั้งๆ ที่ทรงปราบดาภิเษกแล้ว เพราะไม่ทรงเชื่อมั่นในความปลอดภัย
ตอนแรกๆ ที่พระองค์ทรงได้ราชสมบัติ ก็มีกบฏเกิดขึ้นหลายครั้ง ที่รุนแรงมากก็คือ กบฏพระไตรภูวนาทิตย์วงศ์ร่วมมือกับพระอนุชาองค์อื่นๆ อีก 2 องค์ คือ พระองค์ทองและพระอินทราชา ทั้ง 3 องค์เป็นพระราชโอรสที่เกิดจากพระสนม แต่ก็เชื่อว่ามีสิทธิธรรมที่จะได้ราชสมบัติ การกบฏของพระอนุชาทั้งสามมีพระญาติและขุนนางสนับสนุน ซึ่งเป็นการท้าทายอำนาจของสมเด็จพระนารายณ์อย่างมาก ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นสภาพ “การชิงดีชิงเด่นระหว่างพี่น้อง” อย่างชัดเจน ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงหวาดหวั่นมากและหาทางใส่โทษโดยปราบปรามอย่างรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตพระอนุชา 2 องค์ในวังหลวงเลยทีเดียว
ยังมีกบฏอื่นๆ ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงหวาดหวั่นอย่างมาก ดังปรากฏในจดหมายเหตุฝรั่ง ที่กล่าวถึงพระสงฆ์หมู่หนึ่งจะลอบทำร้ายพระองค์ในระหว่างเป็นประธานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในพระอุโบสถ แต่กบฏเหล่านั้นถูกจับได้ทั้งหมดและถูกประหารอย่างโหดเหี้ยม
สมเด็จพระนารายณ์จึงประทับอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเมืองหลวง ด้วยความหวาดหวั่น เครียด และระแวง จำเป็นต้องหาที่มั่นใหม่ที่ทำให้สบายพระราชหฤทัยขึ้นและทรงเลือกเมืองลพบุรี อันเป็นเมืองที่ให้ทั้งปกป้องคุ้มครอง มั่นคง สง่างาม และได้ทรงแสดงเดชาบารมีโดยเหล่าทหารกองเกียรติยศสมพระเกียรติยศอยู่เสมอ เมื่อเสด็จฯ ทางสถลมารคและเสด็จฯ ไปทรงโพนช้าง!
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561